แต่เรื่องใหม่นี้ก็กลายเป็นดาบสองคม เมื่อมิจฉาชีพเอง ก็ใช้แนวทางที่ประเทศกำลังพัฒนาอยู่นี้ ฉวยจังหวะ ‘หลอกลวงประชาชน’ เพื่อให้หลงเชื่อในหลากกลวิธี ที่จะพาเงินออกจากกระเป๋า หลายกรณีที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า รัฐพยายามแก้ไข โดยเฉพาะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และทุกหน่วยปราบปราม เร่งทำงานอย่างหนัก และรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกสร้างเรื่องโยงใยถึง ทำให้ต้องตรวจสอบยิบ ว่าข่าวนั้นๆ ที่ประชาชนกำลังสนใจอยู่นั้น เป็น ‘ข่าวจริง’ หรือ ‘ข่าวปลอม’ กันแน่ ซึ่งถ้าหากเป็นข่าวปลอม ก็จะต้องดำเนินการประทับตรา ‘ข่าวปลอม’ ด้วยอักษรสีแดง เพื่อให้เห็นชัดและรับทราบโดยทั่วกัน แต่ที่ห่วงยิ่งกว่า คือเรื่องเศรษฐกิจในกระเป๋า ที่คนร้ายก็ย่อมจดจ้องเงินในกระเป๋า ในบัญชีเงินฝาก จึงคิดกลโกงเข้ามาหลอกลวง
ออมสิน เตือนประชาชน ไม่กด ‘ลิงก์ชวนกู้’
ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสิน คนร้ายส่งข้อความออนไลน์ แอบอ้างใช้ชื่อธนาคาร ออกสินเชื่อให้ประชาชนกู้ ชื่อว่า ‘สินเชื่อ GSB ออมสิน’ ‘My Mo ออมสิน’ ตลอดทั้งใช้โลโก้ธนาคาร ส่งข้อความในรูปแบบลิงก์ SMS Line หรือ Facebook เข้ามือถือของลูกค้าและประชาชนจำนวนมาก โดยใช้ข้อความเชิญชวนลักษณะกระตุ้นให้กดรับสิทธิหรือกดลิงก์เข้าไป แต่ลิงค์ดังกล่าว ธนาคารออมสินระบุว่า ไม่ใช่ลิงก์ของธนาคารแต่อย่างใด
นี่จึงเป็นเรื่องที่ฟากฝั่งธนาคาร มีความเป็นห่วง และออกมาเตือนภัยว่า ‘อย่าหลงเชื่อ’ ไม่กดลิงก์ และไม่เพิ่มเพื่อน หรือกรอกข้อความใดๆ เด็ดขาด เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และขอย้ำว่าธนาคารไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลจากลูกค้าในสื่อสังคมออนไลน์
เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ที่ถูกแจ้งข่าวปลอม ว่า ‘แบงก์ชาติมีโครงการให้ประชาชนลงทะเบียนผ่อนชำระหนี้กับแบงก์ชาติโดยตรง เพื่อรับความช่วยเหลือกรณีชำระหนี้ไม่ไหว’ ซึ่งกรณีนี้ แบงก์ชาติยืนยันว่า ไม่ได้มีโครงการนี้แต่อย่างใด
และที่สำคัญกว่านั้น คือ ขอให้ทุกท่านรับทราบว่า ‘แบงก์ชาติ ไม่ทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรงกับประชาชน’
สำหรับกรณีประชาชนมีปัญหาหนี้ และต้องการหาแนวทางแก้ แบงก์ชาติจะแนะให้ใช้ช่องทางปรึกษา ‘หมอหนี้เพื่อประชาชน’ ซึ่งทุกท่านสามารถแอดไลน์คุยกับหมอหนี้ได้ที่ @doctordebt หรือที่ https://lin.ee/OBOmemL
