‘เศรษฐกิจถดถอย’ ร้ายแค่ไหน และมันกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร?

3 ม.ค. 2566 - 09:19

  • ความซบเซาแค่เดือนเดียวไม่ถือเป็นเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าเกิดขึ้นหลายเดือนติดต่อกันถือว่าเข้าข่าย

  • การเลิกจ้างงานอย่างหนัก ถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะบอกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยร้ายแรงแค่ไหน

BUSINESS-what-is-recession-and-how-it-impact-us-SPACEBAR-Thumbnail
เริ่มต้นปีก็มีข่าวไม่ดีซะแล้ว เมื่อ Financial Times ทำโพลประจำปีด้วยการสอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษ ผลที่ออกมาน่าหนักใจ เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าในปี 2023 อังกฤษจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง สาเหตุเพราะผลกระทบที่ยังไม่หมดไปจากการระบาดใหญ่, สงครามในยูเครนที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง, การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง และนโยบายของรัฐบาลที่ล้มเหลว  
 
มันร้ายแรงขนาดที่ เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคแรงงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอังกฤษถึงกับตั้งกระทู้ถามในรัฐสภาว่า “ทำไมอังกฤษถึงเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเป็นประเทศสุดท้ายที่หลุดพ้นจากมัน?” 
 
แต่ไม่ใช่กับอังกฤษเท่านั้น มันอาจลามไปยังยุโรปด้วย และจากคำเตือนของ คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มันอาจไม่ใช่แค่ในยุโรป เพราะ 1 ใน 3 ของโลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปถึงครึ่งหนึ่งจะตกอยู่ในสภาพนี้ ส่วนสาเหตุก็คล้ายๆ กัน คือ สงครามในยูเครนกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน จอร์จีวา ถึงกับเตือนว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ยากลำบากกว่าปีก่อนหน้าเสียอีก    
 
มาถึงตอนนี้เราควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘เศรษฐกิจถดถอย’ หรือ Recession คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน และจะรอดพ้นมันได้อย่างไร?  
 
1. คำว่า ‘เศรษฐกิจถดถอย’ โดยรวมหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกอย่างหยุดชะงักหรือชะลอตัว เช่น การยอดขายในตลาดลดลง การผลิตลดลง การจ้างงานลดลง ตัวเลข GDP ลดลง (เช่น ติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน) เป็นต้น ความซบเซาเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นเดือนเดียวไม่ถือเป็นเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าเกิดขึ้นหลายเดือนติดต่อกันถือว่าเข้าข่ายแล้ว ในสหรัฐและสหภาพยุโรปจึงให้นิยามไว้ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยก็ต่อเมื่อตัวเลขชี้วัดต่างๆ ลดลง 2-3 เดือนติดต่อกัน ส่วนในอังกฤษนิยามไว้ว่าต้องลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน 
 
2. ดังนั้นเศรษฐกิจถดถอยจึงเป็นภาวะที่เศรษฐกิจทำท่าจะซบเซาแบบลากยาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ผลที่ตามมาก็คือ ภาคธุรกิจจะลดการใช้จ่ายหรือลดการจ้างงาน เพราะดูท่าแล้วลงทุนต่อไปคงไม่เวิร์กแน่ๆ ส่วนตลาดทุน เช่น ตลาดหุ้นก็จะร่วงตามไปด้วย โดยรวมก็คือ มันจะทำให้ผู้คนจะลังเลที่จะลงทุนและใช้จ่าย ถ้าไม่ใช่เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ (ว่าจะซบเซาแบบลากยาวหรือไม่) ก็เพราะเงินเฟ้อรุนแรง หรือไม่ก็เกิดการเลิกจ้างงานอย่างหนัก อย่างหลังถือเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญเลยทีเดียว  
 
3. เรารู้แล้วว่าเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นจากความซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่ความซบเซาเหล่านั้นเกิดขึ้นจากอะไร? นักเศรษฐศาสตร์แต่ละสาขาให้เหตุผลต่างๆ กันไป บ้างก็บอกว่าเพราะต้นทุนสูงขึ้น (เช่น พลังงานสูงขึ้น ทำให้ของแพงขึ้น) บางคนบอกว่าเพราะความวิตกของผู้คนเวลาเศรษฐกิจสะดุดขึ้นมาเวลากำลังบูมอยู่ดีๆ พลอยทำให้บรรยากาศในตลาดปั่นป่วนไปกันหมด บางคนก็บอกว่าเพราะกระแสเงินในตลาดไม่พอหรือไม่ก็หนี้สินส่วนบุคคลหรือหนี้ครัวเรือนเยบอะเกินไป 
 
4. เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันจะลากยาวไปแค่ไหน? ตามสถิติของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐ (NBER) เศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐมีระยะเวลาเฉลี่ย 10 - 17เดือน หมายความในเวลานี้ สินค้าจะขายไม่ค่อยออก คนจะตกงานมาก และในเมื่อการตกงานและว่างงานเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของภาวะเศรษฐกิจถดถอย วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ รัฐอาจจะแจกสวัสดิการคนว่างงาน เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขามีกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจอีกครั้ง  
 
5. ส่วนวิธีแก้ไขที่ใหญ่ขึ้นมาอีกคือ ธนาคารกลางอาจจะต้องลดดอกเบี้ยเพื่อให้ธุรกิจมีเงินลงทุนได้ หรือถ้ายังไม่ไหวรัฐบาลอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดภาษีหรือให้เงินอุดหนุนธุรกิจที่สำคัญๆ หรืออาจแทรกแซงราคาสินค้าให้ถูกลง หรือรัฐอาจจะลงทุนเองในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและทำให้ธุรกิจมีงานรับเหมา แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาลนั้นเสี่ยงที่จะก่อหนี้ที่ชำระไม่ไหวเสียเองจนกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งไปด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์