เกือบ 90 ปีที่ประเทศไทยมีเบียร์เจ้าใหญ่อยู่แค่ 2 เจ้า คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เอกชนผู้ผลิตเบียร์รายแรกของประเทศไทย เจ้าของเบียร์สิงห์ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง
แค่บริษัทเจ้าของสิงห์ กับ ช้างรวมกันก็กินส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ไทยไปแล้วเกือบ 95% จากมูลค่าตลาดเบียร์ปี 2562 สูงถึง 260,000 ล้านบาท
- บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ครองตลาดคนเดียวเกือบ 60%
- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครองอยู่ราว 35%
- ที่เหลือเป็นของ บริษัท ไทย เอเชียแปซิฟิคบริวเวอรี่ จำกัด เจ้าของ เบียร์ Heineken ไม่ถึง 5%
- และเจ้าคราฟต์เบียร์เล็กๆ รวมกัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปประมาณ 3%

ทำไมไม่มีคู่แข่งรายย่อยเกิดขึ้น?
ถ้าจะถามว่าเพราะคนไทยดื่มเบียร์น้อยหรือ? ทุกคนต้องส่ายหัวรัวๆ เพราะทั้งคนที่บ้าน คนข้างบ้าน และรายงานของ Euromonitor บอกว่าปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เอาหละ..เรามาดูอุปสรรคขวางกั้นกัน1. กฎหมาย!! (ฉบับเก่า ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

- ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
- ถ้าจดเป็นโรงเบียร์ใหญ่ต้องผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร ต่อปี
- ถ้าจดเป็นโรงเบียร์เล็ก ต้องผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร ต่อปี
เอ๊ะ? ตัวเลขนี้มันทำไมต้องเท่านี้ แล้วมันมาจากไหน? ฝากไว้ให้สงสัยกันต่อ เพราะไม่มีคำตอบให้เหมือนกันค่ะ
2. สัมปทาน
ย้อนกลับไปสมัยพระยาภิรมย์ภักดี ต้นตำนานเบียร์สิงห์ ได้มีการต่อรองซื้อสัมปทานกับทางราชการ จัดตั้งบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ด้วยทุน 6 แสนบาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2476 [1] ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา เบียร์สิงห์ผูกขาดตลาดนานกว่า 60 ปีปี 2542 รัฐบาลยกเลิกสัมปทานโรงงานสุรา ตั้งใจว่าจะเปิดเสรีการค้าสุรามากขึ้น แต่เอาเข้าจริงกลายเป็นมหากาพย์การหลอมรวมอยู่ในมือเดียวครั้งใหญ่อีกครั้ง
เมื่อ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลซื้อโรงงานสุราจากรัฐบาลได้ทั้งหมด 12 โรง และเริ่มดำเนินการในปี 2543 หลังจากนั้นยังได้ซื้อ โรงงานสุราอีกหลายโรง ทั้งโรงที่ผลิตสุราตราเสือขาวและโรงที่ผลิตสุราตราหมีขาว แล้วไทยเบฟฯ ก็ได้ครอบครองตลาดเมืองไทยรองจาก บุญรอดบริวเวอรี่ มาจนถึงทุกวันนี้
3. ในอดีตข้อ 1. + 2. = รายเล็กผลิตสุรา = เหล้าเถื่อน!!
เมื่อปรากฎการณ์ข้อ 1 และ 2 รวมกันทำให้กระบวนการผลิตสุราท้องถิ่น รวมถึงการผลิตเบียร์ขึ้นเอง เท่ากับ ‘เหล้าเถื่อน’ ถ้าไม่มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีกำลังผลิตไม่ถึงปีละ 100,000 ลิตร คือ...คุณผลิตเหล้าเถื่อนค่ะ เหตุผลนี้ รัฐบาลจึงต้องออกทำลายและปราบปรามอย่างเข้มงวดดังนั้นใครอยากขายเบียร์ก็ให้นำเข้ามา และเกิดรายย่อยนำเข้าเบียร์นอกมามากมาย กำแพงต่อไปคือ
4. ห้ามโฆษณา!
ใดๆ หนอเมืองพุทธ สุราเมระยะฯ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 32 กำหนดว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ แสดงชื่อ หรือ เครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจผู้อื่นโดยตรงหรือโดยอ้อม’ข้อนี้ใครยิงโฆษณาจากในประเทศไทยผิดทั้งหมด แต่....ถ้าไปยิงจากต่างประเทศ OK! ดังนั้น ต้องมีทุนนำเข้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีทุนไปยิงแอดจากเมืองนอกด้วย
5. ภาษีนำเข้าสูงเมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าอื่น
เมื่อปี 2560 กรมสรรพสามิต เพิ่มภาษีนำเข้าสุรา 150% ไปอยู่ที่เพดานที่ 60% ขึ้นอยู่กับปริมาณดีกรีที่นำเข้ามา เบียร์เริ่มต้น 78 บาทสูงสุด 178 บาทต่อขวด [2]ข่าวดีคราฟต์เบียร์ กฎกระทรวงปลดล็อกผลิตเหล้าเบียร์ แต่ไม่ใช่เพื่อการค้านะ
ณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสารมิตบอกว่า “วันนี้ คราฟต์เบียร์ทำได้แล้ว ทำได้เลย โดยไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนและไม่ต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิต อย่างไรก็ตาม ต้องมีเรื่องการตรวจสอบคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะเราอยากให้มีการผลิตที่มีคุณภาพและยั่งยืน” นายณัฐกร กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ประชาชนมีกระบวนการผลิต โดยต้องขออนุญาตกับกรมสรรพสามิต ถ้าไม่ขออนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย
แต่ถ้าจะผลิตเพื่อการค้า บรรจุขวด ต้องทำEIAซึ่งใช้ค่าใช้จ่ายสูงอยู่ดี
คาราบาวกรุ๊ป เขย่าบัลลังก์
และแล้วผู้เล่นรายใหญ่เบอร์ใหม่ก็เข้ามา กับคุณสมบัติผ่านทุกข้อ ทุ่มงบ 4000 ล้านบาท กำลังการผลิต 400 ล้านลิตรต่อปี ถ้าคาราบาวก้าวเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จ ตัวเลขสัดส่วนการตลาดจะเปลี่ยนไปมาก สำหรับสิงห์และช้างเจ้าบัลลังก์เดิม ซึ่งคาราบาวก็มาพร้อมขนาด Marketing ที่ไประดับโลกแล้วและความเชี่ยวชาญในเบียร์คุณภาพเยี่ยม โด่งดังมาจากเบียร์สดนับสิบชนิดที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
เราต้องมารอติดตามในไตรมาส 4 ปีนี้ คอเบียร์จะเปลี่ยนใจไหม เราน่าจะได้เห็นเจ้าตลาดใหม่เข้ามาแบ่งเค้กก้อนโตอีกหนึ่งราย