การเงินโลกจะแข็งแกร่งขึ้น เมื่อถูกวิกฤตเฆี่ยนตี

17 มี.ค. 2566 - 08:47

  • การขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed เร่งชนวนวิกฤต

  • โครงสร้างทางการเงินต้องเข้มแข็งกว่านี้

  • หนี้ค้างพอร์ตธนาคารอเมริกา 21 ล้านล้านบาท

  • ต้มยำกุ้งเฆี่ยนระบบการเงินไทยให้แข็งแกร่งมาแล้ว

Business-Crisis-Bank-better-system-SPACEBAR-Thumbnail

ระบบการเงินโลก คิดว่าจะแข็งแกร่งกว่านี้ 

คำถามเรื่องความเปราะบางของระบบการเงินโลกผุดขึ้นมาอย่างท่วมท้น ท่ามกลางวิกฤตธนาคารล้ม ทั้ง Silicon Valley Bank และธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Credit Suisse ที่เกือบล้ม ตลาดหุ้นเสียมูลค่าไปมากกว่า 16 ล้านล้านบาทในวันเดียว จนธนาคารกลางของทั้งสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ต้องเข้ามาอัดฉีดเงิน และช่วยอุ้ม ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นมานาน นับตั้งแต่ปี 2008 ในวิกฤตซัพไพร์ม  

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นตัวเร่งชนวนความเสียหาย  

เพราะกลุ่มธนาคารและธุรกิจอื่นๆ ต่างเคยใช้เงินเหมือนไม่มีค่าในช่วงดอกเบี้ยต่ำ แต่แล้วพวกเขาก็ต้องเจอกับปัญหาเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ทุกคนที่ทั้งใช้ ทั้งกู้เงิน แบบเทน้ำเทท่า ไปก่อนหน้านี้ ต้องรับภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นแบบหนักยิ่งกว่าหนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินขึ้นมาจาก 0.5% ไปที่ 5% นั่นหมายความว่า สมมติว่าเคยกู้เงิน 100 บาท ต้องคืนดอกเบี้ยแค่ 50 สตางค์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเงินก้อนเดิมที่กู้มา 100 บาท มีดอกเบี้ยถึง 5 บาท ง่ายๆ คือดอกเบี้ยเพิ่ม 10 เท่า   

ซึ่งการล้มของ SVB นั้นเร็วมาก ใช้เวลาแค่ 48 ชั่วโมง และแม้จะไม่ใช่ธนาคารใหญ่ของประเทศ และให้บริการในวงจำกัดเน้นที่ธุรกิจด้าน Start up และเทคโนโลยี แต่ก็เป็นภัยมหาศาลหาปล่อยไว้เฉยๆ 

The Economist เสนอเร่งทบทวนระเบียบการเงินทั่วโลก

การที่ Fed เข้ามาอุ้มและอัดฉีดเงินให้ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากแต่เป็นแค่การอุดรูรั่วเอาไว้ชั่วคราว นิตยาสาร The Economist ของ Rothschild หนึ่งในตระกูลมหาอำนาจทางการเงินของโลกจึงเสนอให้สหรัฐอเมริกาและผู้ควบคุมระบบการเงินทั่วโลกต้องพิจารณาระเบียบเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน สิ่งนี้รวมถึงการพิจารณาข้อกฎหมายที่หละหลวมที่ใช้กับธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ถึงเวลาที่ต้องใช้ข้อบังคับมาตรฐานเดียวกับธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบบนี้อีก 

Fed อัดยาแรง 5.5 ล้านล้านบาท  

ซึ่งตอนนี้ Fed ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ใช้ยาแรงอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไป 5.5 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิด Bank run อีก ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์อัดเข้าไปเพิ่มอีก 2.2 ล้านล้านบาท 

Fed มีเงินเยอะๆ มาอุ้มธนาคารไหวได้อย่างไร 

ศัพย์ทางการเงินเรียกว่า QE แบบฉุกเฉิน หรือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบแบบฉุกเฉิน ซึ่งนี่คือหนึ่งในอำนาจทางการเงินของธนาคารกลางที่เหมือนมีเวทย์มนตร์ เรียกง่ายๆ ว่า ‘พิมพ์เงิน’

สภาพคล่องต้องพอ เงินสดสำรองต้องเข้มงวด 

กฏระเบียบด้านบัญชีสภาพคล่องและปริมาณการถือเงินสดสำรอง เพราะหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ SVB ล้ม ก็คือ สมัยดอกเบี้ยต่ำ SVB เอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากเกินไป ไม่ได้คำนึงว่าดอกเบี้ยจะขึ้นสูง แต่พอดอกเบี้ยขึ้นสูง ราคาของพันธบัตรรัฐบาลก็ค่อยๆ ลดลง ทำให้มูลค่าที่ถือครองอยู่น้อยกว่าราคาหน้าตั๋วไปเรื่อยๆ กลายเป็นขาดทุนค้างพอร์ตและประจวบว่ามาเจอปัญหาคนแห่ถอนเงินเยอะ เงินสดไม่พอ ก็ต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้แบบขาดทุน 

หนี้ค้างพอร์ต ธนาคาร 21 ล้านล้านบาท

ซึ่งไม่ใช่แค่ SVB ที่เอาเงินไปซื้อพันธบัตรเยอะเกินไป ยังมีอีกหลายธนาคารที่ลงทุน แล้วเกิดปัญหาขาดทุนค้างพอร์ต The Economist รายงานในพาดหัว อุตสหกรรมแบงค์อเมริกาเน่าไปถึงไหนแล้วว่า ธนาคารทั่วสหรัฐอเมริกามีหนี้ค้างพอร์ตรวมกัน -21.5 ล้านล้านบาท [1] 

ต้มยำกุ้งเคยปรับโครงสร้างธนาคารไทยมาแล้ว 

ประเทศไทยและอุตสาหกรรมการเงินของเอเชียเคยโดนปรับโครงสร้างกันอย่างหนักมาแล้ว โดนการเฆี่ยนตีของวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อไทยปล่อยนโยบายกู้เงินต่างชาติเสรี และตรึงราคาดอลลาร์สหรัฐให้อยู่ที่่ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 25 บาท ทำให้ผู้กู้ไม่ต้องรับความเสี่ยงและเพิ่มหนี้ต่างประเทศมหาศาล จนกระทั่ง มิถุนายน 2540 รัฐบาลไทยประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทอ่อนจาก 25 บาท ไปเป็น 40 - 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจทั่วประเทศ และจากนั้นเราก็ต้องเข้าสู่ยุคเป็นลูกหนี้ IMF ที่เข้ามากำกับดูแล ควบคุมระบบโครงสร้างธนาคารบ้านเราเพื่อให้จ่ายเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ให้ครบและตรงเวลา วิกฤตครั้งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นการปรับโครงสร้างระบบการเงินโลกครั้งใหม่เช่นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์