แกะรอย 9near อ้าง ’ตระหนักรู้’ ใช้ข้อมูลส่วนตัวกระทุ้งการเมือง

4 เม.ย. 2566 - 02:23

  • เผยประเด็น ข้อมูลส่วนตัวคนไทย 55 ล้านราย ตกเป็น ‘ตัวประกัน’ ในมือแฮกเกอร์ ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?

  • จุดประกาย ตระหนักรู้ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล

  • ตั้งโจทย์ใหม่ ‘นักเลือกตั้ง’ ปกป้องหายนะข้อมูลส่วนตัวคนไทยอย่างไร?

DES-Thailand-9Near-Hacker-personal-information-politician-IT-SPACEBAR-Hero
ถือได้ว่า เป็นข่าวช็อกวงการไอทีไม่น้อย เมื่อกลุ่มแฮกเกอร์ 9near ออกมาเชือดสปอนเซอร์ ซึ่งน่าจะมีประเด็นความไม่ลงรอยบางอย่าง จึงเป็นที่มาให้ออกมาเผย ถึงการมีข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย 55 ล้านรายชื่ออยู่ในมือ แย้มกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติการที่กำลังเกิดขึ้น  

แต่ด้วยเพราะ เล็งแล้วว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ คือ หายนะความเป็นส่วนตัวของคนไทย เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการเมืองสกปรก และไม่อยากมีส่วนร่วม จึงเผยข้อมูลอันน่าตกใจให้ได้รับรู้บนหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง ทั้งยังขู่ต่อแผลที่ 2 ว่าหากไม่เจรจาให้จบ จะเผยตัวสปอนเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง 

กล่าวได้ว่า ความไม่ลงรอยครั้งนี้ ทำให้เกิดผลดี โดยสิ่งที่กลุ่มแฮกเกอร์ 9Near เผยในเว็บไซต์ของพวกเขา คือข่าวที่ระบุว่า พวกเขาจะยุติปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย ที่เคยขีดเส้นไว้ว่า จะปล่อยรายชื่อคนไทยกว่า 55 ล้านรายชื่อ บนเว็บไซต์ Bleach Forums ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 5 เมษายน 66 ตามเวลาไทย...ซึ่งเมื่อได้รับรู้โดยทั่ว ก็ทำคนไทยโล่งใจไปได้เปราะหนึ่ง 

กลุ่มแฮกเกอร์ ยังเผยด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีในมือขณะนี้ ไม่ได้ซื้อมาจากหน่วยงานใด ไม่ได้เป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือสแกมเมอร์ใดๆ รวมถึง การไม่เคยขายข้อมูลเต็มให้กับใคร โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่มีในมือ มีไว้เพื่อความเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของกลุ่ม และไม่ได้มีไว้เพื่อเงิน  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าได้วางใจ เพราะปัญหาคงยังไม่จบง่ายๆ จากคำทิ้งท้ายที่ระบุว่า “อย่าได้ตามล่า หรือจับพวกเขา เพราะพวกเขายังมีทุกอย่างอยู่ในมือ ขอให้ทุกคนอยู่ในที่ของตัวเอง ไม่อย่างนั้น พวกเขาจะกลับมา” ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คนไทย 55 ล้านรายชื่อ ยังมี ‘มีดจ่อที่คอ’ ตกฐานะ ‘เป็นตัวประกัน’ ดีๆ นี่เอง 

นัยที่ซ่อนอยู่ บ่งบอกว่า กลุ่มคนผู้นำไปใช้ประโยชน์ คือกลุ่มการเมือง แล้วเป็นใคร? เรื่องนี้จึงเดือดร้อนถึงกระทรวงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตรง อย่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ที่ขณะนี้ออกมารับลูกแล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2EQgHtFnTJj5mwhfKw0IRF/ed593a5783debfdf6448e8f7d1e0fa3d/DES-Thailand-9Near-Hacker-personal-information-politician-IT-SPACEBAR-Photo01

ดีอีเอส เร่งสืบข้อมูลคนไทยหลุด 55 ล้านรายชื่อ 

ตอกย้ำด้วยคำชี้แจง ของเจ้ากระทรวง ดีอีเอส ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ ที่ชี้ช่องโหว่ของข้อมูลที่รั่ว มาจาก ‘บางหน่วยงาน’ เช่น หน่วยที่เปิดให้ประชาชน ‘ลงทะเบียนใช้บริการภาครัฐ’ และมีการเผยแพร่ข้อมูลประชาชนในระบบ แต่ ณ จุดนี้ ยังเป็นเพียงการคาดเดา ว่า ‘อาจจะ’ เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้กำชับการให้ข้อมูลของหน่วยงาน ต้องไม่มากเกินไป จนเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  

เผยต่อถึง ‘การเลือกตั้ง’ ที่จะมีข้อมูลของประชาชนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ยังเน้นย้ำ ‘อย่าได้กังวล’ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ หารือและทำงานร่วมกับกับ กกต. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแล้ว 

เผยใกล้ได้ข้อสรุปแฮกเกอร์เจาะข้อมูล 55 ล้านราย  

สำหรับกรณีมีแฮกเกอร์อ้างว่า มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนรั่วไหลจำนวน 55 ล้านราย ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ติดตามสอบสวนจนมีข้อมูลคืบหน้าพอสมควร โดยใกล้จะได้ข้อสรุปต่อกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว 

“เราพอรู้ว่ามีหลายหน่วยงานที่อยู่ในข่ายเป็นไปได้ที่จะทำข้อมูลรั่วไหล แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้จนกว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เราล็อกเป้าแล้ว ขอให้ตำรวจพูดดีกว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า บางหน่วยงานที่เก็บข้อมูลของประชาชนเพื่อต้องการให้การใช้บริการเข้าใช้ได้ง่าย โอกาสที่จะเจาะข้อมูลก็จะทำได้ง่ายด้วย อนาคตการใช้งานอาจจะมีความยุ่งยากในการใช้งาน แต่จะมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าแฮกเกอร์จะนำข้อมูลไปเปิดเผยหรือไม่ เราคงต้องดำเนินการต่อไป” 

สรุปข้อสงสัย 

  • ข้อมูลคนไทย 55 ล้านคน ตกไอยู่ในมือแฮกเกอร์ได้อย่างไร? 
  • ‘หายนะความเป็นส่วนตัวของคนไทย’ ครั้งนี้ ใครต้องรับผิดชอบ หรือจะปกป้อง หายนะไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร? 
  • ตอนนี้ คนไทยผู้ใจดี ‘ไว้ใจ’ ใครได้บ้าง? 
โจทย์ข้อใหม่ ‘นักเลือกตั้ง’ จะปกป้องข้อมูลประชาชน ไม่ให้ ‘การเมืองสกปรก’ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลประชาชนได้อย่างไร? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์