หรือ AI คือทางออก? เมื่อคนยุคนี้โหยหางานที่ดีต่อใจและชีวิต

7 ก.พ. 2566 - 09:37

  • ‘งาน’ เมื่อพิมพ์คำนี้ในกูเกิ้ล จะพบเรื่องที่สัมพันธ์กับคำนี้อยู่สองสามมิติ คือ หางาน เทรนด์การทำงาน และภาวะอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับการทำงาน

  • ว่ากันว่าในอนาคตอีกไม่กี่สิบปี เมื่อเอไอฉลาดล้ำทำงานแทนมนุษย์ได้ มนุษย์จะไม่ต้องทำงานอีกต่อไป

  • ถึงเวลานั้น... ‘เราอาจกลายเป็นทาสของเวลาหากปราศจากจุดหมายแล้วยังไงต่อ...’

Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Thumbnail
‘งาน’ เมื่อเราพิมพ์คำนี้ในกูเกิ้ล จะพบเรื่องที่สัมพันธ์กับคำนี้อยู่สองสามมิติ คือ หางาน เทรนด์การทำงาน และภาวะอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับการทำงาน 

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าในยุคสมัยใด ชีวิตมนุษย์ล้วนสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกิจกรรมเพื่อการหาเลี้ยงชีพที่เรียกว่า “งาน” เสมอ 

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องทำงาน และงานนั้นแปรเปลี่ยนและพัฒนาไปตามคลื่นของเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา จากอดีตที่ต้องใช้แรงงาน พัฒนาสู่การใช้เครื่องทุ่นแรงที่ก้าวล้ำขึ้น จากเครื่องมือ สัตว์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล และตอนนี้มนุษย์กำลังก้าวสู่ยุคต้นของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ 

ว่ากันว่าในอนาคตอีกไม่ไกลราวไม่กี่สิบปี เมื่อเอไอฉลาดล้ำทำงานแทนมนุษย์ได้ โลกการทำงานของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนอาจนำไปสู่โลกที่มนุษย์ไม่ต้องทำงานอีกต่อไป 

แต่ก่อนจะพูดถึงอนาคตที่ยังเอื้อมคว้าไม่ถึง ลองมาดูแนวโน้มสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตคนทำงานในห้วงเวลานี้กันก่อน แล้วค่อยกลับมา WHAT IF ถึงวันที่มนุษย์ไม่มีงานทำ 

มนุษย์กำลังเรียกร้องงานที่ดีต่อชีวิตและจิตใจ 

เป็นที่รู้กันดีว่า สถานการณ์โลกหลังการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลสะเทือนต่องาน และชีวิตการทำงานของมนุษย์อย่างไม่อาจหวนกลับ ราวกับเชื้อไวรัสเป็นไทม์แมชชีนพาอนาคตในอีกสิบปีให้มาอยู่วันนี้ 

คำศัพท์อย่าง WFH (Work from Home: การทำงานที่บ้าน), Workation (เที่ยวไปทำงานไป) เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์บังคับให้มนุษย์ต้องกักตัวเว้นระยะห่าง จนนำมาสู่สำนึกการทำงานแบบใหม่อย่าง Hybrid Workplace เมื่อคนทำงานเรียกร้องขอทำงานอยู่บ้าน ขณะที่บริษัทก็พยายามหาตรงกลางระหว่างประโยชน์ของ ‘คนทำงาน’ และ ‘องค์กร’ ที่ลงตัว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4g9wxbCreShPuwwdBOVT0R/29818ff6da0b2b0ca5fcdee384f0cd5b/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo01
Photo: การทำงานที่บ้านหรือ WFH เป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนทำงานหลังโควิด
เมื่อเราทำ Social listening เกี่ยวกับเทรนด์การทำงาน ทีม SPACEBAR • DATAOPS พบว่าประเด็น WFH เป็นเรื่องที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดในปี 2022 โดยมีสาเหตุหลักมาจากความเหนื่อยล้าจาก ‘การเดินทาง’ เพราะกรุงเทพฯ รถติด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่อนข้างสูง ขณะที่บางส่วนบอกว่า การทำงาน WFH ช่วยให้มีสมาธิในการทำงานมากกว่า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/K1rDHBFxpgUkx7cSMoV0L/8064874725be597b0aa3d02e8a1bbb00/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo02
Photo: คีย์เวิร์ดเกี่ยวกับ ‘เทรนด์การทำงาน’ ที่คนพูดถึงในโลกออนไลน์
เมื่อดูแนวโน้มการพูดถึง (mention) จะพบว่าในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดเบาบาง คนเริ่มกลับมาทำงาน จำนวนการพูดถึง WFH จะเพิ่มขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/46bOZXXMreDrnKEAqoXcpk/fa6867480b826f6cd571979237d8a37b/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo03
Photo: แนวโน้มการพูดถึง (mention) คำว่า Work from Home ในโลกออนไลน์ของคนไทย ปี 2022
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5LlHVMv5FyLfYnqhrVMgpw/3c320407f582f021d3c5086008814b61/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo04
Photo: สถิติการติดโควิดของคนไทย ปี 2022
ถามว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกอย่างไรต่อประเด็น WFH เราพบว่าคำตอบที่ได้จากอิโมจิที่คนใช้สื่อสารล้วนมี ‘น้ำตา’ เป็นส่วนประกอบของคำตอบ หรือถ้าไม่มีอิโมจิส่วนใหญ่มีแนวโน้มบ่งบอกถึงความเซ็ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/527MGuC1CodOvQR3sXgYLV/053272a609be93154dc16f8af3d70a01/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo05
Photo: อิโมจิที่คนไทยใช้เมื่อพูดถึง WFH
“อยาก WFH ทุกวันเลย ขี้เกียจเดินทาง” คือบางเสียงที่เราได้ยินจาก Social listening

ใจพังเพราะงาน ขอพักก่อนได้ไหม

รูปแบบการทำงานใหม่อย่าง Hybrid Workplace เป็นการปรับสภาพการทำงานภายนอกให้ตอบโจทย์คนทำงานยุคนี้ เพราะโควิดได้บอกพวกเราว่า ทำงานที่บ้านก็ได้ ทำไมต้องไปถึงสำนักงาน เสียเวลาเดินทาง... 

แต่ถ้ามองลึกลงไปในจิตใจ การเรียกร้องการทำงานรูปแบบใหม่มีส่วนสัมพันธ์กับภาวะอารมณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ 

ถ้า WFH คือคำที่คนพูดถึง ในอีกด้านหนึ่งคำอย่าง Burnout (ภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะความเครียดเรื้อรัง) ก็มาแรงไม่แพ้กัน และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่กัดกินสภาพจิตใจคนทำงานทั่วโลก สังเกตได้จาก World Economic Forum มีบทความที่พูดถึงเรื่องนี้บนเว็บไซต์ weforum นับร้อยชิ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/39pwteZbJg8CIg4dwmzgbP/4d7419ceb0a27a4a2841c15a487de60a/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo06
Photo: บทความและข่าวเกี่ยวกับ burnout นับร้อยชิ้นบน weforum.org
ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นผลพวงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ย่อมิติของพื้นที่ (space) และเวลา (time) ให้ลัดสั้นลง จนเป็นโลกที่มนุษย์สามารถทำทุกสิ่งได้ anywhere anytime ไม่ว่าจะเสพสิ่งบันเทิง โอนเงิน ฯลฯ รวมถึงการทำงาน 

ความจริงภาวะเครียดเรื้อรังจากการทำงานไม่ใช่เรื่องที่คนทำงานยุคนี้เพิ่งพบเจอ แต่เป็นเรื่องที่คนยุคก่อนเผชิญหน้ามานานหลายสิบปีแล้ว 

นิตยสารไทม์ฉบับ 6 มิถุนายน พ.ศ.2526 เคยนำเรื่อง ‘ความเครียด’ หรือ STRESS มาเป็นเรื่องเด่นขึ้นปก โดยระบุว่าความเครียดจากความวิตกกังวลในปัจจุบันเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญที่สุดในโลก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1QwC4Jlxh1mmE58mBVMQzz/98686e3018a25f967e68c184331b5745/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo07
Photo: นิตยสาร TIME ฉบับ 6 มิถุนายน พ.ศ.2526
ถ้าถามว่าความเครียดในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันอย่างไร สิ่งที่ต่างคงเป็นมวลความเครียดที่หนาแน่นขึ้น คนเครียดกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ Burnout แต่รวมถึงโรคซึมเศร้าที่กำลังเป็นโรคแห่งยุคสมัย 

คงยากจะปฏิเสธว่า ในโลกที่เทคโนโลยีเสิร์ฟความสะดวกสบายและความบันเทิงให้ชีวิตทุกวินาที ในด้านหนึ่งมันก็หยิบยื่นความทุกข์และว้าวุ่นให้เราอย่างสาสมในอัตราเดียวกัน 

เป็นไปได้ไหมว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตและชิปประมวลผลที่เพิ่มขึ้น กำลังสร้างความสะดวกสบายและความทุกข์ให้มนุษย์มากขึ้นเช่นกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/64JhQJTjO1xDeMYwfsY9LZ/129b569b31ea33329f951ef3bae589a8/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo08
Photo: แผนภาพแนวโน้มการพัฒนาของไมโครชิปตาม ‘กฎของมัวร์’
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 กฎของมัวร์ (Moore's law) อธิบายว่า ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม จะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกๆ สองปี 

นั่นหมายความว่า ความสามารถของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ความเร็วประมวลผล ความจุของแรม หรือแม้แต่จำนวนพิกเซลของกล้องดิจิทัล เป็นไปเช่นนั้น และสิ่งนี้มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

มีการคาดการณ์ว่ากฎของมัวร์จะใช้อธิบายแรงการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีไปได้จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ส่วนหลังจากนั้น อัตราเร่งของความก้าวหน้าอาจพุ่งแรงกว่านั้น 

อนาคตที่มนุษย์อาจว่างจนวุ่น 

เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การทำงาน WFH กลายเป็นเทรนด์ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัล WFH คงกลายเป็นแค่ฝันกลางวัน 

เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีมีผลต่อชีวิตมนุษย์ หากย้อนไปในช่วง 200 ปีก่อน โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โรงงานและสำนักงานเกิดขึ้นมากมาย ชีวิตในบ้านและชีวิตการทำงานถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มาวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังทำให้รูปแบบการทำงานย้อนกลับในประวัติศาสตร์อีกครั้ง มนุษย์กลับไปใกล้ชิดกับบ้านมากขึ้น เช่นเดียวกับชาวไร่ชาวนาและช่างฝีมือในอดีต 

ถ้าลองมองไกลจากเทคโนโลยีดิจิทัลออกไปที่เอไอ แล้วนึกภาพว่าวันหนึ่งเอไอพัฒนาจนฉลาดล้ำทำงานแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์จะเกิดอะไรขึ้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3PGoj3TQyoLSimnMfG3Jks/e301725912f037878833e0a1f3b6f32a/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo08_copy
Photo: ไอดา (Ai-Da) หุ่นเอไอแบบอัลตร้าเรียลลิสติกตัวแรกของโลกกับผลงานภาพวาด self-portrait ของเธอ ณ ดีไซน์มิวเซียม กรุงลอนดอน ปี 2021. AFP
แน่นอนไม่มีใครรู้ แต่ในนวนิยายปี 2019 เรื่อง Machines Like Me ของเอียน แมคอีวาน ได้คาดการณ์ถึงโลกที่เอไอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้อย่างน่าคิด (อ้างอิงหนังสือ Ten Lessons for a Post-Pandemic World โดย Fareed Zakaria) เหมือนที่เขาเขียนไว้ฉากหนึ่งในลอนดอนที่มีการประท้วงใหญ่ของคนว่างงาน ตัวละครหลักเล่าว่า 

‘ฉันไปร่วมการชุมนุมครั้งหนึ่ง จากนั้นก็เลิกไปหลังจากอ่านเรื่องโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ที่เริ่มการผลิตนอกเมืองนิวคาสเซิล มันผลิตรถยนต์ได้มากกว่าโรงงานที่มาแทนที่ถึง 3 เท่า ด้วยแรงงานเพียง 1 ใน 6 เท่ากับว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าโรงงานแบบเดิม 18 เท่า และทำกำไรเพิ่มอย่างมโหฬาร ไม่มีธุรกิจใดต้านทานได้ ไม่เพียงผู้ใช้แรงงานเท่านั้นที่เสียงานให้เครื่องจักร แต่ยังมีนักบัญชี บุคลากรทางการแพทย์ การตลาด โลจิสติกส์ ทรัพยากรมนุษย์ ผู้วางแผนล่วงหน้าก็เหมือนกัน ตอนนี้ก็ถึงตากวีไฮกุ ทุกคนล้วนตกที่นั่งลำบาก ไม่ช้าพวกเราส่วนใหญ่อาจจะต้องคิดใหม่ว่ามีชีวิตเพื่ออะไร ไม่ใช่มีงานเพื่ออะไร’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6eRDbMQ7wvyE3KZVT5uRD3/4fa96c8bb61fc189111874e350667852/Google-to-reveal-more-AI-products-SPACEBAR-Photo08_copy_2
Photo: ปกหนังสือนวนิยาย Machines Like Me
ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ มนุษย์จะมีเวลาว่างมหาศาล ผู้เขียนได้รำพึงถึงโลกการทำงานที่หายไปว่า 

‘เราอาจกลายเป็นทาสของเวลาหากปราศจากจุดหมายแล้วยังไงต่อ...’ 

จากนั้นก็พูดถึงการเข้าสู่โหมดชีวิตใหม่ที่มีทั้งด้านดีและร้าย คนอาจใช้เวลาว่างไปกับการปลดปล่อยความรัก มิตรภาพ ปรัชญา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ กีฬาและงานอดิเรก หรือเวลาว่างอาจดึงดูดให้มนุษย์ปลดปล่อยสัญชาตญาณดิบ ก่ออาชญากรรมรุนแรง เสพวิดีโอโป๊เสมือนจริง การพนัน ดื่มเหล้า จนกระทั่งเบื่อหน่ายและซึมเศร้า 

วันที่มนุษย์ต้องทำงาน เราต่างมีปัญหาเรื่องงาน เมื่อถึงวันที่ชีวิตเต็มไปด้วยเวลาว่าง ไม่ต้องออกไปทำงานจันทร์-ศุกร์อีกต่อไป 

คุณคิดว่าชีวิตเราจะเป็นยังไง? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์