วิเคราะห์เสียงโซเชียลฯ เปิดเหตุผลที่คนไทยซื้อและยังไม่ซื้อรถ EV

24 พ.ค. 2566 - 03:55

  • เมื่อพูดถึง EV คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความสวยงาม ดีไซน์ และคุณภาพเป็นอันดับแรก คิดเป็น 35%

  • ประมาณ 28% ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยกังวลเรื่อง ‘ราคา’ ของ EV มากกว่าสมรรถนะ โดยเฉพาะราคารถยนต์และแบตเตอรี่นั้นค่อนข้างสูง ส่วนความกังวลเรื่องความพร้อมของสถานีชาร์จอยู่ที่ 5% เท่านั้น

2023 SPB ALL Template V7-SPACEBAR-Thumbnail
“มีเงินอย่างเดียวซื้อไม่ได้” เป็นคำอธิบายที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมคนไทยยังลังเลกับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV (Electric Vehicle) เพราะนอกจากเงินแล้ว เราต้องมั่นใจด้วยว่ามีสาธารณูปโภคที่พร้อมรองรับการใช้ EV ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ และนี่เป็นความกังวล (Anxiety) หลักของคนทั่วโลก  

จะวิ่งได้ไกลไหม ถ้าแบตฯ หมดกลางทางจะทำอย่างไร?

ความกังวลเรื่องระยะทางการวิ่ง (Range Anxiety) เป็นประเด็นสากลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ EV ซึ่งครอบคลุมทุกความกังวลเกี่ยวกับ EV ตั้งแต่สมรรถนะของรถ แบตเตอรี่ ไปจนถึงความพร้อมด้านสถานีชาร์จที่ครอบคลุมการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่คนอยากซื้อ EV ต่างคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ ยังไม่รวมเรื่องราคาของรถที่ยังสูงกว่ารถยนต์สันดาป (ICE) มาก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/40ube7BSNYpkP87a3zYF6h/8f0594dac6ad9c53bc46b66b6bfed49c/TAGCLOUD-Thailand-EV-readiness-and-concerns-social-listening_-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
จากการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันเมื่อปี 2022 โดย AAA (American Automobile Association) ผู้ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านยานยนต์และการท่องเที่ยว พบว่า ราคาแพงคือเหตุผลอันดับที่ 1 ในขณะที่ Range Anxiety คือเหตุผลอันดับ 2 และเหตุผลรองลงมาก็ล้วนเกี่ยวกับข้อที่ 2 เกือบทั้งหมด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2B1I7PKQjjKXlISqBbhfIg/d46cfb181c586e834a39f48d0956db07/info_TAGCLOUD-Thailand-EV-readiness-and-concerns-social-listening-01__1_

แล้วคนไทยคิดยังไงกับรถยนต์ไฟฟ้า? 

กระแส EV คึกคักตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาจนถึงต้นปี 2023 SPACEBAR และ DATAOPS จึงทำ Social Listening เพื่อจับกระแสความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าในไทยผ่าน Social Listening พบว่าสาเหตุหลักที่คนไทยยังไม่ซื้อ EV เนื่องจากราคายังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะของรถ ระยะทางวิ่ง แบตเตอรี่ หรือความพร้อมด้านสถานี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1snimCW1Yeuvu5QObgXQVn/ee2a82c1c3ae6be680b8b8ed629966cf/info_TAGCLOUD-Thailand-EV-readiness-and-concerns-social-listening-02__1_

1. ดีไซน์ วัสดุ และคุณภาพต้องมาเป็นอันดับแรก   

  • คนไทยให้น้ำหนักกับเรื่องวัสดุ คุณภาพ และรูปลักษณ์หรือดีไซน์ของรถมากที่สุด คิดเป็น 35% ขณะที่ 25% แสดงถึงความสนใจและอยากจองรถ EV แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่เกี่ยวกับความกังวล แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ถกเถียงกันเรื่องความปลอดภัยของวัสดุที่ใช้สร้างและการออกแบบรถ 
  • ประเด็นนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจในรายงาน 2023 Global Automotive Consumer Study โดย Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก ชี้ว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงไทย) ก็คือ คุณภาพของสินค้า คิดเป็น 71% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ และนอกจากนี้ชาวอาเซียนยังให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ของยานยนต์ (52%) สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ เช่นกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1IIY9xFA6FxfCXL5mS8N0Z/f44b2e3a560f919e8c3f0202e0ee51f8/TAGCLOUD-Thailand-EV-readiness-and-concerns-social-listening_-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP

2. ราคายังแรงอยู่ 

  • แม้ว่าความกังวลเรื่องระยะทางการวิ่งจะทำให้ผู้สนใจ EV เกิดความลังเลที่จะซื้ออยู่บ้าง แต่ผลจากการทำ Social Listening พบว่าคนไทยกังวลเรื่องของ ‘ราคา’ มากกว่าสมรรถนะ โดย 28%  มองว่าราคารถยนต์และแบตเตอรี่รถยนต์นั้นค่อนข้างสูง  
  • รายงาน 2023 Global Automotive Consumer Study โดย Deloitte พบว่าผู้คนต้องการที่จะซื้อ EV มากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ยอดขาย EV ยังไม่โตเร็ว คือ ราคาที่ค่อนข้างสูง  
  • Tesla เป็นแบรนด์ที่คนไทยสนใจมากเป็นพิเศษ แต่ถือว่ามีราคาสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาแบรนด์ EV ที่จำหน่ายในประเทศไทย แม้ว่าจะลดราคาในตลาดสากลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการประกาศราคาใหม่นี้ในประเทศไทย 
  • ราคาในที่นี้ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EV เช่น ค่าประกันรถยนต์ ค่าซ่อมบำรุง อะไหล่ และแบตเตอรี่  
  • อัตราค่าประกันภัยรถ EV ในไทยโดยเฉลี่ยสูงถึงปีละ 80,000 - 100,000 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรุ่นและราคาของรถด้วย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/xlVa3bGsqgxW38Weoaehu/d5111ac822609e562c9525c72ebe4e63/TAGCLOUD-Thailand-EV-readiness-and-concerns-social-listening_-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP

3. สถานีชาร์จและโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม 

  • 5% ของชาวโซเชียลมองว่าสถานีชาร์จในไทยยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองและจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น  
  • ขณะเดียวกันสถานีชาร์จที่มีอยู่ ก็ยังมีปัญหาด้านระบบจัดการ และการให้บริการ เช่น สถานีชาร์จส่วนใหญ่อยู่ในปั๊มน้ำมันเพียง 1-2 จุดเท่านั้น  
  • ราคาค่าชาร์จของแต่ละที่ไม่เท่ากัน คิดไม่เหมือนกัน 
  • ศูนย์บริการและซ่อมรถ EV ยังไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ขาดช่างซ่อม EV ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ใช้ไม่กล้าใช้บริการที่อู่นอกศูนย์ ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ สหราชอาณาจักรประเมินว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนช่างในปี 2030 ในสหรัฐฯ ก็ประเมินสถานการณ์ไว้คล้ายกันว่า การขาดแคลนช่างผู้ชำนาญอาจทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกของ EV ต้องสะดุด  

4. ภาครัฐยังสนับสนุนไม่เต็มที่ 

ผู้ใช้โซเชียลฯ มองว่าภาครัฐมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่จอาจเป็นเพราะตลาด EV ของไทยยังไม่ใหญ่เท่ากับประเทศใหญ่ๆ อย่างเช่น จีน ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งมียอดซื้อ EV สูงมาก และประเทศเหล่านี้ยังมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสหประชาชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ต้องเร่งเปลี่ยนจากรถยนต์ ICE มาเป็น EV อย่างเร่งด่วน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนราคาอย่างเลี่ยงไม่ได้   

คำถามสำคัญที่รัฐต้องตอบให้ได้ คือ ส่วนลดเรื่องภาษี (EV Tax Credit) จะยาวนานแค่ไหน? เรื่องนี้แม้จะยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาผู้ใช้รถคนไทย แต่น่าจะเป็นประเด็นในอนาคตอย่างแน่นอน เราจึงวิเคราะห์ล่วงหน้าไว้ ดังนี้   
  • รัฐบาลอาจไม่สามารถอุดหนุนเรื่องภาษีได้โดยไม่มีกำหนด และการลดภาษีอาจจะเป็นประโยชน์กับค่ายรถต่างประเทศมากกว่า   
  • เรียนรู้จากสถานการณ์ในต่างประเทศ เช่น นโยบายอุดหนุน EV ของจีนที่จะหมดอายุในปีนี้ อาจส่งผลให้ราคารถสูงขึ้น ความต้องการซื้อก็จะลดลงไปด้วย Tesla จึงแก้ปัญหาด้วยการลดราคาติดต่อกันหลายครั้งเพื่อไม่ให้ยอดขายลดลง  
  • การอุดหนุนยังจำกัดอยู่ในรูปแบบไม่กี่อย่าง เช่น ยังเน้นการอุดหนุนราคาให้ถูกลงหรือการลดภาษี แต่สิ่งที่จำเป็นในระยะยาวคือ รัฐบาลต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ EV เพราะในกรณีของไทยยังมีความกังวลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานพอสมควร โดยเฉพาะสถานีชาร์จ และธุรกิจจำหน่ายชิ้นส่วน และศูนย์ซ่อม  
  • รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เอกชนดำเนินการเรื่องสถานีชาร์จเองทั้งหมด เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน จนต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 
EV จะเป็นอนาคตของการเดินทางได้หรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐทั้งด้านราคาและด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จที่จะต้องกระจายไปทั่วประเทศเพื่อรองรับความต้องการ (Demand) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเปลี่ยนความกังวลให้เป็นโอกาส 

ในบทความต่อไป เราจะพาไปสำรวจว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไหนที่คนไทยสนใจมากที่สุด และ EV จะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตในอนาคตอันใกล้ได้อย่างไร 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ www.reports.spacebar.th/thailand-ev-readiness-2023

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์