คำถามคือ รถพร้อม คนใช้พร้อม แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศพร้อมแค่ไหน?

รถยนต์ EV ครึ่งปี 66 โตเร็วกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
สังเกตได้จากสถิติรถยนต์ EV จดทะเบียนใหม่ ระหว่างปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) กับครึ่งปีนี้ (พ.ศ.2566) จะพบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV (ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการขนส่ง กรมขนส่งทางบก - นับเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลประเภท รย.1-รย.3)
- พ.ศ.2565 = 9,614 คัน
- มกราคม-มิถุนายน พ.ศ.2566 = 31,672 คัน

จะเห็นว่ายอดการเติบโตรถยนต์ EV มีแนวโน้มไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูจากตัวเลขจดทะเบียนปีที่แล้วกับปีนี้ครึ่งปี ประเมินว่า สิ้นสุดปี พ.ศ.2566 ยอดรถยนต์ EV จดทะเบียนใหม่น่าจะมากกว่าปีก่อนถึง 6 เท่าตัว
บวกกับตลาด EV ปีนี้ ผู้ผลิตต่างส่งรถรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาต่ำล้าน ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มแพงขึ้นทุกวัน และนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐอย่างคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่หนึ่งในเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้านับล้านคัน (1,055,000 คัน) ใน พ.ศ.2568 หรือภายใน 2 ปีข้างหน้า
เป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายใน พ.ศ.2568 ของบอร์ดอีวี
- รถยนต์นั่งและรถกระบะ 402,000 คัน
- รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน
- รถบัสและรถบรรทุก 31,000 คัน
คำถามหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยได้ถาม ถ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV โตในอัตราเท่านี้ ไทยมีปริมาณกำลังผลิต ‘ไฟฟ้า’ ที่เป็นเสมือน ‘น้ำมัน’ ของรถยนต์ EV เพียงพอหรือไม่

ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากแค่ไหน
หลังโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกสิ่งถูกแปรรูปอยู่บนหน้าจอในคอมพิวเตอร์ พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เศรษฐกิจและสังคมต้องพึ่งพาราวกับ 'ลมหายใจ' ที่ทำให้สิ่งต่างๆ เดินหน้าไปได้ในโลกยุคใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ก็เช่นกัน องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565) มีมากกว่า 10 ล้านคัน คิดเป็น 14% ของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานในเว็บไซต์ egat.co.th ระบุว่า กำลังผลิตรวมในระบบผลิตไฟฟ้า เดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 48,798.79 เมกะวัตต์ (MW)


หากย้อนดู ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปีนี้ (พ.ศ.2566) จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่พีคที่สุดที่ 34,130.50 MW ซึ่งค่าสูงสุดดังกล่าวมาจากการใช้ไฟฟ้าในหลากหลายปัจจัย และส่วนหนึ่งเล็กๆ มาจากการใช้ชาร์จรถยนต์ EV
ลองนึกตามดูว่า ถ้าแผนการส่งเสริมรถยนต์ EV ใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้ มีคนใช้รถยนต์ EV ราว 1,000,000 คันใน พ.ศ.2568
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากการชาร์จรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นแค่ไหน
ถ้ามีรถ EV ล้านคัน ไทยพร้อมหรือยัง
ยกตัวอย่าง รถยนต์ BYD รุ่น ATTO3 มีความจุแบตเตอรี่ (usable) ราว 49 kWh ชาร์จกระแสสลับ AC (ผ่าน Home EV Charger) รองรับสูงสุด 7 กิโลวัตต์ (kW) จะใช้เวลาชาร์จพลังงาน 0-100% ประมาณ 7 ชั่วโมงสมมติว่า รถยนต์ EV ใน พ.ศ.2568 ล้านคัน มีสเปคโดยเฉลี่ยเท่ากับ BYD รุ่น ATTO3 ตามตัวอย่าง แล้วคืนหนึ่ง ทุกคนพร้อมใจกันชาร์จแบตรถทุกคันพร้อมกัน เพื่อไปทำงานวันรุ่งขึ้น (เป็นการยกตัวอย่างแบบสุดโต่ง เพื่อให้เห็นภาพ)

คืนนั้นรถยนต์หนึ่งคันจะใช้ไฟฟ้าเพื่อชาร์จจนแบตเต็มอยู่ที่ (7kW x 7 ชั่วโมง) 49kW
ถ้าคิดจำนวนรถยนต์ทั้งหมด 1 ล้านคัน จะใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (49kW x 1,000,000 คัน) 49,000,000 kW หรือเท่ากับ 49,000 MW
และถ้าคิดปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อชั่วโมงจะอยู่ที่ (7kW x 1,000,000 คัน) 7,000,000 kW หรือเท่ากับ 7,000 MW
ทีนี้กลับมาดูกำลังผลิตรวมในระบบผลิตไฟฟ้าวันนี้ (มิถุนายน 2566) อยู่ที่ 48,798.79 MW จะเห็นว่ากำลังผลิตไฟฟ้ายัง 'รองรับ' ได้ (และยังเหลือกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คือมากกว่า 20-35% -- ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการ รมว.พลังงาน
และถ้าดูกำลังผลิตไฟฟ้าในแผนพัฒนาฯ พ.ศ.2561-2580 ที่คาดว่าจะมีราว 77,211 MW เทียบกับเป้าล้านคัน ก็ถือว่าภาครัฐเตรียมพร้อม และอาจพูดได้ว่าไทยพร้อมกับ EV
แต่ถ้าเทียบกับเป้าใน พ.ศ.2578 ที่วางไว้ว่าจะส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15,580,000 คัน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ไฟฟ้าในการชาร์จต่อชั่วโมงอยู่ที่ (7kW x 15,580,000 คัน) 109,060,000 kW หรือ 109,060 MW
คงต้องมีการทบทวนตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าในแผนฯ กันใหม่

43,394,104 คัน คือจำนวนประชากรรถในทะเบียนรถที่จดทะเบียนสะสมทั่วประเทศของกรมขนส่งทางบก พ.ศ.2565
ตัวเลขนี้มากกว่าเป้ารถยนต์ EV ล้านคันใน พ.ศ.2568 ถึง 43 เท่า!
แน่นอน กว่าตัวเลขยานยนต์ EV จะไต่ระดับถึงเท่านี้ ต้องใช้เวลาอีกหลายปี และท้าทายการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งด้านปริมาณกำลังการผลิต และเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าไปสู่ 'พลังงานสะอาด' มากขึ้น
เพราะอย่าลืมว่า ไม่ใช่แค่รถยนต์ EV ที่ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่ทุกสิ่งกลายเป็นดิจิทัล ล้วนหายใจด้วยพลังงานไฟฟ้า
