ก่อนยุค Y2K ทักษิณ ชินวัตร พยากรณ์ถึง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ - ตอนนั้น ‘พี่โทนี่’ เห็นอะไร?

18 ก.พ. 2566 - 03:29

  • เมษายน พ.ศ.2542 ทักษิณ ชินวัตรพูดถึง ‘เศรษฐกิจยุคดิจิทัล’ ที่จะเปลี่ยนโลกหลังเข้าสู่ยุค Y2K

  • ทักษิณพูดถึงเทคโนโลยี VR, นาฬิกาอัจฉริยะ, คอนเทนต์แบบ On-demand, ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ราคาถูกลง ฯลฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2542 หรือปี 1999

  • “ผมอาจจะพูดอะไรที่เร็ว แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มาแน่นอน” แม้ไม่ใช่คำพยากรณ์ แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา

Thaksin-futurist-Y2K -SPACEBAR-Thumbnail
‘เศรษฐกิจยุคดิจิทัล’ ทักษิณ ชินวัตร (หรือ ‘พี่โทนี่’ ของคนรุ่นใหม่) พูดถึงคำนี้ในวันที่โลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุค Y2K 

ตอนนั้นเป็นเดือนเมษายน พ.ศ.2542 หรือก่อนหน้าจะถึง Y2K (พ.ศ.2543) ราว 8 เดือน 

ทักษิณพูดถึงเรื่องนี้ในการอภิปราย ‘สังคมไทยกับ Digital Economy’ ที่จัดโดยสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พรรคแบเบาะที่เพิ่งก่อตั้ง มีอายุยังไม่ถึงขวบปี (พรรคเปิดตัว วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ก่อนถูกยุบจากผลพวงรัฐประหารปี 49 เปลี่ยนชื่อเป็น 'พลังประชาชน' จากนั้นถูกยุบพรรคอีกครั้ง จนนำมาสู่การก่อตั้งพรรค 'เพื่อไทย')

เช่นเดียวกับทักษิณที่ในเวลานั้นเขาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ผันตัวจากนักธุรกิจวิสัยทัศน์ไกล มาเริ่มต้นบนถนนการเมืองกับพรรคพลังธรรม ก่อนจะออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยที่มาพร้อมสโลแกน ‘คิดใหม่ ทำใหม่’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7aXRqSRU1IRO4v2MuIqrDI/e5dbfa448bf7983ee9fd218137e971bc/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo01
Photo: ทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีที่มีแนวโน้มจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย เข้าร่วมกับผู้สนับสนุนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543. (Photo: AFP)
เขาก่อตั้งพรรคด้วยความหวังจะพาประเทศไทยฝ่ากระแสโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมโลกได้อย่างปลอดภัย และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ 

‘ขณะนี้ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ปี 2000 ต่างพากันตื่นตัวเตรียมต้อนรับศตวรรษใหม่ด้วยความกระตือรือร้น ถือเป็นหลักไมล์ของการปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัย ...แต่ประเทศไทยกำลังทำอะไรกันอยู่’ 

ทักษิณเขียนประโยคข้างต้นในหนังสืออัตชีวประวัติ ตาดูดาว เท้าติดดิน (หน้า 290) หนังสือที่ท็อปฮิตติดชาร์จ ‘ขายดี’ ในเวลานั้น เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่รอดในโลกอนาคตได้ ต้องมีวิสัยทัศน์ หรือที่เขาเรียกมันว่า ‘ดาว’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2sUTeWlvhQxjOyCEK23YcT/920600fd2223ae1a87b376d5f81bd6c3/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo02
Photo: ตาดูดาว เท้าติดดิน ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หรือหนึ่งปีก่อนเข้าสู่ยุค Y2K
ดาวที่ทักษิณเห็นในวันที่โลกกำลังก้าวสู่ยุค Y2K คืออะไร? 

มองย้อนกลับไป เราสามารถเห็นร่องรอยเหล่านั้นได้ผ่านนโยบายและแนวคิดของพรรคไทยรักไทยที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในเวลาต่อมา 

แต่คงจะมีน้อยคนที่รู้ว่า ก่อนก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับโทรศัพท์มือถือ Nokia 3210 วางจำหน่าย ทักษิณเคยพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า 

ก่อนที่ในเวลาต่อมา หลายเรื่องกลายเป็นจริง 

ตอนนั้นในปี พ.ศ.2542 หรือปี ค.ศ.1999 ทักษิณพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลว่าอย่างไร?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6bUrrI5kQUzes55jkfpdS4/c60ca6c2295aff63fc76f98ee685ba78/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo03
Photo: มือถือ Nokia 3210 วางขายใน พ.ศ.2542 หรือปี 1999
ในการอภิปราย ก่อนจะเข้าเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องอนาคต ทักษิณเริ่มต้นจากการฉายภาพปัญหาในปัจจุบัน (วันนั้น) ที่เขาเห็น 

“คนที่อยู่ในระดับที่มีอำนาจตัดสินใจ มักเป็นพวกที่มีความคิดแบบอนาล็อก ส่วนคนที่มีความคิดแบบดิจิทัลมักไม่อยู่ในระดับที่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างประเทศเราจึงทำได้ยากและช้า” 

จากนั้นเขาค่อยพาผู้ฟังเข้าสู่เนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/14MEfSoGA5xLnUGedkbXho/111a0916c3be5ca9098e0c80ff749e75/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo04
Photo: ทักษิณ ชินวัตร พูดคุยกับรัฐมนตรีจาก 17 ประเทศในเอเชีย วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2545. (Photo: AFP)
ทักษิณมองว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ คือปัจจัยที่จะเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นเขตการค้าเสรี การติดต่อสื่อสารจะอยู่บนแนวคิดที่เรียกว่า ‘ระบบปมประสาทดิจิทัล’ (Digital Nervous System) ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือน ‘กระดูกสันหลัง’ เป็นศูนย์รวมประสาท และมีข้อมูล (information) เป็น ‘เลือด’ ที่คอยหล่อเลี้ยง ไม่ต่างจากร่างกายมนุษย์ ยิ่งมีข้อมูล (เลือด) ในระบบมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้ตอบสนองกับสิ่งต่างๆ และความท้าทายที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วมากเท่านั้น 

“อินเทอร์เน็ตต้องถือเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของยุคดิจิทัล ซึ่งในศตวรรษที่ 21 จะมีพัฒนาการด้านดิจิทัลหลายตัว” 

“ผมจะเอาเฉพาะที่เด่นๆ มาคุยกัน หลายอันเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 20 แต่ยังไม่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง ยังคาบเกี่ยวอยู่ เพราะว่ายังไม่อิ่มตัว (saturate) ก็เลยยังไม่ไปสู่การใช้เชิงพาณิชย์ (commercial scale)” 

มาดูกันว่า พี่โทนี่เห็นอะไรในปี พ.ศ.2542 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/49WktkCqHMNVnjkSshgx5Q/055d10ab230ae977e2afc041154a4630/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo05
Photo: ทักษิณ ชินวัตร กล่าวเปิดประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) เมื่อปี 2002. (Photo: AFP)

Intelligent Interface 

“สิ่งต่างๆ กำลังจะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 เรื่องการ interface จะเป็นลักษณะของ intelligent interface มากขึ้น เช่น พวก voice recognition หรือ speech generator หรือ image/visual recognition หรือการอ่านการ์ดจากลายนิ้วมือ หรืออ่านจากเรตินาของนัยน์ตา มันจะเป็นลักษณะคล้ายจะใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น” 

VR หรือ Virtual Reality 

“HDTV จะเข้ามาแบบดิจิทัลมากกว่าเป็นอนาล็อก หรือจอจะเป็นพวกจอพลาสมาจอแบนมากขึ้น แล้วก็จะเป็นโลกเสมือนจริง (virtual reality) ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเป็นแล้ว เช่น virtual office, virtual mall, virtual job, virtual operation เทคโนโลยีพวกนี้จะเริ่มเป็นลักษณะสวมใส่ได้ พกพาได้ (wearable) เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อไปจะเป็นนาฬิกาด้วย เป็นสินค้าแฟชั่นมากขึ้น” 

On-demand 

“แนวคิด On-demand จะเป็นลักษณะลูกค้าเป็นผู้กำหนด ต่อไปนี้ prime time จะไม่ใช่สถานีโทรทัศน์เป็นคนกำหนดแล้ว เพราะ ‘prime time is my time’ ถูกกำหนดโดยความต้องการ” 

“ต่อไปข้างหน้าจะมีลักษณะ broadband technology แบบของดาวเทียม (satellite) ซึ่งคนอยู่ในป่า คุณสามารถเล่นคอมพิวเตอร์ของคุณโดยใช้ดาวเทียมได้ เป็น boardband ที่สามารถสั่งได้ดั่งใจ (on-demand) ได้ เพราะฉะนั้น ฮอลลีวู้ดสร้างหนังเสร็จปุ๊บ เอาขึ้นดาวเทียมไปเลย สามารถยิงให้คนได้ดูทั้งโลก นี่คือความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1nGnl6MKCZ2gWKe5ZKDfLg/cdb0caa950b4e1e26be28e4062cae71a/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo06
Photo: thaksinofficial.com

ทุกอย่าง Smart หมด 

“ทุกอย่างจะเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ (intelligent) หมด ต่อไปเราจะเจอรถยนต์อัจฉริยะ บ้านอัจฉริยะ โทรศัพท์อัจฉริยะ ถนนอัจฉริยะ ทุกอย่าง smart หมด เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ smart ก็เหนื่อยหน่อย” 

ทุกอย่างเล็กลง แต่จะเปลี่ยนโลกอย่างรวดเร็ว 

“ต่อไปข้างหน้า ระบบเรดาร์ ระบบ GPS สามารถมีความแม่นยำ (accuracy) ถึงขนาดที่รถแทรกเตอร์จะสามารถไปไถนาได้เองโดยไม่ต้องมีคนคุมเรดาร์ที่ติดที่บ้านจะสามารถแยกออกระหว่างแมวกับคนได้ ทำให้ไม่เตือนตลอดเวลา มันจับ (detect) ได้ละเอียดขนาดนั้น ทำให้ทุกอย่างเล็กลง” 

Download จะเร็วขึ้นและถูกลง 

“พวก bible หรือ encyclopedia จะเข้าไปในอินเทอร์เน็ตหมด ไม่ต้องหอบหนังสือไปเรียน สามารถดึงมาจากอินเทอร์เน็ตได้ ต่อไปการ download จะรวดเร็วมากด้วย breakthrough new technology จะทำให้ speed เร็วขึ้นเป็น 100 เท่า และค่าใช้จ่ายในการ download จะถูกลง” 

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์จะสั้นลง 

“เรื่องของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (innovation-based economy) เป็นสิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดขึ้น แล้วก็คนทำมาหากินกับเทคโนโลยีจะต้องเข้าใจว่า วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (product life cycle) จะสั้นลงเรื่อยๆ 

“ดูอย่าง Sony (บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่นที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมในยุคนั้น เทียบเคียงได้กับ Samsung ยุคนี้--ผู้เขียน) ที่เขาคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ปีหนึ่งประมาณ 5,000 รายการ เพราะฉะนั้นการลงทุนทางเทคโนโลยี ความสามารถของมันคือ จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้นานที่สุดเท่าที่มันยังสามารถแข่งขันได้ การลงทุนเรื่องนี้เปลี่ยนเร็วก็เจ๊ง เปลี่ยนช้าก็เจ๊ง ดังนั้นต้องหาความพอดีให้ได้”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5w6DgOMiuqmf0paD0xU6r6/281fd4ed728cea1f63bcd4fe2439a442/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo07
Photo: Sony Walkman TPS-L2 เครื่องเล่นวิทยุพกพารุ่นแรก วางขาย ปี 1979
ไม่เพียงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ 

การจ้างงานจะเปลี่ยนไป 

“การจ้างงานก็จะเป็นลักษณะของพนักงานที่มีความรู้สูง (more white collar) และพนักงานที่ทำงานพาร์ตไทม์และจ้างแบบมีระยะเวลา คนคนเดียวจะทำงานหลายบริษัท อาจทำอยู่ที่บ้าน เป็น contract (กับบริษัทต่างๆ-ผู้เขียน) คนเดียวอาจจะทำ 3 ที่ มันอยู่ที่ความฉลาดของคุณ”

นายหน้าจะหมดอาชีพ 

“เศรษฐกิจข้างหน้าพ่อค้าคนกลางจะมีปัญหาครับ ถ้าพวกเขาไม่รู้จักคำว่าเพิ่มคุณค่า (add value) พวกเขาจบเลย ...อินเทอร์เน็ตจะทำให้นายหน้าหมดอาชีพเว้นแต่นายหน้านั้นจะเข้าใจวิธีเพิ่มคุณค่าให้สินค้า”

เราต้องเป็น Knowledge Economy 

“เราต้องเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ คือระบบการกระจายการตัดสินใจต้องลงไปยังระดับล่างให้มากที่สุด เพื่อให้คนที่มีความรู้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นกับข้อมูลที่มันไหลไป และจัดการกับระบบ กระบวนการ ภายใต้ระบบของ digital nervous system ที่มันเป็นไป จะต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ทางด้านนี้ให้มากขึ้น ต่อไปเรื่อง bits จะกลายเป็นสินค้าแล้ว เพราะมันดิจิทัลทั้งหมด bits becoming goods ทุกอย่างจึงเป็นสินค้าหมด อะไรก็แล้วแต่ ต้องแปลงได้เป็นดิจิทัลหมด” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1oCiUgnXMOieZHR3OVXvUs/5314edb7d1286719c6396cdbd15f4f80/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo08
Photo: บิล เกตส์ พูดถึงแนวคิด 'ปมประสาทดิจิทัล' (digital nervous system) ในหนังสือ The Speed of Thought ตีพิมพ์ปี 1999

เราจะได้ระบบการศึกษาใหม่ 

“มาดูเรื่องของสังคมภายใต้สังคมดิจิทัล เราจะได้อะไรขึ้นมาใหม่ แน่นอนคือระบบการศึกษาใหม่ ศูนย์การเรียนจะเริ่มเปลี่ยนจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากขึ้น การเรียนรู้จะเป็นลักษณะของการท้าทายอยู่ตลอดเวลา (life long challenge)” 

‘การทำงาน’ กับ ‘การเรียน’ จะเป็นสิ่งเดียวกัน 

“เรื่องของการทำงานกับการเรียน เริ่มจะกลายเป็นสิ่งเดียวกันและในเวลาเดียวกัน เรียนไปทำงานไป (working and learning become the same thing at the same time)”

“สรุปแล้วคนทำงานต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ดิจิทัลมีเดียใหม่ๆ ก็จะทำให้มีการเปลี่ยนเรื่องของการศึกษาเป็นการศึกษาทางไกล โลกทั้งโลกกลายเป็น one campus ต่อไปข้างหน้ามหาวิทยาลัยอาจจะลงทะเบียนข้ามกันได้ โอนหน่วยกิตได้ เช่น ลงทะเบียนที่จุฬาฯ อาจจะเข้าชั้นเรียนที่ฮาวาร์ดบางส่วน ตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า”

ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยจะมากขึ้น 

“ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยจะมากขึ้นในสังคมข้อมูลข่าวสาร เพราะโอกาสของการเข้าถึงข้อมูลจะต่างกัน ผมจึงได้บอกว่าผมจะทำอินเทอร์เน็ตระดับตำบล 7,000 ตำบล ถ้าได้ผลดี ผมจะลงถึงหมู่บ้าน ซึ่งมีแค่ 70,000 เอง รัฐบาลไปอุดหนุนแบงก์เจ๊งตั้งเยอะได้ ทำไมใช้ตรงนี้ไม่ได้ ต้อง modenize ประเทศให้ได้”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7cyEaZCiUlpXN1nQ3GY1Ry/bf7cbf66d299936cda4345b60782e06c/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo09
Photo: อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่สิงคโปร์ ปี 1999. (Photo: AFP)

ความสำคัญของ Analytical Power 

“อนาคตข้างหน้า ผมอยากบอกว่าคนหนุ่มอย่างพวกท่านที่เล่นอินเทอร์เน็ตอย่างเก่งอย่างเชี่ยวชาญ การแข่งขันที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ใครมีข้อมูลมากกว่ากันนะครับ มันเลยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือ ใครจะสามารถเลือกและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นได้ดีกว่ากัน”

“ใครที่บอกว่าข้อมูลคืออำนาจ (information is power) บอกแค่นั้นจบ ไม่ใช่แล้วนะครับ” 

“อัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler - นักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน) เขียนหนังสือเล่มนี้ไว้นานมากแล้ว วันนี้มันขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือเรื่องของความเร็ว ซึ่งต้องเริ่มด้วยการเลือกและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจะนำมาใช้เป็นอำนาจในการวิเคราะห์ เป็นจุดที่สำคัญมากที่จะทำให้คนเก่งกว่ากัน หรือเหนือกว่ากัน หรือช่วงชิงอะไรได้ก่อนกัน”

การเปลี่ยนแปลงจะมีมากขึ้น 

“การเปลี่ยนแปลงจะมีมากขึ้น สมัยก่อนคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่มาก แพงก็แพง ทำงานก็ช้า สมัยนี้ PC เก่งเหลือเกิน ซอฟต์แวร์เก่งๆ เยอะ ดู Linux (ระบบปฏิบัติการแบบ open source software มีการพัฒนาแจกจ่ายให้คนใช้งานฟรี) สิครับ เขาให้ช่วยกันออกแบบทั่วโลก Linux มันเกิดมาจากเด็กชาวฟินแลนด์คนหนึ่งคิดขึ้นมา คล้ายๆ กับ Windows ของ Microsoft เด็กคนนี้ก็เอาใส่เข้าไปในอินเทอร์เน็ต ทุกคนก็เข้าไปช่วยแก้กันใหญ่แล้วเอาไปใช้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/49SMLOhD1sxhahv9F4pC6h/cc79b894a48bb4c682105928fb9cca9d/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo10
Photo: ปกกล่องโปรแกรม Linux เมื่อปี 1999

ความท้าทายต่อเด็กไทย 

“ผมเองคิดว่า เด็กไทยวันนี้หลายคนสามารถจะมีความคิดเหนือกว่าระบบการศึกษาของไทยที่จะรองรับเขาได้ บางทีพ่อแม่อาจจะมองว่าเด็กคนนี้มันประหลาด แต่ความจริงแล้วเขาหัวไบรต์ ต่อไปโลกข้างหน้าเขาแข่งกันที่สมองนะครับ โลกข้างหน้าจะถูกบังคับให้มีความโปร่งใส (transparency) สูง แล้วจะถูกบังคับให้เสรี เพราะฉะนั้นการแข่งขันจึงเปิดให้ทุกคน access เข้าสู่ข้อมูลได้ทุกอย่าง เราจึงต้องพยายามท้าทายเด็กไทยให้ใช้สมองอย่างเต็มที่”

ช่วงหนึ่งของการอภิปราย ทักษิณหล่นความคิดไว้ว่าคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวจะถาโถมในศตวรรษ 21 อย่างแน่นอน 

เพราะฉะนั้นอย่าต่อต้านความเปลี่ยนแปลง 


“ผมอาจจะพูดอะไรที่เร็ว แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มาแน่นอน เราต้องเปลี่ยนเองก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยน (Change before you are forced to change) อย่าไปต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ต้องพยายามขี่บนจรวดลำนี้ให้ได้” 

“ไม่ใช่พอเห็นจรวดมาไปด่าจรวด ไม่ได้นะ ต้องขึ้นขี่เลย เราจะได้ไปเร็วด้วย ขี่แล้วก็ต้องเกาะให้แน่น ประเดี๋ยวจะร่วง” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7iwHEZ0RzrHnFJ7FvySMTR/fbb74a054b6c3a13d3382dbc62eced71/Thaksin-futurist-Y2K_-SPACEBAR-Photo11
Photo: ทักษิณ ชินวัตร เมื่อพ.ศ.2548 หลังโลกผ่านยุค Y2K ไปแล้ว 5 ปี. (Photo: AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์