เหตุผลที่ ‘เงินบาท’ คือสกุลเงินที่แกร่งที่สุดในโลก

16 ก.พ. 2566 - 09:29

  • เงินบาทความมีความยืดหยุ่นที่สุดในโลกและแข็งแกร่งที่สุด เพราะผ่านอะไรมามากมาย

  • สิ่งที่เงินบาทและเศรษฐกิจไทยเรียนรู้จากความเจ็บปวด คือความมั่นคงในเวลานี้ 

The-reason-why-thai-baht-is-an-indestructible-currency-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2023 เว็บไซต์ของ Financial Times มีบทความทัศนะที่เขียนโดย Ruchir Sharma นักลงทุน นักเขียน และประธานของ Rockefeller International ซึ่งเขาประกาศว่า "เงินบาท ... เป็นสกุลเงินที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดในโลก" (world’s most resilient currency) โดยชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการเงินระหว่างปี 1997 - 1998 เงินบาทได้คืนชีพขึ้นมากลายเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพในระยะยาว 

นอกจากเงินบาทจะมีเสถียรภาพอย่างมากแล้ว เขายังบอกว่า "ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพทางการเงินแม้ว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐธรรมนูญใหม่ 4 ฉบับในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา"  

ในทัศนะของ Ruchir Sharma ความมั่นคงเกิดขึ้นมาได้จากความเคร่งครัดด้านนโยบายเศรษฐกิจ (economic orthodoxy หรือ Neoclassical Economics) ซึ่งตัวเขาน่าจะสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย ถึงได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทย คือ "กรณีศึกษาในด้านบวกของแนวคิดความเคร่งครัดด้านเศรษฐกิจ" 

ความเคร่งครัดด้านนโยบายเศรษฐกิจ คือ ก่อหนี้สาธารณะให้น้อยเข้าไว้ ซึ่งไทยน้อยมาก อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมาก ผลก็คือ เงินเฟ้อต่ำ เงินบาทมีความมั่นคง แต่ผลด้านลบคือ เศรษฐกิจจะโตช้า (ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงโตน้อยกว่าที่อื่น) แต่มันก็โตช้าๆ แบบมั่นใจ 

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่หวือหวาเหมือนเมื่อก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่มันมีคุณสมบัติในการต้านทานภัยคุกคาม (resilient) สูงมาก หรืออย่างที่ Ruchir Sharma บอกว่า สูงที่สุดในโลก คุณสมบัตินี้ได้มาฟรีๆ แต่เกิดเพราะ "เจ็บแล้วจำ" จากวิกฤตต้มยำกุ้ง และรวมถึงวิกฤตการเมืองที่ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งอย่างหลังนี้แม้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่น้อย แต่จนแล้วจนรอดมันก็ไม่ได้แรงถึงขนาดทำให้เศรษฐกิจไทยพังพินาศลงได้   

นอกจากวิกฤตการเมืองที่ลากยาวตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000s เมื่อตอนที่เกิดการรัฐประหารครั้งล่าสุด มี "กูรูเศรษฐกิจ" ต่างชาติมองว่าประเทศไทยมาถึงกาลอวสานแน่นๆ และไทยต้องกลายเป็น "คนป่วยแห่งเอเชีย" รายต่อไป แต่ปรากฎว่าไทยยังไปต่อได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนบางประเทศที่ถูกมองว่าเป็นความหวังที่จะมาแทนที่ไทย ตอนนี้ก็ยังคลานต้วมเตี้ยมเหมือนเดิม  

สิ่งทีททำให้ไทยยืดหยุ่นอยู่ได้ มีสองอย่าง คือ หนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจที่เคร่งครัด และ สอง รายได้จากการท่องเที่ยวที่มั่นคงและสูงมาก รวมถึงตัวเลขการค้าของไทยที่เคยสูงถึง 110% ของ GDP ในปี 2019 หรือหนึ่งปีก่อนการระบาดของโควิด 

หลังจากนั้นไทยก็เจอเข้ากับโควิด เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่เจ็บปวดกับมัน แต่เศรษฐกิจไทยก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง พร้อมกับความการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่เริ่มหยั่งราก ตั้งแต่เศรษฐกิจและการเงินดิจิทัลไปจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 

ประสบการณ์ของความเจ็บแล้วต้องจำของไทย ทำให้ไทยมีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี คือภูมิคุ้มกัน Ruchir Sharma บอกว่า เงินบาทนั้นสามารถ "เอาชนะความท้าทายต่างๆ ที่ฟรังก์สวิสไม่เคยเผชิญมาก่อน" นั่นเพราะเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์มั่นคงมาก แต่มันก็มั่นนคงเสียจนไม่เคยเจอปัญหา ซึ่งหมายความว่าถ้าเกิดอะไรรุนแรงขึ้นมามันอาจจะสอบไม่ผ่าน หรือไม่ resilient ซึ่งมีความหมายได้ทั้งมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ หรือมีความแข็งแกร่งต่อภัยคุกคามใดๆ 

ที่ผ่านมา คำว่า resilient ไม่ได้ถูกใช้กับเงินบาทเท่านั้น แต่ก่อนเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจไทย มักจะมีคำนี้พ่วงมาด้วย เพื่อบอกว่าเศรษฐกิจไทยนั้น “ฆ่าไม่ตาย” เพราะล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาได้ เจอวิกฤตสาหัสขนาดไหนก็แค่บอบช้ำ แล้วก็กลับมาปกติอีกครั้ง อาจจะโตช้า แต่ว่าจะไม่เสี่ยงพังเอาง่ายๆ อีก  

เศรษฐกิจบางประเทศนั้นไม่ resilient/resilience เอาเลย เช่น อาร์เจนตินา ดูอย่างประเทศไทยเรา เคยผ่านวิกฤตแบบอาร์เจนตินามาแล้วทั้งด้านการเงินและวิกฤตการเมืองแบบประชานิยม แต่ไทยผ่านพ้นหายนะเลหั้นมาได้ เพราะมีความ resilience สูง ขณะที่อาร์เจนตินาไม่ได้มีคุณสมบัตินี้เอาเลย ตอนนี้อาร์เจนตินาจึงยังจอยู่ในนรกคนเป็นที่เกิดจากเศรษฐกิจที่พังพินาศ เงินเฟ้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และค่าเงินที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 

คุณสมบัติที่ทั้งแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของเงินบาทเป็นเรื่องที่หลายๆ คนไม่ได้สังเกต เพราะมันคงเป็นเรื่องไกลตัวไปหน่อยสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ที่ยังรู้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้อะไร เงินบาทจะแกร่งแค่ไหนก็ไม่สำคัญ 

แต่คงรู้สึกใกล้ตัวกว่า ถ้าจะบอกว่าเพราะความแกร่งของเงินบาทนั่นแหละ ที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่พังพินาศไปกว่านี้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์