เคล็ดลับแก้หนี้ ‘ไม่หืดขึ้นคอ’ เช็กเลย!

5 พ.ค. 2566 - 02:24

  • เป็นหนี้ ไม่น่ากลัว แบงก์แนะ สร้างวินัยการเงิน

  • พร้อมวางแผนบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อ ‘ไม่เป็นภาระ’

Debt-Financial-Credit-Cards-money-management-SPACEBAR-Thumbnail
‘หนี้’ ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว การที่คนเราเป็นหนี้ เพราะต้องการเงินมาช่วยปิดปัญหาบางประการ ณ ขณะหนึ่ง เช่น นำเงินมาเสริมสภาพคล่องเมื่อเงินขาดมือ, นำมาต่อยอดลงทุนกิจการน้อยใหญ่ และหรือนำมาเป็นสะพานช่วยให้เรา ‘มีทรัพย์สิน’ ซึ่งเมื่อเราก่อหนี้แล้วหน้าที่สำคัญหลังจากเป็นหนี้ ก็คือ ต้องบริหารจัดการ เพื่อเคลียร์หนี้ที่ก่อขึ้น 

ทำความรู้จัก ‘หนี้’ 

‘หนี้’ มีทั้งที่อยู่ในระบบ และนอกระบบ โดยใครที่เครดิตไม่ดี หรือสถาบันการเงินพิจารณาแล้วไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างรอดปลอดภัย ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้บุคคลเหล่านี้ อาจต้องพึ่งพา เงินกู้นอกระบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะกู้รูปแบบไหน สิ่งสำคัญคือ ‘ผู้กู้’ ต้องชำระหนี้ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ และก็มีหลายรายที่ไม่สามารถชำระได้ กลายเป็นปัญหาวนหลูบกลับมาให้ต้องแก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยแม้ภาครัฐ จะพยายามช่วยเหลือ เพื่อจัดการหนี้ครัวเรือนของประเทศ ให้ค่อยๆ ลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถนำหนี้ของประชาชน มาเข้าระบบทั้งหมดได้  

แก้หนี้ เริ่มต้นอย่างไร? 

แน่นอนว่า ผู้รู้ตั้งแต่หน่วยงานนโยบายการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ต่างแนะวิธีการแก้หนี้ เพื่อให้ประชาชนนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะ ‘การรวมหนี้’ ให้มาอยู่ก้อนเดียวกันและตั้งหน้าตั้งตารับผิดชอบ แต่กฎเหล็กที่สำคัญคือ ‘วินัยและการวางแผน’ เพราะเมื่อรู้รายรับ-รายจ่ายแล้ว ก็สามารถบริหารหนี้ที่มี อย่างปลอดภัยได้... แล้วมีวิธีไหนบ้าง? 

5 ขั้นตอนแก้หนี้-วางแผนปลดหนี้ให้หมดไว  

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจตัวเอง 
ก่อนเราจะตัดสินใจรวมหนี้ เราอาจจะต้องเริ่มสังเกตตัวเองก่อนว่า เรามีหนี้สินชนิดไหนบ้าง เป็นหนี้ใคร-ด้วยจำนวนเท่าไหร่ นำมารวมกัน เพื่อรู้ยอดหนี้สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเงินต้น-ดอกเบี้ย  

ขั้นตอนที่ 2 วางแผนการปลดหนี้ 
ในการวางแผนปลดหนี้นั้น มีวิธีเริ่มจากการ เรียงลำดับหนี้เจ้าปัญหา ซึ่งคำนวณจาก ‘เจ้าหนี้ดอกเบี้ยสูงสุด ไล่เรียงไปถึง เจ้าหนี้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด’ 

เมื่อได้แล้ว ก็หาทางแก้หนี้โดยการรวมหนี้ และขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่มี แต่หากรวมหนี้แล้วยังไม่สามารถผ่อนไหวตามจำนวนเงินที่สถาบันการเงินให้ชำระ เราจำเป็นจะต้องแจ้งรายละเอียด เพื่อให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือ ซึ่งสถาบันการเงินจะช่วยหาทางแก้หนี้ให้เราอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากสถาบันการเงินก่อน ดังนั้น จึงอาจต้องมี ‘แผนสำรอง’ เริ่มปลดจากเจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยมากสุดก่อน เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยรองลงมาจนหมดสิ้น 

ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ 
เมื่อตั้งมั่นหนทางแก้หนี้แล้ว ก็ควร ‘ลงมือทำตามแผน’ เพื่อหมดหนี้ได้จริงตามระยะเวลา และในขณะเดียวกัน หากพอมีเวลาหารายได้เพิ่มก็จะช่วยย่นระยะเวลาในการปลดหนี้ได้สั้นลงอีกด้วย  

ขั้นตอนที่ 4 เพิ่มตัวช่วย ‘ปลดหนี้’ 
ตัวช่วยแก้หนี้ที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของรายได้เสริม เราอาจจะเริ่มมองหารายได้ที่เราไม่จำเป็นต้องลงทุนหนัก และไม่กระทบกับการงานหลักของเราด้วยเช่นกัน อย่างการขายของออนไลน์ รับงานฟรีแลนซ์ เพราะแน่นอนว่ายิ่งรายรับเรามากเท่าไหร่ เรายิ่งมีกำลังจ่ายได้มากขึ้นเท่านั้น 

ขั้นตอนที่ 5 บัตรเครดิต รู้ใช้ ให้ประโยชน์ 
ว่ากันว่า หนี้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นง่าย คือ ‘หนี้บัตรเครดิต’ แต่หากรู้ความสามารถในการจ่ายคืน ใช้เท่าที่จำเป็น การใช้บัตรเครดิตก็มีประโยชน์มาก แถมยังให้ความคุ้มค่าด้านอื่นอีกด้วย เพียงแต่ต้องศึกษาให้เข้าใจเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ‘วินัยการเงิน’ เป็นเรื่องสำคัญ และทุกคนก็สามารถสร้างวินัยทางการเงินได้ง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอน คือ 
  • สร้างเป้าหมายทางการเงิน ‘ที่ชัดเจน’ เช่น ปลดหนี้หมดแล้ว ตั้งเป้า ‘ซื้อบ้านต่อ’  
  • บันทึกค่าใช้จ่าย ตัวช่วยสำคัญ เพื่อไม่ให้ก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว 
  • แบ่งเงินการใช้จ่าย เป็นสัดส่วนชัดเจน เช่น ค่าอาหารต่อมื้อ-ต่อวัน เผื่อเหลือเผื่อขาด, ค่าใช้จ่ายประจำเดือน, ถ้ายังพอเหลือ จะกันเงิน เพื่อสินค้าฟุ่มเฟือยบ้าง ก็ย่อมได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนชัดเจน ก็เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราเองมีเงินเท่าไร? เหลือเก็บเท่าไหร่? และเรามีเงินพอที่จะนำไปลงทุนต่อยอด  
รู้อย่างนี้แล้ว...หนี้ ก็ไม่ใช่ปัญหา ที่จะจัดการไม่ได้อีกต่อไป 

รวมช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ non - bank คลิกที่นี่ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์