ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค. - มี.ค.) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 272 ราย เพิ่มขึ้น 53% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 205 ราย เงินลงทุนรวม 47,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 1,605 คน เพิ่มขึ้น 90% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ของไตรมาสแรก ปี 2568 ได้แก่
- ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท
- จีน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท
- ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ในไทยในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้กับคนไทย อาทิ องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับสถานีจัดประจุไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการเชื้อเพลิงอัจฉริยะ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมจัดการคลังสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ จำนวน 88 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 57% มีมูลค่าการลงทุน 24,234 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท จีน 22 ราย ลงทุน 3,685 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 30ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (แม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน เป็นต้น