กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และตลาดทุนและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพได้เสนอข้อมูลและแนวทางกรณี Moody’s ปรับสถานะประเทศไทยเป็นเชิงลบ ผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/kobsak มีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
ถอดรหัส Moody’s เกี่ยวกับประเทศไทย ข่าวที่ทุกคนสนใจเมื่อคืนนี้ คงไม่พ้นการลด Outlook ของไทยจาก Stable มาเป็น Negative ซึ่ง Moody’s เป็นเจ้าแรกใน 3 Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทย ในรอบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัยยะ เพราะสำหรับ Moody’s นั้น Negative Outlook เป็นก้าวแรก ที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต เป็นการเตือนประเทศไทย
ส่วนอีก 2 เจ้าใหญ่ที่เหลือ คือ S&P และ Fitch Ratings การประกาศของ Moody’s จะเป็นการกระตุ้นให้อีกสองเจ้าต้องเริ่มกลับมาดูข้อมูลโดยละเอียดอีกรอบ และทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามหรือไม่
ที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือ Outlook ของไทย Moody’s ชี้แจงว่า มาจาก ‘risks that Thailand’s economic and fiscal strength will weaken further’
ความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้ ซึ่งมาจาก นโยบาย Tariffs ของสหรัฐที่กำลังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก ที่จะกระทบต่อมาที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศมาก
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าหลังจากชะลอไป 90 วัน ไทยและประเทศต่าง ๆ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเท่าไรทั้งหมดนี้ จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ไทยมีก่อนหน้าอยู่แล้ว คือ การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเทียบกับคนอื่น ๆ หลังจบปัญหาเรื่องโควิด และปัญหาการลดลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เราโตช้าลงเรื่อย ๆ
ที่ Moody’s กังวลใจก็คือ ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐในการส่งออก และจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาคหากเศรษฐกิจไทยโตช้าลงกว่านี้อีก จากความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบไปที่สถานะภาคการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ช่วงโควิด ให้แย่ลงไปจากเดิม
ดังนั้น จึงให้มุมมอง Negative กับไทยแต่ที่น่าสนใจก็คือ การปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป เป็นการเตือนว่า ‘จับตามองแล้วนะ’ และ ‘มีความเสี่ยง’
ในอดีต ช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008 ก็เคยลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่เมื่อเราผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้ 2 ปีให้หลังก็ปรับมาเป็น Stable อีกครั้งในรอบนี้เช่นกัน Moody’s บอกว่า Outlook เปลี่ยนได้ถ้าไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าที่เขาคาดไว้ในใจอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้สถานะการคลังไทยดีขึ้น หมายความว่า ถ้าเราขาดดุลการคลังได้น้อยลง และเป็นหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลดลง จากเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่อง เขาก็จะกลับไปที่ Stable ได้
ขณะเดียวกัน Moody’s เตือนว่าNegative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก
- เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปกว่านี้ ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำไปกว่านี้ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ รวมทั้งจาก ความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกจากนโยบายสหรัฐ
- หรือ
- ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป ทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทย
ทั้งหมด เป็นการเตือน และแจ้งว่า Moody’s กังวลใจมองอะไรอยู่ และเขาอยากเห็นอะไร
หน้าที่ของเราก็คือ เร่งแก้ไข ปรับปรุงตนเองซึ่งคงต้องทำ 3 เรื่อง
- ไม่ทำในสิ่งที่เขากังวลใจ
- เตรียมการให้เศรษฐกิจไทยผ่านมรสุมจาก President Trump ไปได้ พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
- มุ่งสร้างอนาคตที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ Moody’s อยากเห็นจริงๆ คือ ศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3-4% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า เราต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นโซ่ถ่วงประเทศ และที่สำคัญสุดคือ แก้ไขเรื่องการพัฒนาคนของไทย
ทั้งหมดนี้ เราทำได้ ถ้าเราตั้งใจพอ