วานนี้ (7มี.ค.68) มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมท่าอากาศยาน ได้เดินทางมาตรวจราชการดูปัญหาการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานตรังที่ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการทิ้งงานจากผู้รับจ้าง เลื่อนการเปิดใช้อาคารใหม่มาเรื่อย ๆ จนถึงปี 2568
โดยผู้รับจ้างคู่สัญญากับกรมท่าอากาศยานและกระทรวงคมนาคมคือบริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม)จำกัด สัญญางาน 26 ก.ย.2562ถึง 13 มี.ค.2565 แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ กรมท่าอากาศยานและกระทรวงคมนาคม ได้ขยายสัญญางาน ถึงวันที่ 7 ต.ค.2566 อัตราค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2567 งานก็ไม่แล้วเสร็จที่จะส่งมอบงานให้ทางกรมท่าอากาศยานได้
กรมฯ พยายามได้เปิดเจรจาให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานที่เหลือให้แล้วเสร็จเพราะเหลืองานประมาณ 1.66% มีการดำเนินงานมาแล้ว 98.340% ยังมีเงินงบประมาณที่ยังไม่เบิกประมาณ 34 ล้านบาทเศษ ช่วงแรกรับปากจะเข้าทำงานต่อ แต่คู่สัญญาไม่ยอมเข้าทำงาน จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่กรมฯ จะต้องเลิกสัญญาจ้างไป เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประเมินความเสียหายและจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้าดำเนินการ ปัญหาการทิ้งงาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้า การลงทุน การขนส่งทางอากาศและการท่องเที่ยวกับจังหวัดตรังเป็นอันมาก อีกทั้งท่าอากาศยานตรัง จะมีผู้ที่อยู่พื้นที่ พัทลุง สตูล มาใช้ท่าอากาศยานตรัง จากปัญหาดังที่กล่าวมานางมนพร เจริญศรี รมช.มนาคมจึงต้องเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี


สำหรับท่าอากาศยานตรังได้รับงบประมาณจากรัฐบาล คสช.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้งบประมาณผูกพันกว่า 4,300 ล้านบาท มีการก่อสร้าง 3 โครงการ คือ
โครงการที่1 ลานจอดอากาศยานใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา สามารถจอดเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 และ แอร์บัส 320-200 พร้อมกัน 10 ลำ
โครงการที่2 อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท โดยเป็นอาคารเดียวแยกส่วนผู้โดยสารในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา มีการทิ้งงานจากผู้รับจ้าง
โครงการที่3 ขยายทางวิ่งของเครื่องบินหรือ รันเวย์ จากทที่มีความยาว 2,300 เมตร ทางกระทรวงคมนาคมโดยอาคม เติมพิทยาไพสิษ รมว.คนาคม รัฐบาลคสช.เดินทางมาตรวจราชการ ให้งบประมาณในการก่อสร้างเพื่อขยายความยาวทางวิ่งให้ได้ 2,990 เมตร ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างรันเวย์ก็ต้องหยุดชะงักไปเมื่อการจ่ายค่าเวนคืนให้กับประชาชนยังไม่แล้วเสร็จ จากนั้นรัฐบาลให้งบผูกพัน ขยายความยาวรันเวย์ 1,800 ล้านบาท แต่การก่อสร้างหยุดชั่วคราวเพราะต้องรอให้กรมฯ จ่ายเวนหรือเจรจาซื้อที่ดิน จ่ายค่าอาสินให้แล้วเสร็จ โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 868,861,600.บาท บนเนื้อที่ 547ไร่ ขณะนี้มีประชาชนอุทธรณ์เพื่อขอรับราคาที่ดิน ที่มีการประเมินราคาค่าใหม่ โดยมีราคาสูงขึ้น กรมและกระทรวงตั้งงบอีก 606 ล้านบาท โดยทางกรมตั้งงบปี 69 และ 70

รมช.คมนาคม หลังจากตรวจอาคารหลังใหม่ที่มีการทิ้งงานไป ได้เปิดเผยกับสเปซบาร์ ว่า จากการฟังรายงานสรุปของกรมท่าอากาศยานเกี่ยวกับอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และจากการตรวจอาคารในครั้งนี้ ทางกรมฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาในการยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายเดิม ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการทำงาน ทางกรมฯ จะต้องยึดเงินประกันสัญญางาน 53 ล้านบาท ซึ่งต้องส่งคืนสำนักงบประมาณก่อน กรมไม่สามารถนำเงินประกันสัญญางานมาใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีเงินกองทุนที่จะมาแก้ปัญหาให้ทางกรมฯ สามารถดำเนินให้งานแล้วเสร็จเปิดใช้ท่าอากาศยานตรังได้ หลักปฏิบัติตอนนี้คือ เปิดใช้สนามบินให้เร็ว และยึดเงินประกันสัญญา เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ และในเดือนมีนาคมนี้ จะต้องจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ที่เป็นลักษณะการเจรจาเจาะจง เพื่อให้งานแล้วเสร็จ สามารถเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เส้นทางบินภายในประเทศ ได้ทันในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม
ส่วนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวทางกรม ท่าอากาศยาน ได้ประสานให้กรมการขนส่งทางบกมีการเชื่อมเส้นทางเดินรถโดยสารระหว่างสนามบินเข้าไปยังตัวเมืองและต่างจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารที่จะใช้ท่าอากาศยานตรัง
ส่วนในเรื่องของการขยายรันเวย์ จากเดิมทีความยาวของทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง 2,300 เมตร จะต้องมีการขยายออกไป ให้มีความยาว 2,990 เมตร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจ่ายค่าเวนคืนให้กับเจ้าของที่ดินบริเวณที่มีการเวนคืน ซึ่งก่อนหน้านี้กรมท่าอากาศยานและตั้งงบไว้ 868 ล้านบาทเศษในการจ่ายค่าเวนคืน แต่เมื่อมีการประเมินราคาที่ดินของสำนักงานที่ดินใหม่พบว่าราคาที่ดินสูงขึ้นดังนั้น ทางกรมต้องตั้งงบอีก 606 ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมและจ่ายค่าเวนคืนให้แล้วเสร็จก่อนปี2570 เพื่อให้สามารถเพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ให้แล้วเสร็จ

สิทธิชญาน์ ชลวิศิษฎ์ เลขาหอการค้าตรัง เปิดเผยว่า จากการประชุมภาคเอกชนก็คลายความกังวนลงไปมาก อยากให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็วและเปิดใช้อาคารหลังใหม่เพื่อรับรองการเดินทางทางอากาศ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้จะมีต้องการประชุมกันหลายฝ่ายในการวางแผน พร้อมกับรอคณะกรรมการหอการค้าตรังชุดใหม่ที่จะประชุมปลายเดือนมีนาคมนี้

