ปี 2567 ธุรกิจขนส่งสินค้า 1.15 แสนล้านบาท ถือเป็น ‘Red Ocean’ แต่ ทำไม ? ‘มิสเตอร์ บี เดลิเวอรี่’ ถึงคิดว่าจะสู้ไหว !
เมื่อพูดถึงธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในปี 2567 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจหลายเจ้าฟันธงว่าเป็น ธุรกิจดาวรุ่ง โดยภาพรวมูลค่าธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เคยประเมินว่ามีมูลค่ามูลค่า 1.15 แสนล้านบาท สอดคล้องกับ วิจัยกรุงศรี ที่ระบุว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนเติบโตเฉลี่ย 3-5% ในช่วงปี 2565-2567
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูผลประกอบการ ย้อนหลังของผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ในตลาดโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่แจ้งกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าผลประกอบการในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมาล้วนขาดทุน เช่น ‘บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส(ประเทศไทย)’ หรือ KEX ในปี 2565 แม้จะมีรายได้สูงถึง 17,145 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,829 ล้านบาท รวมถึงไตรมาส 2 ของปี 2566 ก็ยังมีสถานะขาดทุนถึง 1,047 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ ‘แฟลช เอ็กซ์เพรส’ ผลประกอบการในปี 2565 รายได้ 14,805 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,186 ล้านบาท รวมถึง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท ทำให้แม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การจะบริหารธุรกิจโลจิสติกส์ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้มีผู้ประกอบการหลายเจ้าอาจจะลังเลที่จะก้าวเข้ามาสู่การแข่งขันในธุรกิจที่เป็น ‘Red Ocean’ ถ้าสายป่านไม่ยาวจริง อาจจะต้องพับเสื่อกลับบ้านไปก่อน

ย้อนไป 6 ปีก่อน 'แบงก์ จักรพันธ์ สุจริตฉันท์' Founder และ CEO ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ ‘Mr.Bee Delivery’ เริ่มลองผิด ลองถูก จนวันนี้กล้าประกาศว่าสามารถสร้างจุดยืนในวงการขนส่งสินค้า โดยเน้นทำการบริการในรูปแบบ B2B2C หรือ Business-to-Business-to-Customer หมายถึง การทำธุรกิจระหว่างเจ้าของธุรกิจสู่เจ้าของธุรกิจและเอื้อให้เจ้าของธุรกิจขายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค
ยกตัวอย่าง หนึ่งในลูกค้าของ Mr.Bee Delivery คือ JIB ร้านปลีกสินค้าไอที และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 154 สาขา โดย ‘Mr.Bee Delivery’ จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการออเดอร์ จัดเก็บสินค้าในสต็อก จัดเตรียมสินค้า หรือ แพ็คสินค้า ส่งของ และเก็บเงินให้ผู้ประกอบการแบบครบวงจร

‘แบงก์ จักรพันธ์ จาก คนส่งอวัยวะเทียม สู่ ผู้ก่อตั้ง ‘Mr.Bee Delivery’
‘แบงก์ จักรพันธ์ สุจริตฉันท์’ ผู้ก่อตั้ง ‘Mr.Bee Delivery’ เล่าที่มาในการก่อตั้ง Mr.Bee Delivery ว่า คุณแม่ของเขาเป็นข้าราชการทำงานอยู่ในกรมศุลกากร ทำให้เขาคลุกคลีกับวงการชิ้ปปิ้งมาตั้งแต่เด็กๆ พอเรียนจบปริญญาตรี ก็เข้าทำงานในบริษัทโลจิสติกส์ และมีประสบการณ์ขนส่งสินค้านานถึง 20 ปี
ผมเคยเป็นคนขับโฟล์คลิฟท์ในธุรกิจขนส่ง และทำงานอยู่ในบริษัท DKSH ทำหน้าที่ขนส่งอวัยวะเทียม เช่น ต้องส่งอวัยวะเพื่อผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม เป็นสินค้าที่สำคัญกับชีวิต ต้องแข่งขันกับเวลา ทำให้มีประสบการณ์เรื่องการทำเวลา เลยนำคอนเซ็ปต์นี้มาสร้างแบรนด์ให้ ‘Mr.Bee Delivery’ ใส่ใจ ส่งเร็ว ดูแลธุรกิจคุณ เหมือนธุรกิจเรา
แบงก์ จักรพันธ์ สุจริตฉันท์’ Founder และ CEO ‘Mr.Bee Delivery’
‘Mr.Bee Delivery’ ชี้ เห็นช่องว่างในตลาด พร้อม วางจุดยืนเป็น ‘โลจิสติกส์ครบวงจร’
‘แบงก์ จักรพันธ์ อธิบายย้ำว่า ‘Mr.Bee Delivery’ เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ทำ 5 ขั้นตอนนี้ คือ 1.การบริหารจัดการออเดอร์ 2.จัดเก็บสินค้าในสต็อก 3.จัดเตรียมสินค้า หรือ แพ็คสินค้า 4.ส่งของ 5.เก็บเงินแทนผู้ประกอบการ

ข้อดี คือ ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้กับแม่ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะแม่ค้าออนไลน์มือใหม่ ที่ต้องการสร้างแบรนด์ และต้องการส่งสินค้าให้ตรงเวลา สินค้าไม่เสียหาย นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Go Wholesale ในเครือเซ็นทรัล ให้ ‘Mr.Bee Delivery’ เข้าไปดูแลเรื่องการขนส่งสินค้าให้ด้วย

จุดแข็งของ ‘Mr.Bee Delivery’ เข้าใจ ใส่ใจ แม่ค้าออนไลน์ ให้ความสำคัญกับการส่งตรงเวลา กทม.ภายใน 2-3 ชม. เร็วกว่า 20 % มีค่าบริการสูงกว่าเจ้าอื่นในตลาด ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใช้บริการเป็นสินค้าตลาดกลางขึ้นบน ลูกค้ายอมจ่ายในราคาที่สูงกว่า แลกกับคุณภาพและเวลาที่ควบคุมได้
เขายังให้ความสำคัญถึงค่าตอบแทนของพนักงานขนส่งสินค้า หรือ ไรเดอร์ บางคนมีรายได้รวมถึง 50,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากผู้ก่อตั้งธุรกิจเคยเป็นผู้ปฏิบัติงาน จึงพยายามสร้างระบบให้ผู้บฏิบัติงานเกิดความภูมิใจในการทำงาน และค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ซึ่งสิ่งนี้ยังสะท้อนผ่านคุณภาพการบริการของพนักงานไปยังลูกค้าอีกด้วย
‘Mr.Bee Delivery’ ล้ม ลุก คลุก คลาน มา 6 ปี กว่าจะตั้งหลักได้ – ตั้งเป้า 67 โตเกิน 100 %

การตั้งบริษัทตอนแรก มันค่อน ข้างล้ม ลุก คลุก คลาน ด้วยความใหม่ของ e commerce ซึ่งยังมีคนรู้ไม่มาก ทำให้ประสบสภาวะขาดทุน ผู้ถือหุ้นท่านอื่น ถอนตัวออก และจดบริษัทขึ้นมาใหม่ [บริษัท มิสเตอร์บี (ไทยแลนด์) จำกัด] แต่ผมเชื่อว่า ธุรกิจนี้ มันจะสำเร็จ อดทน แก้ปัญหามาเรื่อยๆ จนช่วงปี 2564 รายได้ 9 ล้านบาท แต่ยังขาดทุน 3 ล้านบาท หลังจากนั้น เพียงแค่ 2 ปี รายได้ ในปี 2566 เรามีรายได้เติบโตขึ้นกว่า 27 ล้านบาท และในปี 2567 เราตั้งเป้าโตเกิน 60 ล้านบาท
แบงก์ จักรพันธ์ สุจริตฉันท์’ Founder และ CEO ‘Mr.Bee Delivery’
แบงก์ จักรพันธ์ สุจริตฉันท์ เล่าย้อนว่า 6 ปีที่ผ่านมา ล้ม ลุก มาหลายรอบในการทำธุรกิจ จนทำให้ผู้ถือหุ้นช่วงแรกตัดสินใจถอนตัวออกไป ธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อ เขาก็ใช้ทุกวิถีทางในการประคองธุรกิจ และแก้ปัญหา จนปัจจุบันมีลูกค้า 30 กว่าราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ แม่ค้าสินค้าออนไลน์ 10 กว่าราย และ ผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 กว่าราย ส่งสินค้าไม่ต่ำกว่า 30,000 ชิ้นต่อเดือน โดยปีนี้ตั้งเป้าลูกค้าเพิ่มเป็น 60 ราย โดยเจาะกลุ่มแม่ค้าออนไลน์
ปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 100 คน มีคลังสินค้า 3 แห่งในกรุงเทพ ได้แก่ ย่านนาวา ดอนเมือง และ อุดมสุข ส่วนในต่างจังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.ชลบุรี ปี 2567 เตรียมขยายไปในพื้นที่ นนทบุรี รวมถึงภาคอีสาน และภาคใต้ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ ‘Mr.Bee Delivery’ สามารถแข่งขันในแง่ของต้นทุนขนส่งได้ เพราะทั้งรถตู้ และ รถมอเตอร์ไซต์ที่ใช้ขนส่งสินค้าเป็นรถไฟฟ้า 100 % ราคาน้ำมันที่ผันผวน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกจึงไม่มีผลกระทบกับธุรกิจ รวมถึงเตรียมนำระบบการบริหารออเดอร์โดยใช้ AI เข้ามาช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน
สำหรับผลประกอบการล่าสุดรายได้ในปี 2566 มากกว่า 27 ล้านบาท และในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโตเกิน 100 % หรือ 60 ล้านบาท ซึ่งการประเมินตั้งช่วงต้นปีนี้ ก็เชื่อว่าจะทะลุเป้าหมายแน่นอน

จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์ที่ Mr.Bee Delivery’ พยามยามเน้นย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ คือ การส่งสินค้า ที่ใส่ใจ แต่ไม่ได้ใช้กลยุทธ์การตัดราคา หรือ จัดโปรโมชั่นส่งถูกแบบที่เจ้าตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดเยอะเลือกใช้
แต่จะใช้วิธีเลือกหากลุ่มเป้าหมายแม่ค้าออนไลน์ หรือ ผู้ประกอบการที่ยอมจ่ายค่าส่งที่แพงกว่า เพื่อแลกกับการได้ส่งสินค้า ตรงเวลา และสินค้าไม่เสียหาย สร้างความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ
แต่แม้ผู้ประกอบการรายย่อย จะพยามเลือกหากลยุทธ์เพื่อสร้างจุดยืนให้กับตัวเอง เพื่อสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่เอง ก็ย่อมหาแนวทางในการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน
ดังนั้นภาพรวมของวงการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ถือว่าเป็นหนังม้วนยาว จะต้องรอลุ้นว่าจบปี 2567 มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ จะมีใคร สามารถสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้หรือไม่ ?