เหตุใด ‘ชาวนาไทย’ หันปลูก ‘ข้าวเวียดนาม’ ?

11 ธ.ค. 2566 - 11:17

  • นักวิชาการอิสระ ชี้ ‘ข้าวไทยเข้าขั้นวิกฤต’

  • ‘ธรรมนัส' สั่งสอบข้าวเวียดนามทะลักไทย หวั่นเกิดปัญหาระหว่างประเทศ

  • อธิบดีกรมการข้าว รับ งบไม่พอจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว

Economy-Why-are-Thai-farmers-Turning-to -growing-Vietnamese-rice-SPACEBAR-Hero.jpg

เหตุใด ‘ชาวนาไทย’  หันปลูก ‘ข้าวเวียดนาม’ ?

Economy-Why-are-Thai-farmers-Turning-to -growing-Vietnamese-rice-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: หน้าอ.อัทธ์

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษ SPACEBAR ว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์ข้าวไทย ‘กำลังเข้าขั้นวิกฤต’ เนื่องจากประเทศไทย กำลังเผชิญกับปัญหาเดิม และปัญหาใหม่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับปัญหาเดิม คือ ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทย ที่ผลผลิตต่ำทำให้เกษตรกรไทย ต้องหันไปปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นๆ จาก ประเทศเวียดนาม เพราะให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่า เช่น ข้าวไทยให้ผลผลิตต่อไร่ 400-500 กก.  ขณะที่ ข้าวสายพันธุ์จากเวียดนาม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมากกว่า 1,000 กก. 

เนื่องจากรัฐบาลของเวียดนามมีการให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา (R&D) หลักพันล้านบาท ทำให้สายพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตเยอะ ทนทานต่อสภาพอากาศ ทำให้คุ้มต้นทุนในการเพาะปลูก พร้อมประเมินปัจจุบันชาวนาไทยปลูกข้าวสายพันธุ์จากเวียดนาม เช่น สายพันธุ์จัสมินและสายพันธุ์อื่นๆ ราว 30 % ของพื้นที่เพาะปลูกแล้ว

ชาวนาไทยจึงหันมาปลูกข้าวเวียดนาม เพราะ ทนสภาพภูมิอากาศ ได้ผลผลิตสูง ทำให้ต้นทุนต่ำ คาดเกษตรกรปลูกข้าวเวียดนามในบ้านเราแล้ว 30 % โดยเฉพาะพื้นที่ ภาคกลาง ที่ปลูกข้าว

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ข้าวไทยอ่วม เหตุ เวียดนาม ชูเดินหน้า ข้าวคาร์บอนต่ำ Low-Carbon Rice

ส่วนปัญหาใหม่ คือ จากบริบทของโลกที่ทุกประเทศต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องของภาวะโลกร้อน หรือ GLOBAL WARMING ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระบวนการในการปลูกข้าว มีส่วนในการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อน (มีเทน) ราว 15 % จากกิจกรรมทั้งหมด ดังนั้น ประเทศเวียดนาม เริ่มเดินหน้าโครงการข้าวคาร์บอนต่ำ Vietnam’s Low-Carbon Rice Project หรือ VLCRP เพื่อเป็นผู้นำด้านการเกษตรกร โดยคำนึงถึงภาวะโลกร้อน 

ประเทศเวียดนาม ตั้งเป้าจะลดการผลิตคาร์บอนฯ จากการปลูกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่ เกี่ยวกับการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย โดยการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด‘ หรือ Nationally Determined Contributions : NDCs ซึ่งโครงการฯนี้ จะส่งอานิสงส์ดีไปถึงสินค้าข้างเคียง อย่างเช่น อาหารสัตว์ และ สินค้าปศุสัตว์อื่นๆด้วย 

สำหรับสาเหตุที่ประเทศเวียดนาม แซงหน้า ประเทศไทย ไปค่อนข้างไกล เพราะ วงการข้าวเวียดนาม มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ด้วย 4 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐบาล มหาวิทยาลัย(นักวิชาการ) ภาคเอกชน และ เกษตรกร 

ขณะที่ประเทศไทย ชาวนา โรงสี และ ผู้ส่งออก บริหารตามศักยภาพของตัวเอง แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งภาคเอกชนและเกษตรกร จะพยายามสะท้อนไปยังรัฐบาลให้เร่งขึ้นทะเบียน ‘ข้าวสายพันธุ์ใหม่’ ที่ให้ผลผลิตสูง แต่กลับยังติดปัญหาหลายด้าน โดยหากยังล่าช้าออกไปอีก ยิ่งจะทำให้ ประเทศไทย เสียโอกาสทางการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้น รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  สะท้อนว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข นอกจากแก้ปัญหาเดิม เรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว ด้วยการเติมงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างเร่งด่วนแล้ว  

อยากฝากไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนต่อยอดในสินค้าเกษตรกรของไทย เพราะประเทศไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีมากมาย แต่ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุนและนวัตกรรมในการต่อยอด  หากรัฐบาลสามารถดึงนักลงทุนมาต่อยอดส่วนนี้ได้ จะเป็นผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรไทย

Quote-Dr.AttSQ_01.jpg

สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย รับเกษตรกร ปลูกข้าวเวียดนาม คุ้มต้นทุนทำนา

สอดคล้องกับ ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยอมรับว่า เกษตรกรไทยก็หันไปปลูก ข้าวจัสมิน หรือ ข้าวหอมพวง ของเวียดนามค่อนข้างเยอะ เพราะโรงสี รับซื้อ มีตลาดแน่นอน ประกอบกับปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทยให้ผลผลิตต่อต่ำ บางพื้นที่ปีนี้ได้ผลผลิต เพียง 250-500 กก.ต่อไร่ ขณะที่ ข้าวจัสมิน ผลผลิตต่อไร่มากกว่า 1,000 กก.

หากปี 2567 รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ คือ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยให้สามารถมีผลผลิตต่อไร่ 1,200-1,300 กก. ทนทาน สู้ต่อโรคพืช ระยะปลูกสั้นไม่เกิน 100 วัน เพื่อให้แข่งขันกับพันธุ์ข้าวจากเวียดนามได้  รวมถึงต้องลดต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเพิ่มแหล่งน้ำ เพราะในระยะยาวชาวนาไม่ได้ต้องการเงินอุดหนุน แต่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ชาวนาไทยทั่วประเทศกว่า 4,680,000 ครัวเรือนสามารถพึ่งพาตัวเอง

Quote-PramoteSQ_01.jpg

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงธ.ค.65 เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เคยออกมาให้ข้อมูลว่า เกษตรกรลักลอบนำเข้าพันธุ์ข้าวจากเวียดนามหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะ ข้าวหอมพ่วง ตอนนี้คาดว่ามีเกษตรกรไทยปลูกถึงล้านไร่แล้ว เพราะว่าผลผลิตต่อไร่สูง 1.2 ตันต่อไร่ เทียบกับข้าวไทย ที่ให้ผลิตที่ 350-400 กก.ต่อไร่เท่านั้น

‘ธรรมนัส’ สั่ง กรมการข้าว สอบข้าวเวียดนาม ทะลักข้าวไทย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้กรมการข้าว และ กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบการลักลอบเมล็ดพันธุ์ข้าวเวียดนามเข้ามาปลูกแทนข้าวไทย เพราะอาจจะเกิดความเสียหายต่อข้าวไทย รวมถึง หากพบว่ามีการลักลอบน้ำเมล็ดพันธุ์ข้าวเวียดนามมาปลูกจริง ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย  เพราะ กรมการข้าวไม่สามารถรับรองพันธุ์ข้าวไทย และหากมีการร้องเรียนจะเกิดเป็นปัญหาระหว่างประเทศ 

ล่าสุด ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ยอมรับว่า กรมการข้าวมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับเตรียมเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้ชาวนา ปัจจุบันกรมการข้าวมีโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 31 โรงงาน ศักยภาพรองรับได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนตันต่อปี แต่เงินงบประมาณที่มีอยู่ใน กองทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์ข้าว ปัจจุบันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้แค่ 1.05 แสนตันต่อปี ประกอบกับระเบียบของกองทุนมีเงื่อนไข คือ ห้ามติดลบ กรมฯจึงต้องบริหารภายใต้งบประมาณที่มี  ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการรายงานให้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบแล้ว

เน้นย้ำว่า กรมการข้าว อยากสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรทั้งระบบ แต่ปัจจุบันกรมฯผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่พอกับความต้องการ เกษตรกรจึงต้องหันไปซื้อเมล็ดพันธุ์กับเอกชน ซึ่งมีราคาแพงกว่า 10-20% โดยในช่วงเมษายนปี 2567 กรมฯเตรียมประกาศขึ้นทะเบียน ข้าวไทยสายพันธุ์ใหม่ 8 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1,000 กก. คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

ส่วนการนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูกในประเทศไทย โดยไม่มีการขึ้นทะเบียน รัฐบาล อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า จะไปเอาผิดกับชาวนาที่ปลูกไม่ได้ ต้องตั้งคำถามว่า ใครเป็นคนลักลอบ นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้ามา ซึ่ง กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ถือกฎหมายในส่วนนี้

Quote-NattakijSQ_01.jpg
Photo: โคว้ท อธิบดี

ส่วนในระยะยาว กรมการข้าว เตรียมจะเสนอแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งต้องดำเนินการต่อเนื่อง 3-4 ปี  ต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยแนวทาง คือ การลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว ให้เกษตรกรบางส่วนหันไปเพาะปลูกพืชเกษตรประเภทอื่น เพื่อให้เหมาะกับสภาพแร่ธาตุในดินของพื้นที่นั้นๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์