1,400,000 คัน คือปริมาณรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นใน พ.ศ.2573
จำนวนดังกล่าวมาจากเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตทั้งหมด ภายใต้นโยบาย 30@30 ของ “บอร์ดอีวี” หรือคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่คลอดในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์
ล่าสุด บอร์ดอีวีที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับไม้ต่อโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) เพื่อผลักดันไทยเป็นฮับการผลิต EV ของภูมิภาค

มาตรการ EV3.5 จะช่วยให้อุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเติบโตแค่ไหน ผลลัพธ์จากมาตรการ EV3.0 ปี 2565 บอกชัดว่า “ก้าวกระโดด”
คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย หลัง มาตรการ EV3.0 ปี 2565?

- มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต จำนวน 19 ราย
- มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้าแต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
- ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ศ.2565) ที่ 8,483 คัน
- เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า
มาตรการสนับสนุน EV3.5 คือภาคต่อของมาตรการ EV3.0 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ EV3.0 และผู้ประกอบการรายใหม่ เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้
โดยมาตรการ EV3.5 จะเริ่ม 2 มกราคม พ.ศ.2567 และให้สิทธิ์ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้

ให้เงินอุดหนุน-ลดภาษี : กระตุ้นตลาด EV
1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
- สิทธิเงินอุดหนุน
- ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่ไม่เกิน 50 kwh
- ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
- ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
- ปี 2569-2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน - ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป
- ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
- ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
- ปี 2569-2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
- ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่ไม่เกิน 50 kwh
- สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 - 2568)
- สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 - 2570
2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป
- ได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2
3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป
- ได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
- ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือร้อยละ 0 ในปี 2567 - 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 - 2570
4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kwh ขึ้นไป
- ได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน
- ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิต เหลือร้อยละ 1 ในปี 2567 - 2570
ผลิตชดเชยนำเข้า : กระตุ้นลงทุน EV
การให้เงินอุดหนุน ลดภาษี ช่วยให้รถ EV ราคาถูกลง กระตุ้นผู้บริโภคหันมาใช้ EV ไม่พอ อีกด้านหนึ่งรัฐยังกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ต้อง ผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้า เพื่อกระตุ้นการลงทุน และผลักดันไทยให้เป็นฮับ EV ของภูมิภาค ดังนี้
- ภายในปี 2569 อัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน)
- ภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน)
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3.0 ไปสู่ EV3.5 เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการ EV 3.5 ในทุกๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล
สิ่งที่น่าสนใจ คือ มาตรการ EV3.0 ที่มีกรอบระยะเวลาหนึ่งปี กระตุ้นยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ถึง 7.9 เท่า (จาก 8,483 คันในปี 65 เป็น 67,056 คันในปี 66)
มาตรการ EV3.5 ที่มองเกมยาว วางบนกรอบเวลา 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เท่าไหร่?
ผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 จะต้องทำอย่างไร อ่านต่อที่นี่