แนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงหดตัวจากวิกฤตทรัมป์... สวนทางผลักดันปรับค่าจ้าง 400 บาทวันแรงงาน.. หวังผลทางการเมือง

29 เม.ย. 2568 - 09:43

  • ภาวะเศรษฐกิจไทยเสี่ยงหดตัวจากนโยบายภาษีทรัมป์

  • ก.แรงงานเร่งผลักดันค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ หวังเป็นของขวัญวันแรงงาน แม้เพิ่งปรับเมื่อต้นปี

  • ธุรกิจปิดตัวกว่า 5 หมื่นราย เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ส่งออกเสี่ยง-ท่องเที่ยวจีนร่วง 50%

laborday-trump-thaieconomy-SPACEBAR-Hero.jpg

สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการปรับค่าจ้าง

กระทรวงแรงงานมีความพยายามผลักดันนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ 400 บาท ให้เป็นของขวัญวันแรงงานแห่งชาติ ภายใต้ความเสี่ยงเศรษฐกิจอาจหดตัวและเสี่ยงแรงงานตกงานจากนโยบายภาษีตอบโต้ขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs Tax) รอบแรกอัตราร้อยละ 10 เก็บถ้วนหน้าทุกประเทศมีผลแล้วและรอบ 2 อัตราไม่เท่ากันไทยถูกเรียกเก็บอัตราร้อยละ 36 จากฐานภาษีที่เก็บเดิม (MFN Basic) หากตกลงเจรจากันไม่ได้วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ครบกำหนดผ่อนผัน 90 วันจะมีผลบังคับใช้ประเมินว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 1.5 – 1.8 จากประมาณการณ์เดิมร้อยละ 3.0 – 3.3 และมีความเป็นไปได้อาจถึงขั้นหดตัว ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)  และ Tris Rating สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหั่น GDP ไทยลดต่ำสุดในภูมิภาค โดยครึ่งปีแรกผลกระทบยังไม่ชัดเจนแต่ในครึ่งปีหลังหากประเมินจากสถานการณ์เลวร้าย (Worst Case Scenario) ทำให้เกิดสงครามการค้าโดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน 

เป็นที่ทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยผูกผันกับเศรษฐกิจโลกทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการในสัดส่วนที่สูงและเผชิญกับความท้าทายตลอดจนความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ห่วงโซ่อุปทานสนับสนุนภาคส่งออกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม-บริการ-เกษตรกรรม ภาคท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับร้านอาหารและโรงแรมจะกระทบเป็นลูกโซ่ ประเมินว่ากำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) และชั่วโมงการทำงานช่วงกลางเดือนมิถุนายนอาจลดลงจากคำสั่งซื้อที่เริ่มส่งสัญญานลดลง ตามด้วยผลกระทบจากการจ้างงานและการบริโภคซึ่งจะหดตัว รัฐบาลเห็นถึงปัญหามีการเตรียมออกกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.0 แสนล้านบาททั้งด้านการบริโภค การลงทุนและซอฟต์โลนเพื่ออุ้มการจ้างงาน

ภาครัฐกดดันปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทให้ทันเป็นของขวัญวันแรงงาน (1 พ.ค.68)

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงหดตัว กระทรวงแรงงานผลักดันให้มีการปรับค่าจ้างเป็นครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ 1 มกราคม 2568 มีการปรับ 17 อัตราทั่วประเทศตั้งแต่วันละ 337 – 400 บาท (เฉลี่ย 355 บาท) กทม.และปริมณฑลอัตรา 372 บาท สำหรับอัตราค่าจ้าง 400 บาทได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราและอำเภอเกาะสมุย เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 มีการเรียกประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ซึ่งอยู่ในช่วงรักษาการเนื่องจากหมดวาระไปตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในการประชุมมีการตั้งธงค่าจ้างวันละ 400 บาทสำหรับกทม. และต้องการให้ครอบคลุมจังหวัดปริมณฑลขณะที่สถานประกอบการโรงแรมและสถานบริการทั่วประเทศปรับอัตราวันละ 400 บาท

ประเด็นที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปการปรับค่าจ้าง

1. นายจ้างไม่เห็นด้วย เนื่องจากค่าจ้างที่ใช้อยู่เพิ่งปรับไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 เพียงแค่ 4 เดือนปรับใหม่เห็นว่าไม่สมควรขณะที่เศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่เอื้ออัตราเงินเฟ้อต่ำ กอปรทั้งมีความเสี่ยงจากนโยบายสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีอัตราร้อยละ 10 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว รอบต่อไปอัตราร้อยละ 36 เริ่มมีผลบังคับใช้ 9 กรกฎาคมซึ่งอยู่ระหว่างการนัดเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ทราบว่าขณะนี้ทางสหรัฐฯ ยังไม่รับนัด หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะมีความเสี่ยงอาจถึงขั้นหดตัวกระทบต่อการปิดตัวของสถานประกอบการและการเลิกจ้าง

2. ตัวแทนภาครัฐก้ำกึ่งกันไม่เห็นด้วย เท่าที่รับทราบผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างในช่วงเวลานี้ เนื่องจากภาวะเศรษกิจมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในอัตราต่ำเป็นการหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่จังหวะที่จะปรับค่าจ้างควรเน้นนโยบายการรักษาการจ้างงานเหตุผลเพราะส่งออกเป็นภาคส่วนที่อยู่ใน GDP สัดส่วนร้อยละ 57 เกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานทั้งภาคการผลิต-บริการ เกษตรกรรม มีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ 

3. การปรับค่าจ้างภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่ผ่านมามีการปรับค่าจ้าง 400 บาทจังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอำเภอเกาะสมุย แต่การผลักดันทั่วประเทศอาจกระทบกับโรงแรมและสถานบริการที่อยู่ในเมืองรอง อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากนโยบายปธน.ทรัมป์อาจได้รับผลกระทบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีการปรับประมาณการณ์นักท่องเที่ยงวต่างชาติปีพ.ศ. 2568 ลดลงเหลือ 35 ล้านคน จากเป้าที่ตั้งไว้ 39 ล้านคน โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 1 ใน 2 

4. เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอ ในการประชุมกรรมการค่าจ้างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจให้ข้อมูลว่าในปีที่ผ่านมานิติบุคคลที่จดทะเบียนยกเลิกกิจการมีจำนวน 23,679 ราย และที่ปิดกิจการโดยยังไม่แจ้งมีจำนวนประมาณ 29,000 ราย อีกทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงมีการปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจลงและกรณี Worst Case Scenario สหรัฐอเมริกาไม่ยกเลิกมาตรการหรือเจรจาภาษีไม่สำเร็จอาจหดตัวและอาจเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ข้อมูลที่มาสนับสนุนให้มีการปรับค่าจ้างเป็นข้อมูลพื้นฐานภายใต้เศรษฐกิจที่เปราะบางและไม่แน่นอนสูงการปรับค่าจ้างอาจไม่เหมาะสมและ/หรือควรใช้หลักวิชาการในการพิจารณา

5. สรุปการปรับค่าจ้าง 400 บาทช่วง 1 พฤษภาคม 2568 ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากคณะกรรมการมีความเห็นไม่ตรงกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานรับที่จะไปหาข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ให้เอื้อต่อการปรับค่าจ้าง อาจมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคมคงเป็นหลังการเลือกตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่ซึ่งเดือนพฤษภาคมอาจไม่ทัน

บทความพิเศษ : โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า
และอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์