SME ยังไม่ฟื้น! ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมี.ค. ร่วงต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรอลุ้นมาตรการรัฐ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน มีนาคม เทียบเมษายนระบุ แม้จะเข้าสู่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่เศรษฐกิจมักจะคึกคักขึ้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME หรือ SMESI เดือนมีนาคม 2568 กลับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 51.5 จาก 52.1 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สะท้อนว่าภาคธุรกิจรายย่อยยังคงเผชิญแรงกดดันรอบด้าน
ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. ชี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ระยะที่ 2) แต่ก็ยังไม่เห็นผลชัดในแง่ของการกระตุ้นการบริโภค
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นความหวัง กลับเริ่มแผ่ว โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น จีนและมาเลเซีย ทำให้ธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และค้าปลีกในพื้นที่ท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเต็มๆ
ภาคเกษตรเองก็ไม่ต่างกัน รายได้ของเกษตรกรลดลงจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ และยังต้องรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวในเมียนมาที่แรงสั่นสะเทือนส่งถึงไทย ยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของธุรกิจในระดับภูมิภาค
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะในภาคการผลิต ซึ่งมีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อเตรียมรับเทศกาลสงกรานต์ เช่น กลุ่มสินค้าเสื้อผ้า แป้งหอม หรือของฝาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ยังพอมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังน่าเป็นห่วง เพราะแม้จะผลิตมากขึ้น แต่ต้นทุนต่อหน่วยกลับสูงขึ้น ขณะที่คำสั่งซื้อ กำไร การลงทุน และการจ้างงาน กลับลดลงทุกด้าน สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นเต็มที่
ผู้ประกอบการ SME จึงยังฝากความหวังไว้กับมาตรการจากภาครัฐ โดยต้องการให้มีความชัดเจน ตรงจุด และครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในด้านการสร้างรายได้ให้ผู้บริโภค การลดต้นทุน โดยเฉพาะวัตถุดิบ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ที่ในตอนนี้ยังถือว่า ‘ไม่ทั่วถึง’
‘เหนือ-ใต้-ออก-ตก’ เผชิญแรงกดดันจาก ศก.ชะลอ
กล่าวได้ว่าตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นฯ ในทุกภูมิภาคยังคงเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจชะลอ-ท่องเที่ยวไม่ฟื้น-กำลังซื้อยังอ่อน
ภาคใต้
ตัวเลขความเชื่อมั่นลดลงมาอยู่ที่ 50.9 จาก 52.3 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าลดลงต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะช่วง เดือนรอมฎอน ที่บรรยากาศการจับจ่ายยังไม่กลับมาคึกคัก ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย ที่เคยเป็นกลุ่มสำคัญก็ลดลง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบหนัก
กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ 50.7 จาก 51.5 ความเชื่อมั่นลดตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มจากจีน ขณะเดียวกัน สถานการณ์ แผ่นดินไหว ในภูมิภาคเพื่อนบ้านก็สร้างความไม่มั่นใจให้ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดีเล็กๆ จากภาคการผลิตที่เริ่มเร่งผลิตสินค้าเตรียมรับ สงกรานต์ เช่น เสื้อผ้า แป้งหอม และอาหารแปรรูป
ภาคตะวันออก
ลดลงเหลือ 50.1 จาก 51.1 โดยปัจจัยกดดันมาจากธุรกิจ การค้าและบริการ ที่ยังไม่ฟื้น แม้จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอยู่บ้างในภาคการผลิต แต่ยอดขายในประเทศยังไม่กระเตื้อง โดยเฉพาะโรงงานที่พึ่งพาการส่งออกยังเจอแรงกดดันจากต้นทุนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ยังทรงตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นเล็กน้อยที่ระดับ 53.2 (ลดลงจาก 53.5) แต่ก็สะท้อนภาพรวมที่ยังซบเซา โดยเฉพาะธุรกิจ เกษตร การค้า และบริการ ที่ยังไม่ตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐเท่าที่ควร มีเพียงภาคการผลิตบางกลุ่ม เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ยังได้อานิสงส์จากคำสั่งซื้อ B2B
ภาคเหนือ
อยู่ที่ 51.8 ลดลงเล็กน้อยจาก 52.1 แม้ว่า เชียงใหม่ ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีได้บ้าง แต่ภาพรวมยังแผ่ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมเศรษฐกิจในเมืองรองที่ยังซบ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในบางพื้นที่ด้วย
ภาคกลาง
ลดลงมาอยู่ที่ 51.3 จาก 51.6 สะท้อนความอ่อนแอของกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย ในขณะที่ภาคเกษตรก็ถูกซ้ำเติมจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ แม้บางโรงงานเริ่มผลิตเพิ่มเพื่อรองรับสงกรานต์ แต่โดยรวมยังไม่เพียงพอจะดันความเชื่อมั่นขึ้นได้
ส่วนแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีคาดการณ์ SMESI ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จากเดิมที่คาดไว้ที่ 55.6 ลดลงมาอยู่ที่ 54.7 สะท้อนความไม่แน่นอนที่ยังคงปกคลุมอยู่ ทั้งในและต่างประเทศ