โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ที่เริ่มต้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปีใน 81 ประเทศทุก ๆ 3 ปี
ในปี 2022 ผลการประเมิน PISA พบว่านักเรียนจากประเทศหรือพื้นที่บางแห่งทำข้อสอบได้อย่างโดดเด่น เช่น มาเก๊า, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเอสโตเนีย ที่ติดอันดับสูงสุดทั้งในคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินโดยเฉลี่ยในภาพรวมของปี 2022 แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของสมรรถนะเด็กในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ OECD มีการลดลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนนักเรียนไทย พบว่าทักษะทั้งคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ของเด็กไทย แย่ลงทุกทักษะ
สำหรับผลคะแนนการทดสอบ PISA ของเด็กนักเรียนไทยประจำปี 2022 พบว่าแย่ลงในทุกทักษะเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดย PISA ระบุว่าในการทดสอบครั้งล่าสุดนี้ คะแนนเฉลี่ยในทุกทักษะของเด็กไทยต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อน ๆ นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในช่วงต้นทศวรรษ 2000
นอกจากนี้ หากดูเฉพาะช่วง 10 ปีหลังสุด (2012-2022) จะพบว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คะแนนของเด็กไทยลดลงไปกว่า 30 คะแนน ส่วนคะแนนด้านการอ่านลดลงไปกว่า 60 คะแนน ซึ่งเป็นช่วงคะแนนที่มากกว่าที่ปกติเด็กคนหนึ่ง ๆ จะได้รับจากการเรียนตลอด 1 ปีเสียอีก
เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ยังพบด้วยว่า ทักษะทั้ง 3 ด้านของเด็กนักเรียนไทยยังด้อยกว่านักเรียนจากกลุ่มประเทศ OECD และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ก็พบว่าเด็กไทยมีทักษะทั้ง 3 ด้านด้อยกว่าเด็กในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ทั้งหมด
โปรแกรมการประเมินสมรรถนะของ PISA เริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2000 และมีการประเมินทุก ๆ 3 ปี แต่ในการประเมินของปี 2021 ถูกเลื่อนมาเป็นปี 2022 ซึ่ง OECD ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสะท้อนภาวะความยากลำบากหลังการระบาดของโควิด-19
การอ่าน
- สมรรถนะด้านการอ่าน สิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยอีก 9 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจตามลำดับ ได้แก่ ไอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เอสโตเนีย, มาเก๊า, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์
- สำหรับประเทศ/ เขตเศรษฐกิจ ที่ได้ 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ โมร็อกโก, อุซเบกิสถาน และกัมพูชา
- ประเทศและเขตเศรษฐกิจยุโรปส่วนใหญ่อยู่ในอันดับกลาง ๆ โดยสหราชอาณาจักร มีผลประเมินอยู่ในอันดับที่ 13 ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2018
- ส่วนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ประเทศชิลี อยู่ในอันดับสูงสุดของทวีป และเป็นอันดับที่ 37 จากประเทศทั้งหมดที่เข้ารับการประเมิน
- ส่วนไทย ทักษะการอ่านอยู่ที่ 64 จาก 81 ประเทศ เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 34) บรูไน (อันดับ 44) และมาเลเซีย (อันดับ 60)
คณิตศาสตร์
- ความรู้ด้านคณิตศาสตร์สิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วย มาเก๊า, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา และนิวซีแลนด์ ส่วนอันดับที่ 10-20 เป็นนักเรียนจากกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 14
- ส่วนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 34
- สำหรับเด็กไทย ทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อับดับ 31) บรูไน (อันดับ 40) และมาเลเซีย (อันดับ 54)
วิทยาศาสตร์
- สำหรับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่งอีกเช่นกัน ตามด้วยอันดับที่ 2-10 ได้แก่ ญี่ปุ่น, มาเก๊า, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, เอสโตเนีย, ฮ่องกง, แคนาดา, ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย
- สหราชอาณาจักร ได้อันดับที่ 15 สหรัฐอเมริกา อันดับที่ 16 โดยประเทศยุโรปส่วนใหญ่ผลคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง
- สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 35) บรูไน (อันดับ 42) และมาเลเซีย (อันดับ 52)