ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ด้วยกำไรสุทธิ 23,315 ล้านบาท พร้อมส่งรายได้เข้ารัฐ 7,256 ล้านบาท ชี้ชัดกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เดินหน้า ‘วอร์รูม 5 ด้าน’ รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ มุ่งยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน และเสริมความแข็งแกร่งภายในกลุ่ม
เร่งรัดกลยุทธ์ Hydrocarbon – สร้างฐานพลังงานแข็งแกร่ง
ปตท. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจหลัก Hydrocarbon อย่างเข้มข้น โดยมีไฮไลต์สำคัญ ได้แก่
- ปตท.สผ. เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ เป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการสินภูฮ่อม
- ขยายการลงทุนต่างประเทศ เข้าถือหุ้น 10% ในโครงการ Ghasha ใน UAE
- GPSC ขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอินเดียและไต้หวัน
- เดินหน้าธุรกิจ LNG ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางซื้อขายในภูมิภาค ด้วยปริมาณนำเข้า 11 ล้านตัน/ปี
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของ GC ต้องเร่งปรับตัวรับแรงกดดันจากการแข่งขัน ปตท. จึงเตรียมนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ 400,000 ตัน/ปี เพื่อเสริมเสถียรภาพด้านวัตถุดิบในระยะยาว
เร่งปรับพอร์ต Non-Hydrocarbon เลือกลงทุนเฉพาะจุดแข็ง
ปตท. ประเมินพอร์ต Non-Hydrocarbon ด้วยเกณฑ์ “Attractiveness & Right to Play” โดยเน้นเฉพาะธุรกิจที่ ปตท. มีความเชี่ยวชาญหรือมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เช่น
- ธุรกิจ EV : มุ่งพัฒนาระบบบรรจุกระแสไฟฟ้า ลดสัดส่วนถือหุ้นใน Horizon Plus
- ธุรกิจโลจิสติกส์ : ตัดธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้อง เน้น Synergy กับกลุ่มหลัก
- ธุรกิจ Life Science : มุ่งเฉพาะยาและโภชนาการที่มีแผนเติบโตชัดเจน และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน
โดยการปรับพอร์ตดังกล่าวช่วยรักษาเงินลงทุน (Capital Preservation) และลดความเสี่ยงจากธุรกิจที่ไม่มีศักยภาพระยะยาว

เร่งวอร์รูม 5 ด้าน รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ
ภายใต้สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปตท.ได้ตั้ง ‘วอร์รูม’ วิเคราะห์และปรับแผนเชิงรุก ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่
1. Strategy : ทบทวนและเร่งรัดกลยุทธ์เดิมให้เดินหน้าเร็วขึ้น
2. Financial Management : เสริมสภาพคล่อง บริหารต้นทุนการเงิน รักษา Credit Rating
3. Supply Chain & Customer : สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า – ลูกค้า และเร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม
4. Project Management : ทบทวนความคุ้มค่าโครงการ-การลงทุน พร้อมเดินหน้า Asset Monetization
5. Communication : สื่อสารอย่างโปร่งใส สร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย
ปักหมุดเติบโตยั่งยืน – ดัน Net Zero 2050
กลุ่ม ปตท. ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero 2050 อย่างจริงจัง มีแผนลดคาร์บอนอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงต้นทุนการลดคาร์บอนเทียบกับภาษีคาร์บอนในอนาคต เร่งศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี CCS และ CCS Hub เพื่อขยายผลระดับประเทศ พร้อมหารือพันธมิตรธุรกิจไฮโดรเจน–แอมโมเนียคาร์บอนต่ำ เพื่อใช้ในภาคพลังงานและสนับสนุนแผน PDP ของประเทศ
สร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่ม – เร่งผลักดันโครงการ Synergy
โครงการความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ได้ถูกเร่งขับเคลื่อน ได้แก่
- โครงการ P1 & D1 : Centralized Supply & Market Management เป้าหมายสร้างมูลค่า 3,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2028
- MissionX : พัฒนา Operational Excellence มูลค่าเพิ่ม 30,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2027
- Axis : ใช้ AI และดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ มูลค่าเพิ่ม 11,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2029
พร้อมกันนี้ ปตท.ยังใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การจ่ายปันผลสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 2.10 บาท/หุ้น และการซื้อหุ้นคืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาด
ยึดมั่นดูแลสังคมไทยเคียงข้างกัน
นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านธุรกิจ ปตท. ยังสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวทั้งในไทยและเมียนมา ผ่านการส่งทีม PTT Group SEALs ลงพื้นที่ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือและสนับสนุนสภากาชาดเมียนมา
“ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นหลักฐานว่ากลยุทธ์ของ ปตท. เดินมาถูกทาง เราจะยังคงเร่งสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว