SCB EIC ชี้ ลดภาษีติดโซลาร์ ‘โดนใจ’ แต่ยังไม่เร่งให้ติดจริง!

5 ก.ค. 2568 - 02:16

  • SCB EIC ชี้ลดหย่อนภาษีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตรงใจผู้บริโภค

  • แต่ยังไม่เร้าใจ หลังยังติดเรื่อง ‘ต้นทุนค่าติดตั้ง’ ที่มักเริ่มต้นที่หลักแสน

  • แนะรัฐอยากกระตุ้นจริง ต้องออกมาตรการเสริม-อัดแรงหนุนเพิ่ม

SCB EIC ชี้ ลดภาษีติดโซลาร์ ‘โดนใจ’ แต่ยังไม่เร่งให้ติดจริง!

ท่ามกลางเสียงบ่นเรื่อง ‘ค่าไฟแพง’ ที่ดังขึ้นทั่วประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้านพักอาศัย กลายเป็นความหวังใหม่ของหลายครัวเรือนที่อยากควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว และหันมาใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มากขึ้น

และเมื่อ 24 มิถุนายน 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้าน โดยหักลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งหากพิจารณาตามฐานภาษีที่ผู้เสียภาษีอยู่ จะช่วยประหยัดภาษีได้ประมาณ 6,100 - 50,000 บาท

คนอยากติด แต่ยังติด ‘ข้อจำกัด’

แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่กล่าวได้ว่า ยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) พบว่า ผู้บริโภคกว่า 80% สนใจติดตั้ง แต่ยังไม่ลงมือ ส่วนหนึ่งเพราะติดเรื่อง ‘ต้นทุนค่าติดตั้ง’ ซึ่งมักเริ่มต้นที่หลักแสนบาท

ผลสำรวจชี้ สิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
- การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง ร้อยละ 26
- การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ร้อยละ 20
- นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ทั้งการปลดล็อกการขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ถูกกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ ‘แพ็กเกจนโยบาย’ ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง

ดังนั้น SCB EIC จึงวิเคราะห์ว่า มาตรการภาษีอย่างเดียวอาจยังไม่พอ เพราะมีอุปสรรคอีกหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข หากหวังให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นตัวเลือกหลักในบ้านคนไทย

3 ปัญหาหลักที่ยังคาใจผู้บริโภค

นอกจากนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากยังมีอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจติดตั้ง โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ 3 ด้านในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้แก่
1.การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและราคาที่เหมาะสมของผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้
2. ข้อจำกัดในการจัดหาเงินส่วนตัว โดยกว่า 50% ของผู้ติดตั้งใช้เงินสดและการจัดหาเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเองซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการหาแหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสะท้อนความต้องการแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายของผู้บริโภค
และ 3. ความยุ่งยากของกระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ทั้งในด้านการติดต่อหน่วยงาน, การเตรียมเอกสาร และการนัดตรวจสอบสถานที่ติดตั้ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

SCB EIC ชี้ 3 แนวทางเสริมรัฐควรเร่งด่วน

เพื่อให้มาตรการภาษีไม่ใช่แค่ ‘ภาพสวยบนกระดาษ’ แต่กลายเป็นนโยบายที่เปลี่ยนพฤติกรรมจริง SCB EIC เสนอว่า รัฐควรเสริมด้วย 3 มาตรการหลักในระยะสั้น ได้แก่
1. จัดทำระบบรับรองคุณภาพอุปกรณ์และผู้ให้บริการติดตั้งแบบสมัครใจ (Voluntary certification program) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้
2. แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการอุดหนุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น
และ 3. ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาต โดยจัดตั้งระบบ One-stop service สำหรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ในระยะยาว ภาครัฐยังสามารถพิจารณาออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น การเปิดเสรีการขายไฟฟ้า และการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาขายปลีก (Net-metering) เพื่อเร่งการขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน 

เสียงจากผู้บริโภค อยากได้ ‘แพ็กเกจแบบจัดเต็ม’

ผลสำรวจ SCB EIC ยังพบว่า สิ่งที่คนอยากได้จากรัฐมากที่สุดคือ เงินอุดหนุนค่าติดตั้ง (26%) ตามมาด้วยมาตรการภาษี (20%) ขายไฟฟ้าได้เสรี (15%) และการรับซื้อไฟฟ้าในราคาขายปลีก (13%) ซึ่งสะท้อนว่า คนไทยอยากเห็นนโยบายแบบ “ครบเครื่อง” มากกว่าชิ้นเดียวโดด ๆ 

บทบาทภาคเอกชนร่วม ทางรอดยุคพลังงานแพง

SCB EIC ยังเสนอให้ผู้ให้บริการเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในแง่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีสินเชื่อผ่อนจ่ายที่เหมาะสม และอำนวยความสะดวกด้านเอกสารและการขออนุญาต โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคมากนัก

กล่าวได้ว่า บทสรุปของ ‘โซลาร์รูฟท็อปไทย’ จะไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ ‘ความกล้าปลดล็อก’ ของทุกฝ่าย โดยมาตรการภาษีอาจเป็น ‘ประกายแรก’ ที่จุดไฟให้บ้านเรือนหันมาติดโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น แต่หากรัฐไม่ต่อยอดด้วยมาตรการเสริมในเชิงโครงสร้าง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในระดับครัวเรือน ก็อาจยังไปไม่ถึงเป้าหมาย

และถ้าทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ โซลาร์รูฟท็อปจะไม่ใช่แค่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’ ท่ามกลางยุคพลังงานแพงที่ไม่มีทีท่าจะลดลงในเร็ววัน

scb-eic-economic-energy-solar-rooftop-people-tax-measures-SPACEBAR-Photo V01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์