3 ปัจจัยร้อนดัน SET เด้ง บอนด์ยีลด์พีค- ซีอีโอ GULF พบทรัมป์-เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว

16 พ.ค. 2568 - 05:56

  • บอนด์ยีลด์สหรัฐเริ่มเข้าสู่จุดพีคหลังจากปรับขึ้นจาก 3.9% ไปที่ 4.5-4.6% คาดว่าจะปรับตัวลดลงมาแถว 4-4.1% ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อตลาดหุ้นเอเชียรวมถึงไทย

  • การเข้าพบทรัมป์ของผู้นำภาคเอกชนไทยเป็นสัญญาณดีต่อความสัมพันธ์ทางการค้า โดยไทยมุ่งเน้นนโยบายสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศและลดอุปสรรคทางการค้า หากสำเร็จจะช่วยให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียน

  • หุ้นแนะนำ GULF, GPSC และ ADVANC

กรุงศรีมอง SET ฟื้นตัวต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ จับตาปัจจัยบวกจากบอนด์ยีลด์-การเจรจาการค้าสหรัฐ หลังผู้นำภาคเอกชนพบทรัมป์  - แนะถือ GULF, GPSC, ADVANC คาดรับอานิสงส์

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี เปิดเผยมุมมองต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องอีก 2-4 สัปดาห์ โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) บอนด์ยีลด์ที่กำลังเข้าสู่จุดพีคและคาดว่าจะปรับตัวลดลง 2) การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ หลังผู้นำภาคเอกชนพบทรัมป์   และ 3) เศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต

สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงเมื่อวานนี้ (กว่า 20 จุด) กรภัทรมองว่าเกิดจากปัจจัยลบจากการรายงานกำไรของ AOT ที่ต่ำกว่าคาด ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมา ขณะที่ไม่ได้มาจากปัจจัยการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล

"ปัจจัยลบของ AOT เป็นตัวเดียวที่ทำให้ตลาดปรับตัวลง ไม่ต้องไปโยงเรื่องการเมือง ไม่เกี่ยว" กรภัทรกล่าว พร้อมระบุว่า การที่ AOT มีกำไรต่ำกว่าคาดเนื่องจากมีรายการพิเศษที่กระทบผลประกอบการ

แนวโน้มบอนด์ยีลด์และดอกเบี้ย

กรภัทรวิเคราะห์ว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐเริ่มเข้าสู่จุดพีคและคาดว่าจะปรับตัวลดลง โดยยีลด์พันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นไประดับ 4.5% และยีลด์พันธบัตรอายุ 30 ปีที่ขึ้นไปเกือบ 5% น่าจะเริ่มปรับตัวลดลงจากนี้

"พอยีลด์ขึ้นไปจาก 3.9% ไป 4.6% พักมา 4.1% แล้วดีดมา 4.5% เกือบ 400 bps ที่มันเกิดขึ้น คือเงินเฟ้อที่เป็นสารตั้งต้นที่เข้มที่สุดแล้ว ไประดับหนึ่ง อีก 2 เดือนข้างหน้าเนี่ยมันน่าจะคลี่คลาย" กรภัทรกล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลาดจะเริ่มซื้อพันธบัตรอีกครั้ง ทำให้ยีลด์พันธบัตรสหรัฐอาจลงมาแถวๆ 4.1-4% ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเอเชียรวมถึงไทยได้แรงหนุน

การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ

การที่ผู้นำภาคเอกชนไทย ซีอีโอ GULF ได้เข้าพบกับ โดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยกรภัทรมองว่า ไทยพยายามทำ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1) นโยบายสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศ และ 2) ให้ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า

"รัฐบาลพยายามที่จะเข้าตัวแอลเอ็นจี พวกอีเทนต่างๆ เข้ามาจากสหรัฐ และสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐด้วย เพื่อแลกกับการพยายามต่อให้ด้านภาษีลงมา" กรภัทรกล่าว

หากการเจรจาประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การผลิต และดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค

แนะนำการลงทุนในหุ้นไทย

สำหรับคำแนะนำการลงทุน กรภัทรแนะนำให้จับตาดูกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ GULF และ GPSC ซึ่งมีโอกาสฟื้นตัว โดยให้เป้าราคา GULF ที่ 56.5 บาท และหากราคาเบรก 52 บาทได้ คาดว่าจะปรับตัวขึ้นต่อ ส่วน GPSC มีแนวต้านที่ 36 บาท

นอกจากนี้ ยังแนะนำ ADVANC ที่ถูกลดน้ำหนักใน MSCI เนื่องจากฟรีโฟลทที่ลดลงจากการควบรวมกับ INTUCH แต่มองว่าเป็นโอกาสในการซื้อ เพราะ ADVANC ให้ยีลด์สูง เป็นเป้าหมายของ LTF และมีแนวโน้มเบรก 310 บาท

"แอดวานซ์ถูกลดน้ำหนักเพราะฟรีโฟลทมันน้อยลง เนื่องจากอินทัชควบรวมกันแล้วถือหุ้นแอดวานซ์โดยตรง ทำให้โฟลทของหุ้นลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ไม่ดี ในทางกลับกัน นี่คือโอกาสในการซื้อ" กรภัทรกล่าว

สำหรับหุ้นกลุ่มที่ถูกถอดจาก MSCI เช่น CRC, KTC และ BM กรภัทรมองว่าผลกระทบได้สะท้อนในราคาไปมากแล้ว โดยเฉพาะ KTC ที่คาดว่าบอทท่อมไปแล้ว ส่วน CRC ยังคงต้องระวังเนื่องจากเป็นสัญญาณว่าห้างสรรพสินค้าเริ่มชะลอตัว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเทรนด์การลงทุน

กรภัทรมองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับ AI และเทคโนโลยี โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ ค้าปลีก การเกษตร และการแพทย์ (ไม่รวมกลุ่มการเงินและธนาคารที่นำหน้าอยู่แล้ว)

"เทรนด์ AI ตอนนี้กำลังเป็นเมกะเทรนด์ ของบ้านเราก็คล้ายๆ กัน เริ่มเกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งในภาคค้าปลีก ภาคการเกษตร และทางการแพทย์ นี่เป็น 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ไม่รวมกลุ่มการเงินที่มาก่อนอยู่แล้ว" กรภัทรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าไทยมีโอกาสกลายเป็นผู้นำในอาเซียนด้าน AI และเทคโนโลยี หากมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในราคาที่เหมาะสม

"อินฟราสตรัคเจอร์อาจจะไม่ได้หนุนเศรษฐกิจในช่วงต้นมากนัก แต่ในระยะกลางถึงยาว ทำให้เกิดเทรนด์ AI disruption ใน 3-5 ปีข้างหน้า" กรภัทรกล่าวในตอนท้าย

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์