จาก ‘กระสือ’ สู่ ‘กระแส’ เรื่องราวความศรัทธาฉบับผีไทยของ ‘กระสือ’

10 เม.ย. 2566 - 04:31

  • เป็นดั่งความสยองที่อยู่คู่สังคมไทยมาทุกยุคกับ ‘กระสือ’ หรือ ‘ผีลากไส้’ อีกหนึ่งตำนานผีไทยฉบับผู้หญิง ที่มีชะตากรรมชีวิตน่าอดสูไม่แพ้ผีตนใด

GHOST-STORY-KRASUE-SPACEBAR-Thumbnail
“กระสือ กลางวันมันเป็นหญิง มีทุกสิ่งธรรมด๊า ธรรมดา ยิ้มแย้มช่างเจรจา งามสง่าน่าชิดเชยชม ตกกลางคืนมีหัวกับไส้ ทิ้งร่างไปเที่ยวกินคูถตม สรรหาแต่สิ่งโสมม เน่าเหม็นเป็นอาหาร” สร้างความสยดสยองกันมารุ่นต่อรุ่นกับบทเพลง ‘กระสือ’ ที่ขับร้องโดย นิภา สงวนรักษ์ ใช้ประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ชื่อดังเรื่อง ‘กระสือ (2520)’ ที่ทั้งชวนขนหัวลุกและชวนตั้งคำถามถึงความเป็นมาของกระสือในเวลาเดียวกัน ว่าแท้จริงแล้วกระสือมีจริงหรือไม่ และเหตุใดกระสือต้องเป็นผู้หญิง หรือแม้กระทั่งชอบกินของโสโครกโดยเฉพาะ ‘อุจจาระ’ ก็ยังเป็นคำถามที่ถูกตั้งค้างเติ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระสือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อแบบไทยๆ ไปเสียแล้ว 

ทำความรู้จัก ‘ผีกระสือ’ 

‘กระสือ’ หรือ ‘ผีลากไส้’ เป็นผีชนิดหนึ่งที่อยู่คู่ความเชื่อของชาวไทยมาอย่างยาวนาน โดยว่ากันว่ากระสือจะสิงสู่อยู่ในเฉพาะร่างของผู้หญิง โดยส่วนมากมักจะเป็น ‘ยายแก่’ เธอมีลักษณะนิสัยชอบรับประทานของสด ของคาว และจะออกหากินเวลากลางคืนโดยการถอดหัวออกมาจากร่าง และเหลือไว้เพียงแต่หัวกับตับไต้ไส้พุงที่ลอยละล่องไปทั่ว ซึ่งจะมีสีคลับคล้ายไฟเรืองแสงดวงโตสีแดง และบางครั้งจะเป็นแสงสีเขียววับๆ แวมๆ จนชาวบ้านที่เห็นแสงไฟในลักษณะนี้ต่างเป็นต้องหวาดผวา โดยกระสือจะเริ่มออกหากินตั้งแต่เวลาหัวค่ำลากยาวไปตลอดทั้งคืน และจะกลับเข้าร่างอีกครั้งในเวลาใกล้รุ่งสางเพื่อไม่ให้มีพิรุธ 

‘สเตอริโอไทป์’ แบบ ‘ไทยๆ’  

ในสมัยก่อนหากคุณเป็นผู้หญิงที่มีพฤติกรรมแตกต่างจากคนทั่วไปอย่าง ‘ไม่ชอบสบตาคน’, ‘ไม่ชอบพูดชอบจา’, ‘ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว’ หรือแม้กระทั่ง ‘ไม่ชอบแสงสว่าง’ คุณอาจจะโดนเหมารวมว่าเป็นกระสือได้โดยปริยาย โดยได้มีการบัญญัติไว้ว่าผู้ที่เป็นกระสือนั้นมักจะเป็นผู้ที่บูชา ‘ไสยศาสตร์มนต์ดำ’ หรือ ‘เดรัจฉานวิชา’ (เป็นวิชาอาคม ที่ว่าด้วยการจำแลงแปลงกายเป็นสัตว์) แต่กระทำผิดจนท้ายที่สุดของเข้าตัวจนกลายเป็นผีกระสือน่าเกลียดน่ากลัว 

‘เรื่องผีๆ’ หรือ ‘เครื่องมือในการปกครอง’  

ผีมีไว้ทำไม? หลายคนอาจเคยคิดตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของผี โดยอาจารย์ อานันท์ นาคคง เคยให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาของศิลป์สโมสร Thai PBS ในหัวข้อ ‘พลังสตรี ผี เฮี้ยน’ มองพลังของ ‘ผู้หญิง’ ผ่านมิติโลกแห่งความตายว่า “อำนาจคือการใช้มิติบางอย่างเพื่อให้เราเชื่อ เราศรัทธา เรานับถือ เรายำเกรง เรากลัว อำนาจมีบทบาทในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมผู้คน อำนาจมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตประเพณี ผีถูกเอามาใช้ในเรื่องของการสร้างอำนาจ การแสดงอำนาจ” เมื่อเข้าใจแบบนี้เราจึงสามารถตอบคำถามที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘ผีกระสือที่มักออกมาหากินยามดึกดื่น’ ว่าแท้จริงแล้วอาจเป็นกุศโลบายในการควบคุมบางสิ่ง ซึ่งในสมัยก่อนผู้ใหญ่มัก ‘หลอก’ เด็กว่า “เดี๋ยวให้ผีกระสือมาจับตัว” ก็ทำเอาเด็กๆ ว่านอนสอนง่ายเพราะเกรงกลัวขึ้นมาทันตาเห็น 

‘ความเป็นผี’ กับ ‘เพศหญิง’  

การปฏิรูประบบศักดินาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยพัฒนาไปเป็นแบบ ‘ปิตาธิปไตย (ระบบชายเป็นใหญ่)’ ซึ่งกลุ่มคนที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยในยุคต่อๆ มา ก็คือผู้ชายชนชั้นสูงที่มีโอกาสได้รับการศึกษาเท่านั้น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของผีต่อมาในวรรณกรรมประโลมโลกที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชาย และกลายเป็นเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเพศหญิงอย่างมีนัยยะ ยกตัวอย่างเช่น ‘แม่นาก ผีเฮี้ยนที่ต้องรอคอยสามีจนกระทั่งตายทั้งกลม’, ‘ผีกระสือสาวที่ชอบหากินเวลากลางคืนและยังโปรดปรานในการกินของโสโครกกว่าสิ่งใด’ ล้วนแล้วแต่มีเส้นเรื่องที่แตกต่างไปจากจริยธรรมความเป็นหญิง จนท้ายที่สุดหญิงเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับเรื่องราวอันน่าเศร้าสลด จนกลายเป็นความอาฆาตแค้นแถมยังศักดิ์สิทธิ์ตามแบบฉบับผีไทย  

จาก ‘กระสือ’ สู่ ‘กระแส’ 

ตำนานของ ‘ผีกระสือ’ เป็นสิ่งที่สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาลไม่ว่าจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม ซึ่งภาพจำของกระสือที่มีหัวกับไส้ในครั้งแรกนั้นมาจาก อ.ทวี วิษณุกร ผู้วาดภาพการ์ตูนเรื่อง ‘กระสือสาว (2511)’ ก่อนส่งอิทธิพลต่อมาอย่างแพร่หลายทั้งใน ละครและภาพยนตร์  
 
ต่อมาได้ภาพยนตร์เรื่อง ‘กระสือสาว (2516)’ ที่นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ และ สมบัติ เมทะนี ส่งผลให้กระสือกลายเป็นเรื่องผีใกล้ตัวที่สามารถจะเจอะเจอได้ทุกวี่ทุกวัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยในตอนนั้นถึงกับหวาดกลัวแสงวับๆ แวมๆ ในช่วงเวลากลางคืนกันเป็นอย่างมาก  
 
แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีการเล่าเรื่องของกระสือในมุมมองต่างๆ ออกมาให้ได้รับชมอยู่เรื่อยๆ อย่างภาพยนตร์ล่าสุดเรื่อง ‘แสงกระสือ 2 (2566)’ ที่นำเรื่องราวของ ‘กระสือ’ และ ‘กระหัง’ มาตีความในมุมมองใหม่ให้กลายเป็นเรื่องราวสยองขวัญ แฟนตาซี คละคุ้งด้วย ความโรแมนติก ที่มีเส้นเรื่องมาจากตำนานเดิมๆ ของกระสือนั่นเอง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6n1vgyfvzzMrGO53c8QFh6/d868c55b779000fa8635667f9b0162b5/GHOST-STORY-KRASUE-SPACEBAR-Photo01
ท้ายที่สุดไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปเพียงใด ตำนานของ ‘ผีกระสือ’ ก็ยังคงอยู่เคียงคู่คนไทยต่อไป แม้จะมีการพัฒนาไปในรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องราวของ ‘กระสือที่หัวกับไส้ห้อยระโยงระยางไปมา’ ก็ยังคงเป็นตำนานแบบฉบับสังคมไทย ให้สืบต่อไปจนรุ่นหลานรุ่นเหลน เพราะหากมองย้อนไปเรื่องเพศและพิธีกรรมและวัฒธรรมต่างๆ มักยึดโยงมนุษย์ไว้กับความความเชื่อ กลายเป็นอำนาจที่ส่งผลให้มนุษย์อยู่ในลู่ในทาง เพราะมิฉะนั้น “เดี๋ยวผีกระสือจะมาจับกิน” แน่นอน! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์