ใกล้เทศกาลรักล้นฟีดเฟซบุ๊ก หวังรักยืนยาวอย่าติดกรอบความโรแมนติก

31 ม.ค. 2566 - 09:35

  • แนวคิดเรื่อง ‘ความโรแมนติก’ เพิ่งได้รับความนิยมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดจากอิทธิพลของสื่อ ตั้งแต่ดนตรี กวี ไปจนถึงงานวรรณกรรมจากตะวันตกหลายเรื่อง

  • ความโรแมนติกคือการแสดงภาวะอารมณ์อย่างสุดซึ้ง การถูกอารมณ์ชี้นำมากกว่าเหตุผล การเชื่อในเรื่องของหัวใจอย่างสุดโต่ง

  • อิทธิพลของสื่อนำเสนอความรักจนกลายเป็นกระแสนิยมที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดแม่แบบของความสัมพันธ์

on-romantic-from-goethe-til-now-Main
นึกภาพภัตตาคารหรูแห่งหนึ่งใจกลางเมือง ตัดภาพไปห้องอาหารที่มีโต๊ะ เก้าอี้ จัดด้วยผ้าอย่างดี บนโต๊ะมีช้อนส้อม มีด เงาวับวางเป็นระเบียบ แจกันแก้วใบเล็กมีดอกกุหลายแช่อยู่สองสามดอก ข้างๆ กันมีเปลวไฟจากเทียนหอมส่องสว่างไสว ทันใดนั้นชายรูปงามคนหนึ่งก็เดินมาเลื่อนเก้าอี้ ให้หญิงสาวที่เดินตามมาหย่อนตัวลงนั่ง จากนั้นฝ่ายชายเดินอ้อมไปนั่งเก้าอี้ตรงข้าม บริกรเดินมา ต่างคนต่างสั่งอาหารด้วยน้ำเสียงสุภาพ ท่ามกลางเสียงดนตรีแจ๊ซคลอไปพลางๆ 

หลังกินอาหารกันเสร็จ ทั้งสองคนคุยกันอย่างสนุกสนาน เมื่อถึงจังหวะเหมาะ ผู้ชายจึงได้ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบกล่องกำมะหยี่ออกมา มืออีกข้างเอื้อมไปจับมือหญิงสาวคนนั้น พร้อมพูดขึ้นว่า “สุขสันต์วันครบรอบ” ฝ่ายหญิงอุทานด้วยความดีใจ ส่วนฝ่ายชายเรียกบริกรเช็คบิลระหว่างที่ฝ่ายหญิงตื่นเต้นกับอัญมณีแวววับที่วางอยู่ตรงหน้า ค่ำคืนอันสวยงามจบไปที่เรียบร้อย 

คนแต่ละคนมีภาพจำเกี่ยวกับความโรแมนติกแตกต่างกันออกไป สำหรับบางคนอาจเป็นมื้อพิเศษในภัตตาคารหรูหราอย่างที่เล่ามา หรือเป็นการเดินเลียบแม่น้ำท่ามกลางแสงไฟสีส้มสลัวๆ แล้วจริงๆ แนวคิด ‘ความโรแมนติก’ คืออะไรกันแน่ 

‘ความโรแมนติก’ ถูกตีความเป็นเรื่องของการกระทำต่อกัน การแสดงความรู้สึกอย่างสุดซึ้ง ความรู้สึกรักที่มากมายจนล้นพ้น มันคือการปฏิเสธต่อการคลุมถุงชน การหลีกหนี และชี้นำด้วยอารมณ์ความรู้สึก คอนเซปต์นี้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่่ 18 ที่ทวีปยุโรป ซึ่งเป็นช่วงการมาของสื่อ (medium) เช่น ดนตรี วรรณกรรม รวมไปถึงงานศิลปะต่างๆ  

เมื่อมนุษย์มีความรู้สึกไม่ว่าจะทุกข์ สุข สื่อเหล่านี้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการระบาย ปลดปล่อย ความรู้สึกออกมาราวกับหมึกที่กระจายลงน้ำ จะเห็นว่ามีงานของนักเขียน และศิลปิน หลายคนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ขับเน้นเรื่องความรู้สึกเป็นพิเศษ โยฮาน โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่อ (Johann Wolfgang von Goethe) นักเขียน และนักคิดชาวเยอรมัน เจ้าของงาน ‘The Sorrows of Young Werther’ (ชื่อแปลไทยคือ ‘แวร์เธอร์ระทม’) เป็นงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่สามารถอธิบายความโรแมนติกได้ดีที่สุด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7MBDzs0ENIAOKqN7v4bWzp/7ac5e9c025977268efc66a10a10c3bc7/on-romantic-from-goethe-til-now-Photo01
Photo: โยฮาน โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่อ (Photo: Wikipedia)
The Sorrows of Young Werther เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มชื่อ แวร์เธอร์ (Werther) ไปตกหลุมรักกับหญิงสาวที่มีคู่หมั้นแล้วชื่อ ชาร์ล็อตเธ่อ (Charlotte) แวร์เธอร์เป็นสามัญชนธรรมดา ในขณะที่ อัลแบร์ต (Albert) คู่หมั้นของชาร์ล็อตเธ่อเป็นผู้มีฐานะดี ถึงกระนั้นแวร์เธอร์ก็ยังแวะไปเยี่ยมเยียนเธออยู่บ่อยครั้ง จนแวร์เธอร์เริ่มรู้สึกเศร้าโศกที่ชาร์ล็อตเธ่อไม่สามารถรับรักเขาได้ จึงเกิดความคิดว่าในระหว่างสามคนต้องมีคนตายเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปอย่างปกติ ซึ่งเขาเลือกฆ่าตัวเองด้วยปืน ถูกฝังอย่างเงียบๆ ไม่มีแม้แต่บาทหลวง หรืออัลเบิร์ต และชาร์ล็อตเธ่อมาร่วมงาน 

ผลงานเรื่องนี้เขียนขึ้นจากชีวิตจริงของเกอเธ่อ และจากเรื่องทำให้เห็นว่าแวร์เธอร์เป็นผู้ที่ถูกชี้นำโดยอารมณ์ เป็นผู้ที่เชื่อว่าความรักจะสามารถชนะทุกอย่าง และก้าวข้ามความสมเหตุสมผลทั้งปวงได้ แม้ตัวชาร์ล็อตเธ่อจะมีใจให้กับแวร์เธอร์อยู่บ้าง แต่เธอเองก็ต้องแต่งงานเพราะความจำเป็นเรื่องฐานะ และครอบครัว เช่นเดียวกับงานวรรณกรรมของคนอื่นๆ ความโรแมนติกคือการแสดงความรู้สึกให้กับคนอื่นว่า ‘ไม่มีใครเข้าใจฉันได้อีกแล้ว’ หรือ ‘มีมนุษย์ไม่กี่คนที่จะเข้าใจฉันได้เลย’ การที่แวร์เธอร์ตัดสินใจปลดชีวิตตัวเองไม่ต่างอะไรกับพระเยซูที่ยอมตรึงกางเขนเพื่อชำระบาปให้มนุษย์ทุกคน มีเพียงเหล่า ‘สานุศิษย์’ เท่านั้นที่เข้าใจ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/CKDRLu9aJw7NberzDigVK/b12b1b331a6ae3c34bab8a06b7651242/on-romantic-from-goethe-til-now-Photo02
Photo: The Sorrows of Young Werther ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1774 (Photo: Wikipedia)
จนมาถึงปัจจุบันคอนเซปต์เรื่องความโรแมนติกไม่ได้จางหายไปไหน แต่กลับยิ่งเพิ่มความนิยมชมชอบกันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดความโรแมนติกผ่านภาพยนตร์ และดนตรี 

ปัจจุบันมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักอยู่นับไม่ถ้วน เช่นเดียวกันกับดนตรีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ด้วยการที่ความรักเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นได้กับทุกคน มันเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจคนได้มากที่สุด แถมยังส่งผลได้ดีกว่าหนังสืออีกด้วย เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่มองเห็นได้ ได้ยินเสียง จึงเกิดความสุนทรียภาพในการเสพ และเข้าถึงได้มากกว่า 

ภาพยนตร์รักนั้นส่วนใหญ่เต็มไปด้วยการจัดฉาก ตัดต่อจังหวะจะโคนให้ถูกใจคนชม สามารถขับอารมณ์ผู้ชมได้อีกด้วย รวมถึงเนื้อเรื่องที่ถูกแต่งออกมาผ่านการคิดมาแล้วหลายครั้ง เป็นเนื้อเรื่องที่เล่าออกมาจนรู้สึกว่าเกินจริง แต่ทว่าความเกินจริงนี้ เป็นความเกินจริงที่กลายเป็น ‘นอร์ม’ (Norm หรือ Social Norm เป็นคำเรียกสำหรับการกระทำใดก็ตามที่เป็นที่ยอมรับในสังคมหมู่มาก) หรือกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คนไปแล้ว 

มีหลายอย่างภายในภาพยนตร์รัก และสื่ออื่นๆ ที่กลายเป็นนอร์มในสังคมของทั้งคนมีความสัมพันธ์ และไม่มีความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกเดท กรอบความคิดที่มีต่อความสัมพันธ์ ทั้งคนโสดต่อการหาคู่ และคนมีความสัมพันธ์ที่มีต่อคู่ด้วยกันเอง รวมถึงการปฏิบัติ และการแสดงความรักต่อกัน จนกลายเป็นเป็นสิ่งที่ เอเลียน เด บอตทัน (Alain de Botton) นักปรัชญา และนักเขียน ผู้ก่อตั้ง The School of Life เรียกว่า ‘Romantic Template’ หรือ ‘แม่แบบความสัมพันธ์แบบโรแมนติก’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3YQp2ywI99bYoz2e2CnR9v/6661e579ebed7d9e15d6d0679304c8b6/on-romantic-from-goethe-til-now-Photo03
เอเลียน อธิบายว่าแม่แบบความสัมพันธ์นี้เป็นแม่แบบที่คนในปัจจุบันยึดถือเป็นกรอบความคิดหลักในการมองความสัมพันธ์ แบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
  • การเลือกคู่รัก ต้องอาศัยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการคิดพิจารณาแบบเป็นจริงเป็นจัง การรู้ว่าตัวเองมีความรัก ต้องมีความรู้สึกที่พิเศษเกิดขึ้นภายในใจเท่านั้น 
  • คู่รักต้องเข้าใจกันและกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องบอก 
  • การพูดเรื่องสถานะทางการเงินเป็นเรื่องที่ทำให้ความสัมพันธ์ดูไม่โรแมนติก 
  • รักแท้คือการที่ยอมรับในตัวคู่รักทุกเรื่อง 
  • เราควรเจอใครสักคนที่มีความงามทั้งภายนอกและภายใน และต้องเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันเลยทันที 
  • เราต้องมีเซ็กซ์ด้วยกันตลอดไป 
  • เราไม่จำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองเป็นคู่รักที่ดี แค่ตามความรู้สึก และหัวใจไปอย่างเดียว 
  • ต้องไม่มีความลับต่อกัน และใช้เวลาร่วมกันตลอดเวลา 
  • คู่รักต้องเป็นทั้งคนรัก เพื่อน ที่ปรึกษา และครอบครัว
Romantic Template เป็นแม่แบบที่เอเลียนกล่าวว่าเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์อย่างแท้จริง เพราะคนเราไม่สามารถถูกชี้นำด้วยอารมณ์ความรู้สึกได้ตลอดเวลา อีกทั้งเป็นการฝืนต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (Human Nature) 

แทนที่จะยึดตามแม่แบบ Romantic Template เอเลียนเสนอให้เรายึดตามแม่แบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Classical Template’ หรือ ‘แม่แบบความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม’ เป็นแม่แบบที่ยึดถือเอาเหตุผล และความจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเน้นใช้ความรู้สึกแบบสุดโต่ง สามารถแบ่งเป็นคร่าวๆ ได้ดังนี้
  • เราต้องสลัดกรอบความคิดแบบโรแมนติกไปตั้งแต่แรก 
  • แทนที่จะยึดถือ Romantic Template เราควรสร้างความเข้าใจกับคู่รักแบบจิตวิทยาเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ในระยะยาว 
  • ความรักและการมีเซ็กซ์ไม่ใช่สิ่งยืนยาว การปราศจากมันไม่ได้เป็นสัญญาณของความสัมพันธ์ที่กำลังล้มเหลว 
  • พวกเราต่างมีข้อบกพร่อง คู่รักของเราก็เช่นกัน เราควรมีความอดกลั้น และความใจกว้างในการอยู่ร่วมกัน 
  • เราไม่สามารถเจอทุกอย่างในตัวคู่รัก คู่รักไม่สามารถมีอะไรเพียบพร้อมได้ เพราะมนุษย์ล้วนมีความไม่สมบูรณ์แบบ 
  • การปรึกษาหารือกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามถือเป็นเรื่องจริงจัง และสำคัญมาก
ในยุคสมัยปัจจุบัน สื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนมาก โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้ผู้คนมีการเชื่อมต่อกันตลอดเวลา และแน่นอนกรอบความคิดแบบโรแมนติกมีการติดพ่วงอยู่กับกระแสตลอดเวลา จากที่ความโรแมนติกถูกเผยแพร่ไปในวงการภาพยนตร์ โลกโซเชียลก็ยังมีกรอบความโรแมนติกอยู่ด้วย 

ยกตัวอย่างในช่วงวันวาเลนไทน์ ทุกคนล้วนเข้าใจว่าวันนี้เป็นวันแสดงความรักต่อกัน (หรือจริงๆ คือวันที่ระลึกถึงความรักอันบริสุทธิ์ของนักบุญวาเลนไทน์) จากที่การแสดงความรักเป็นเรื่องของคนสองคน การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตทำให้การแสดงความรักเป็นเรื่องของสาธารณะ ตามนิสัยใจคอของความเป็นมนุษย์ คือ มนุษย์ล้วนต้องการความยอมรับจากสังคม หรือคนรอบข้าง การแสดงความรักให้ผู้อื่นได้รับรู้ เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับคู่รักว่าอีกฝ่ายได้ยอมรับในตัวของเขาแล้วผ่านสายตาของคนอื่นที่จับจ้องเข้ามา หรือบางทีได้เห็นคู่รักคู่อื่นแสดงความรักต่อกันสามารถสร้างความรู้สึกที่ยินดี เอิบอิ่มหัวใจ หากคู่รักได้ทำเช่นนั้นบ้าง คนอื่นจะเห็นเราอย่างที่เรารู้สึกกับคู่อื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคือการสนองความต้องการของเรากับสังคม ดังนั้น ไม่แปลกเราจึงเห็นการแสดงความรักผ่านโลกโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ 

อย่างไรก็ตามความสุดโต่งของมันก็ยังมีให้เห็นกันอยู่บ้าง การแสดงความรักบนพื้นที่สาธารณะกลับกลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่คู่รักทุกคนต้องทำตาม มิเช่นนั้นอาจหมายถึงว่าคนรักไม่รักจริง คนรักไม่ยอมรับอีกฝ่าย หรือความรักนั้นดูไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย ความรักนั้นเป็นเรื่องของคนสองคนที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างดี แต่ละคนมีการแสดงออกทางด้านความรักแตกต่างกันไป สุดท้ายเราต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ‘มนุษย์มีความแตกต่าง’ และ ‘มนุษย์ย่อมไม่สมบูรณ์แบบ’ ถึงเราจะแก้ให้มีความสมบูรณ์ไม่ได้ แต่เราสามารถใช้เหตุผลของเรา พร้อมกับกรอบความคิดที่ดี มองเห็นความเป็นจริง สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ให้อยู่ต่อไปพร้อมกับสุขภาพจิตและหัวใจที่ดี 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์