The Good Bad Mother ไขความสัมพันธ์ ‘แม่-ลูก’ ผ่าน ‘หมู’ ที่ไม่ ‘หมู’ เหมือนที่คิด

27 เม.ย. 2566 - 04:32

  • พามารู้จัก The Good Bad Mother ซีรีส์ดราม่าจากช่อง JTBC ที่น่าจับตามองในขณะนี้

  • ‘มนุษย์’ กับ ‘หมู’ เหมือนกันอย่างไรในซีรีส์?

  • ความเก็บกดจากการถูกบังคับของ ‘หมู’

  • ความเชื่อเรื่อง ‘หมู’ ของคนเกาหลี

The-Story-Behind-Pigs-In-Korean-Series-Good-Bad-Mother-SPACEBAR-Thumbnail

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์บางส่วน*  

‘The Good Bad Mother แม่ดี แม่ร้าย’ เป็นซีรีส์ดราม่าทางโทรทัศน์ช่อง JTBC ประเทศเกาหลีใต้ ที่เพิ่งออกอากาศตอนแรกไปเมื่อคืนวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ได้นักแสดงนำมากฝีมืออย่าง รา มีรัน (Ra Mi Ram) มารับบท จิน ยังซุน และ อี โดฮยอน (Lee Do Hyun) นักแสดงเจ้าของรางวัล Best Actor จากงานประกาศรางวัล 2021 KBS Drama Awards มารับบท ชเว คังโฮ 
 
The Good Bad Mother คือเรื่องราวของ จิน ยังซุน แม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ประกอบอาชีพทำฟาร์มหมู หลังจากสามีของเธอถูกฆาตกรรมและเสียชีวิตไปอย่างไม่ยุติธรรม เธอตั้งมั่นที่จะเลี้ยงดู ชเว คังโฮ ลูกชายของเธออย่างดีที่สุด เพื่อให้เขาสามารถมีอนาคตที่ดีและไม่ต้องมาลำบากเหมือนเธอกับสามี ยังซุนจึงจำเป็นต้องทำตัวเป็นแม่ใจร้ายที่เข้มงวดกับลูกชายในทุกๆ เรื่อง 
  
เมื่อคังโฮโตขึ้น เขาเข้าทำงานเป็นอัยการและมีบุคลิกเย็นชาจนน่ากลัว ด้วยความกดดันที่ได้รับจากแม่มาตลอดชีวิต คังโฮจึงกลายเป็นคนเย็นชาและเมินเฉยกับทุกอย่างรอบตัวไปโดยปริยาย แต่แล้ววันหนึ่ง คังโฮได้ประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เขากลับมามีบุคคลิกสดใสและเชื่อว่าตัวเองมีอายุเพียง 7 ขวบเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ยังซุน เลยคิดว่าเธอเองก็จำเป็นต้องสวมบทแม่ใจร้ายอีกครั้งเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำและสร้าง ชเว คังโฮ ขึ้นมาใหม่ในแบบที่เธอเชื่อว่าลูกของเธอควรเป็น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Bza2VtcIxENFwQMNUEBGk/a57edd0ca267c358c74ad6ec0e3adf8e/The-Story-Behind-Pigs-In-Korean-Series-Good-Bad-Mother-SPACEBAR-Photo01

เรื่องราว ‘หมูๆ’ ในซีรีส์

มีสัตว์บางชนิดที่มีประโยชน์ทุกส่วนตั้งแต่หัวจรดเท้า รู้ไหมว่าคืออะไร มันคือมนุษย์แล้วก็หมู

The Good Bad Mother ตอนแรก เปิดเรื่องด้วยการใช้ ‘หมู’ เป็นตัวนำเข้า อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จิน ยังซุน ตัวละครหลักของเรื่องทำฟาร์มหมูเป็นอาชีพ ซึ่งหมูถือเป็นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภค โดยทุกส่วนของหมูสามารถนำมากินหรือใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ อวัยวะภายใน หรือแม้แต่กระดูก นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นแฮม เบคอน หรือไส้กรอกได้อีกด้วย ซึ่งในเนื้อหมูจะประกอบไปด้วยโปรตีน วิตามินบี 1 ที่มีส่วนช่วยลดอาการเหน็บชา วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 3 หรือ ไนอาซินที่ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง 

 
จากประโยคข้างต้น จิน ยังซุน พยายามแสดงให้เห็นถึงความคล้ายกันของมนุษย์กับหมู มนุษย์เองก็เป็นสัตว์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนเช่นกัน แม้อาจไม่ได้นำมาบริโภคเหมือนหมู แต่เราใช้อวัยวะต่างๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานขณะมีชีวิตอยู่ และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ร่างกายของมนุษย์ยังสามารถสร้างประโยชน์ด้านการศึกษาทางการแพทย์ หรือส่งต่อโอกาสในการมีชีวิตอยู่ด้วยการบริจาคอวัยวะต่างๆ ที่ยังคงใช้งานได้ให้กับผู้คนที่ต้องการ 
 
นอกจากความคล้ายกันทางด้านประโยชน์ มนุษย์และหมูยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือมักถูก ‘ตัดสิน’ จากภายนอก 
 
หลายครั้งทั้งหมูและมนุษย์มักถูกตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอก มนุษย์มักตัดสินกันและกันจากการแต่งตัว หน้าที่การงาน เงิน คำนินทา และสายตาที่มองเห็นเรื่องราวเพียงด้านเดียว ไม่ต่างอะไรมากนักกับสายตาที่เรามักตัดสินหมู ผู้คนมักคิดว่าหมูเป็นสัตว์ที่สกปรกและส่งกลิ่นเหม็น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น หมูจะไม่ขับถ่ายเรี่ยราด มันจะถ่ายในที่ที่เดียวเสมอ และมักจะนอนในที่ที่สะอาดเท่านั้น  แต่เราไม่เคยได้รับรู้ความจริงข้อนี้ เพราะหมูไม่สามารถอธิบายให้เราฟังได้ และเราเองก็ไม่เคยตัดสินใจจที่ะลองไปสัมผัสการใช้ชีวิตของมันจริงๆ จังๆ สักครั้ง 
 
เช่นเดียวกันกับตัวละคร จิน ยังซุน ในฐานะผู้เป็นแม่ ยังซุนไม่เคยอธิบายให้ลูกชายของเธอเข้าใจถึงเหตุผลหรือเจตนาในการเคี่ยวเข็นของเธอเลยสักครั้ง เธอเอาแต่แสดงความใจร้าย โดยคิดว่าวันหนึ่งลูกจะเข้าใจในเจตนาของเธอที่ต้องการให้เขามีชีวิตที่ดี แต่การทำความเข้าใจมนุษย์ไม่ง่ายขนาดนั้น 
 
พ่อแม่หลายคนมีเป้าหมายในการเลี้ยงลูกคือการพยายามทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์แบบที่สุด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังให้ลูกต้องทำตัวดีอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นคนเก่ง หรือไร้ข้อบกพร่อง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ ต้องการจากคนที่เขารัก พวกเขาต้องการได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับความใส่ใจ และต้องการรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่า 
 
ดร. โรเบิร์ต ไมเยอส์ นักจิตวิทยาเด็กกล่าวว่า เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญและมีคุณค่าจะมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าและมีทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิตและความสัมพันธ์ที่ดีกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะจัดการกับความขัดแย้งได้สูงกว่า มีความเคารพผู้อื่นมากกว่า และโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นคนที่รอบรู้มากกว่า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3rFovrsYP2bHgQGVgMtwhc/9b0c15eeddd0b1e5d4a7b8dfb92e1ac9/The-Story-Behind-Pigs-In-Korean-Series-Good-Bad-Mother-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: อี โดฮยอน รับบท ชเว คังโฮ : เว็บไซต์ JTBC

ความเก็บกดจากการถูกบังคับของ ‘หมู’ 

“หมูจะอาบโคลนบ่อยๆ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และไล่แมลงออกจากตัว แต่มนุษย์เรามักจะขังหมูเอาไว้ในคอกแคบๆ สุดท้ายแล้วหมูก็ไม่สามารถอาบโคลนแบบที่ต้องการได้ มันเลยเอาตัวของมันไปถูกับอึและฉี่ของตัวเอง จนทำให้ตัวสกปรกและมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น” 
 
หมูที่ถูกขังอยู่ในคอก ความรู้สึกของการถูกบังคับให้ทำอะไรตรงกันข้ามกับความต้องการของตัวเอง คงไม่ต่างอะไรจากการที่มนุษย์ถูกบังคับให้ปฏิบัติตัวอยู่ภายใต้ความคาดหวังของใครสักคน 
 
ตลอดชีวิตวัยเด็กของคังโฮ เขามักถูกความคาดหวังของแม่ครอบงำเสมอ ต้องเรียนเก่ง ต้องตั้งใจอ่านหนังสือ  ต้องได้รับการประเมินความประพฤติดีจากโรงเรียน ต้องเชื่อฟังและทำตามคำสั่งของแม่เท่านั้น เขาไม่เคยไ้ด้ทำอะไรตามใจต้องการสักครั้ง แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการไปเที่ยวห้องคาราโอเกะหรือโรงหนังกับเพื่อนก็ไม่เคยได้ทำ ถึงการปฏิบัติตัวตามความต้องการของ ยังซุน ผู้เป็นแม่ของเขา จะสามารถทำให้คังโฮเติบโตขึ้นมามีอนาคตที่ดีอย่างที่แม่เขาคาดหวังไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ขโมยช่วงเวลาที่ควรได้รับความสนุกสนานตามวัยของเขาไป จากเด็กที่เคยสดใสกลับถูกความคาดหวังหล่อหลอมจนกลายเป็นคนเย็นชาเมื่อเติบโต 
 
ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า ‘การเก็บกด’ (Repression) เป็นกลไกการป้องกันตนเองรูปแบบหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหลีกหนีจากความทรงจำที่ไม่ดี หรือเก็บซ่อนอารมณ์ที่ต้องอดทน อดกลั้น คับข้องใจเป็นระยะเวลานาน มักเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของลูก ใช้คำพูดเชิงลบและอารมณ์ในการลงโทษ อีกทั้งยังชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นเสมอ จนเด็กเริ่มอึดอัดและเกิดความเครียด ความรู้สึกเหล่านี้จะถูกพัฒนากลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีในอนาคต เช่น มองโลกในแง่ร้าย มีท่าทีก้าวร้าว หรือเย็นชา ซึ่งความเก็บกดอาจกลายเป็นความโกรธแค้น และรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมได้  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/dsZQ4JFgyrzrTiCpHvPtH/56f8ef5c727b23a273ded641bed5b8f1/The-Story-Behind-Pigs-In-Korean-Series-Good-Bad-Mother-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: รามีรัน รับบท จิน ยังซุน : เว็บไซต์ JTBC
นอกเหนือจากนัยยะของหมูที่ตัวละครกล่าวมาแล้ว สำหรับคนเกาหลี หมูถือเป็นสัตว์มงคลหรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่สามารถนำพาเงินทองและความสุขมาให้ได้  
 
ตามเรื่องเล่าของคนเกาหลี จัก เจเจียน ปู่ของ หวังเจียน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์โครยอ ราชวงศ์เก่าแก่ของเกาหลี ได้รับหมูมาเป็นของขวัญจากราชามังกร เทพเจ้าผู้ปกครองทะเลตะวันตก ด้วยขนาดตัวและความตระกละตระกลามของหมู มันจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และการแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย ผู้คนจึงเชือว่าหมูคือสัตว์พิเศษที่จะนำพาความเป็นสิริมงคลมาให้  ดังนั้นหากใครฝันถึงหมูก็จะถือว่าเป็นความฝันที่ดีที่จะนำพาโชคลาภความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิต ไม่แน่ว่าในตอนต่อๆ ไปของซีรี่ส์ The Good Bad Mother เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นบริบทในแง่นี้ของหมูก็เป็นได้ 
 
ซีรี่ส์ The Good Bad Mother มีจำนวนทั้งหมด 14 ตอนและมีความยาวตอนละ 60 นาที หากใครสนใจอยากรับชมเรื่องราวดราม่าครอบครัวสะเทือนอารมณ์จาก 2 นักแสดงชั้นนำของเกาหลีใต้ ก็สามารถรับชมได้ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 22.30 น. ทาง Netflix

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์