TikTok ยังเป็นเซฟโซนของเควียร์อยู่อีกไหม?

3 ก.พ. 2566 - 08:00

  • ติ๊กต็อก (TikTok) เป็นแหล่งรวมคอนเทนต์แทบทุกรูปแบบ ด้วยอัลกอริทึมและความเปิดกว้างทำให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเควียร์รุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาตัวเอง

  • กระแสติ๊กต็อกที่บูมขึ้นเรื่อยๆ บวกกับอคติทางเพศที่ห้ามไม่ได้และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ติ๊กต็อกไม่ปลอดภัยสำหรับสังคมเควียร์อีกต่อไป

TikTok-Anti-LGBTQ-Content_Main
ติ๊กต็อก (TikTok) พื้นที่เผยแพร่คลิปความสั้น 15 วินาทีที่คนผลัดกันสร้างและเสพ ไม่ว่าจะเป็นคลิปเต้น ศิลปะ มีมตลก ความรู้ การเมือง และอีกสารพัดความเป็นไปได้ รวมทั้งเรื่องเพศ บางคนมีสถานะใหม่เป็น 'ดาวติ๊กต็อก' บางคนได้ช่องทางหารายได้เพิ่มมาอีกหนึ่ง และบางคนค้นหาไปจนถึงค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง 
 
Gender Crisis – Donnie Fitz เป็นเพลงในติ๊กต็อกว่าด้วยการตั้งคำถามกับเพศตัวเอง หลายคนใช้เพลงนี้ร่วมกับฟิลเตอร์ Blue & Red ฟีเจอร์สีฟ้าที่เปลี่ยนหน้าเราเป็นผู้ชาย เมื่อกระพริบตาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและเปลี่ยนหน้าเราเป็นผู้หญิง ทำให้ได้ลองเห็นตัวเองในแบบต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #questioninggender #genderfluid 
 
นอกจากนี้ ติ๊กต็อกยังมี: 
คลิปที่ติดแฮชแท็ก #gay รวม 175,500 ล้านวิว 
คลิปที่ติดแฮกแท็ก #lgbtq รวม 151,300 ล้านวิว 
คลิปที่ติดแฮชแท็ก #queer รวม 19,300 ล้านวิว 
และคลิปอื่นๆ เกี่ยวกับชาวเควียร์ที่มียอดวิวรวมหลายพันล้านวิว 
 
เหล่านี้ทำให้คนกล่าวขานว่าติ๊กต็อกเป็นสวรรค์สำหรับเควียร์รุ่นใหม่ ที่ที่พวกเขาสามารถสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศในโลกนี้ และอีกหลายต่อหลายนิยามที่อาจตรงกับตัวเอง 
 

ทำไมติ๊กต็อกเป็นสวรรค์ของเควียร์ 

ติ๊กต็อกเป็นเหมือนส่วนผสมที่ลงตัว คือไม่ได้สาธารณะขนาดเผยชื่อ สกุล และทุกแง่มุมในโลกจริง ขณะเดียวกันก็สาธารณะมากพอที่จะเชื่อมต่อเรากับคนอื่น ได้ปลดปล่อยตัวตน หรือในฐานะคนดูก็ได้เห็นการแสดงออกทางเพศหลายแบบที่อาจไม่ได้เห็นในชีวิตจริง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมแสดงออกในโลก ‘สาธารณะ’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6iW2GJ0Yz1dYGNStshzzMn/8d5d227fe578c06bf0e77c8476b01a9e/TikTok-Anti-LGBTQ-Content-01
ยิ่งในยุคโรคระบาดที่ผู้คนอยู่กับตัวเองและหน้าจอมากขึ้น ติ๊กต็อกก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อกลุ่มเควียร์รุ่นใหม่ ด้วยอัลกอริทึมที่ป้อนคอนเทนต์โดยคาดเดาจากสิ่งที่เสพ ทำให้หลายเควียร์ค้นพบสิ่งที่ตรงกับพวกเขา หรืออย่างน้อยก็ได้รู้ว่ามีความหลากหลายแบบไหนบ้างในโลกนี้ 
 

แต่ดูเหมือนสวรรค์แห่งการสำรวจกำลังจะเลือนหายไป...

ฤา สวรรค์ล่ม? เมื่อความวุ่นวายเดินมาเคาะประตูโลกชาวเควียร์ 
ความแพร่หลายของติ๊กต็อกที่มากขึ้นทุกวันกำลังสั่นคลอนความปลอดภัย และทำให้พื้นที่นี้สาธารณะเกินไปจนการทดลองหรือแสดงออกของเหล่าเควียร์หน้าใหม่อาจไปถึงผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่ที่พวกเขายังไม่พร้อมจะ ‘คัมเอาท์’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4qftCgOnhISKv8iDc15SGf/924453101fa35bc9ed6209d19272211a/TikTok-Anti-LGBTQ-Content-02
ซ้ำร้ายโลกที่ไร้กำแพงทางความคิดและความเกลียดชังยิ่งทำให้ติ๊กต็อกกลายเป็นโลกดิสโทเปีย เมื่อเริ่มมีคอนเทนต์เหยียดเพศ ต่อต้าน LGBTQ+ หลายครั้งสังคมต่อต้านเควียร์รุ่นใหม่โดยเฉพาะคนที่โด่งดัง และคล้ายจะพยายามดันให้พวกเขาไปอยู่ในแพลตฟอร์มสำหรับ LGBTQ+ โดยเฉพาะ 
 
นอกจากนี้ยังมีระบบเซนเซอร์ที่มีอคติ (ทางเพศ) เช่น ลดการมองเห็นคอนเทนต์ของคนที่ ‘ไม่สวย’ การแบนแฮชแท็ก #gay #transgender ในภาษารัสเซียและอาหรับ หรือการไม่สามารถควบคุมคอนเทนต์ไม่เหมาะสม เช่น คอนเทนต์ที่ส่งต่ออคติทางเพศ หรือแกล้งคัมเอาท์ว่าเป็นเกย์ 
 
นี่ไม่ใช่ยุคเว็บบอร์ดที่ทุกคนจะมีนามแฝงและร่างอวตารให้ค่อยๆ ค้นหา เรียนรู้ เติบโต โลกติ๊กต็อกมาพร้อมการแสดงตัวตนประมาณหนึ่งซึ่งมักหมายถึงหน้าหรือชื่อ บวกกับความจริงที่ว่าคลิปของพวกเขาจะกลายเป็นไวรัลเมื่อไรก็ได้ เรียกได้ว่าติ๊กต็อกกลายเป็นสนามทดลองที่มาพร้อมความเสี่ยง 
 
แต่แม้จะมีความเสี่ยงดังกล่าวในโลกไซเบอร์ที่ยากจะควบคุม เราจะเห็นว่าตอนนี้ติ๊กต็อกก็ยังเป็นศูนย์รวมความหลากหลายที่เหล่าเควียร์ร่วมสร้างบรรยากาศอันโอบอุ้มและอบอุ่น 
 
ทีนี้ก็อยู่ที่สังคมแล้วว่าจะพร้อมเปิดกว้างทำความเข้าใจหรือไม่ และจะสร้างระบบที่ให้ความสำคัญเรื่องความเกลียดชังและอคติทางเพศมากน้อยเพียงไร 
 
นี่คือคำถามและความคาดหวังของเควียร์ และใครอีกหลายๆ คนที่ยังอยากให้ติ๊กต็อกเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ มากกว่า ‘พื้นที่เป็นภัย’ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์