ภาพ ‘ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี’ สั่นไหวหัวใจคุณแค่ไหน? หนึ่งในงานศิลปะรักษ์โลก BAB 2024

18 ต.ค. 2567 - 10:57

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024

    ความรู้สึกเจ็บแปลบแล่นมาที่หัวใจ หลังเห็นภาพวาดบนผืนผ้าใบขนาดยักษ์สูง 3 เมตร ยาว 14 เมตรที่วาดโดยศิลปินอายุ 77 ปี

    อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) พ.ศ.2566 วาดภาพนี้หลังได้รับคำชวนร่วมแสดงงานศิลปะในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ (Bangkok Art Biennale 2024)

    และพอเธอรู้แนวคิดการจัดงานปีนี้, Nurture Gaia หรือในภาษาไทยชื่อ ‘รักษา กายา’ อาจารย์กัญญาก็นึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก และสิ่งที่เธออยากบอกเล่าผ่านผืนผ้าใบ

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024
    Photo: อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) พ.ศ.2566

    โลกกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต สภาพอากาศแปรปรวนเหมือนคนป่วยไข้ ในเทพปกรณัมกรีก Gaia (อ่านว่า ไก-อา) เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต เป็นดั่งมารดา ผู้เลี้ยงดู และผู้ให้ชีวิต พระนางถูกพูดถึงหลายนามตามความเชื่อในแต่ละพื้นที่ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรารู้จักกันในชื่อ “พระแม่ธรณี”

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024
    Photo: จิตรกรรมฝาผนังรูป “พระแม่ธรณี” ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี

    เมื่อ Gaia เป็นดั่งมารดา อาจารย์กัญญารู้สึกว่า

    “ลูกๆ อย่างพวกเรา ไปทำอะไรกับท่านก็ไม่รู้”

    อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล

    สัญญาณหายนะแจ้งเตือนไม่หยุดหย่อน แต่มนุษย์ดูจะแกล้งไม่ได้ยิน หรือได้ยินก็ไม่สะทกสะท้าน และส่วนใหญ่ยังคงปู้ยี่ปู้ยำโลกอย่างเลิ่นเล่อ

    “เราเป็นมนุษย์โลกที่รู้สึกว่า เราอยากจะปกป้องแม่ ถ้าเราปกป้องแม่ได้ ก็เท่ากับเราได้ปกป้องตัวเราเอง ฉะนั้นงานชิ้นนี้เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกต่อความเจ็บปวดของพระแม่ธรณี”

    อาจารย์กัญญาตั้งชื่อผลงานว่า ‘ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี’ ทันทีที่เห็น ภาพที่ดู Abstract Art ก็ทำงานกับความรู้สึกทันที

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024
    Photo: Kanya Charoensupkul, Whitewash for Mother Earth, 2024. Mixed media on canvas. 317 x 1446 cm.

    กว่าจะเข้าใจว่าความรู้สึกรวดร้าวเล็กๆ ในใจมาจากไหน ก็ตอนได้ยินอาจารย์กัญญาอธิบายแนวคิดการสร้างงานผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ

    “งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการลงพื้นดำก่อน เปรียบเสมือนว่าโลกเรานี้กำเนิดขึ้นมา มันไม่มีแสง คือความมืดดำ

    “แล้วต่อมาก็เริ่มมีแสงอาทิตย์สาดส่องมา เริ่มมีชีวิต เริ่มมีสีเขียว แล้วก็มีสีขาว เป็นสัญญะสื่อถึงเมฆฝน

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024

    “แสงแดด น้ำ และมวลอากาศ ทุกอย่างมันคือองค์ประกอบของการกำเนิดชีวิต

    “แล้วก็มีสีสันของดอกไม้ ที่สุดแล้วคือสีแดง อยากสื่อถึงเลือด เลือดของแม่ เลือดของสิ่งมีชีวิต

    “โลกมีชีวิตนะคะ พวกเราเป็นแค่เชื้อโรคที่มาอยู่บนโลก เราได้กระทำต่อโลกนี้ยังไง

    “การที่บางครั้ง (ขณะที่วาด) ใช้ไม้ไปกระทุง หรือใช้โลหะหรืออะไรก็แล้วแต่ที่กระทำกับผิวของงาน ให้เกิด texture ให้เกิดริ้วรอย เหมือนบาดแผล สิ่งที่ทำให้ Gaia บาดเจ็บ”

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024

    และ “เลเยอร์สุดท้ายที่ทำในงานชิ้นนี้ ก็คือสีขาว ซึ่งมีสองนัยยะ นัยยะหนึ่ง คือใช้ขาวกลบเกลื่อน ปิดบัง ไม่เห็น

    “แต่สีขาวที่ใช้ในงานชิ้นนี้ (อีกนัยยะ คือสีแห่งความปราณี ความสะอาด และความเมตตา) เหมือนกับเรากำลังชโลมยาบนผิวกายของพระแม่ธรณี แสดงถึงการอารักขา

    “นั่นคือความมีชีวิตของ Gaia และของตัวเราเอง, Gaia อยู่ เราก็อยู่ Gaia ตาย เราตาย…”

    อาจารย์กัญญา เจริญศุภกุล

    กันยายน พ.ศ. 2566, องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดวัดได้ในยุโรป อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติออกมากล่าวโทษว่าเป็นความผิดของมนุษย์แบบเต็มๆ

    “โลกของเรากำลังจะแตกเร็วกว่าที่เราจะรับมือไหวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก”

    แนวคิดเกี่ยวกับ Gaia อาจดูเป็นเรื่องปรัมปรา แต่สมมติฐานที่เสนอว่า ผืนดินเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค้ำจุนสรรพชีวิตก็ได้รับความสนใจอย่างมาก

    และดูจะเป็นจริงในแง่ที่ว่า หาก Gaia สูญสิ้น มีหรือที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะอยู่รอด

    spacebar สเปซบาร์, กัญญา เจริญศุภกุล, ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี, Bangkok Art Biennale 2024, BAB 2024
    Photo: ภาพวาด ‘ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี’ (Whitewash for Mother Earth)

    ชมภาพ ความเจ็บปวดรวดร้าวของพระแม่ธรณี (Whitewash for Mother Earth) ของจริงได้ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น B2 เวลา 10.00-19.00 น. ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2567 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568

    ติดตามข่าวสารเทศกาล Bangkok Art Biennale 2024 ได้ที่ BkkArtBiennale และ www.bkkartbiennale.com

    เรื่องเด่นประจำสัปดาห์