ออพเพนไฮเมอร์ กับการหมกมุ่นในปรัชญาอินเดีย ว่าด้วยภาระหน้าที่ ที่พึ่งทางใจ และระเบิดนิวเคลียร์

19 ก.ค. 2566 - 07:53

  • ไขที่มาประโยคของออพเพนไฮเมอร์ที่หยิบยกมาจาก ‘ภควัทคีตา’ หนึ่งในคัมภีร์สำคัญที่บรรจุรวมอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ ว่าด้วยเรื่องหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ควรพึงกระทำ

VIBE-bhagavad-gita-oppenheimer-SPACEBAR-Thumbnail

Now I am become Death, the destroyer of worlds.

ตอนนี้ผมได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายล้างโลก

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)

นี่คือสิ่งที่ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) กล่าวขึ้นหลังจากที่ชมการทดสอบทรินิตี้ (Trinity Test) หรือการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ในนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) โดยตอนนั้นออพเพนไฮเมอร์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานให้กับแล็ปลอส อาลามอส (Los Alamos Laboratory)  

ประโยคท่อนนี้ได้กลายเป็นที่โด่งดังหากพูดถึงระเบิดนิวเคลียร์ และออพเพนไฮเมอร์ โดยเขาหยิบมาจากข้อความใน ‘ภควัทคีตา’ (Bhagavad Gita) คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ เชื่อว่าแต่งขึ้นโดยฤๅษีวยาส (Vyasa) ประกอบด้วยบทกวีภาษาสันสกฤตจำนวน 700 บท เนื้อหาส่วนใหญ่ดึงคำสอนมาจากคัมภีร์อุปนิษัท หนึ่งในคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดในศาสนาฮินดู การที่ออพเพนไฮเมอร์นึกถึงบทกวีนี้อาจเป็นนัยว่าเขาเป็นคนสนใจเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนามากกว่าที่หลายคนคิดไว้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1vDr0jxWZyo1ismEJDoztg/cc63abf198f7e749fdf65643b0cc8315/VIBE-bhagavad-gita-oppenheimer-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikimedia
ภควัทคีตาเป็นการสนทนาระหว่าง 2 คน คือ อรชุน (Arjuna) นักรบยิ่งใหญ่จากฝ่ายปาณฑพ และกฤษณะ (Krishna) คนขับรถม้า เพื่อนคนสนิทของอรชุน และเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ที่มาของบทสนทนาเกี่ยวกับปรัชญาเกิดจากการที่อรชุนต้องออกรบ แต่มีความรู้สึกไม่อยากรบเพราะจำเป็นต้องฆ่าฟันกับญาติตัวเอง รวมถึงครูบาอาจารย์ที่ตัวเองเคยเป็นลูกศิษย์ ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า มหากาพย์ภารตะเป็นความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองตระกูล คือตระกูลปาณฑพ และตระกูลเการพ กฤษณะคิดว่าหากให้คำปรึกษาในร่างนี้คงไม่เป็นผล จึงจำแลงกายเป็นพระวิษณุต่อหน้าอรชุน และให้คำสอนสำคัญแก่เขา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2VKCWaXhWHB6ayKvHKH8OO/efbcf0c3f37137ea8b5db03dc5591c8e/VIBE-bhagavad-gita-oppenheimer-SPACEBAR-Photo02
Photo: Wikimedia
คำสอนหลักที่กฤษณะหรือพระวิษณุให้กับอรชุนเป็นหัวใจหลักของศาสนาฮินดู ส่วนใหญ่พูดถึงกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’ (Dharma) ซึ่งมีความแตกต่างจากธรรมะในศาสนาพุทธ ธรรมะในฮินดูหมายถึงหน้าที่ที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต อีกนัยหนึ่งคือกฎเกณฑ์ที่มอบให้กับแต่ละคน รวมถึงแต่ละวรรณะในสังคม เพื่อความเป็นระเบียบของจักรวาล การที่จะทำตามกฎเกณฑ์จักรวาลนี้ต้องทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘โยคะ’ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ กรรมโยคะ (Karma Yoga) ภักติโยคะ (Bhakti Yoga) และฌานโยคะ (Jnana Yoga) บุคคลที่สามารถทำตามได้จะบรรลุสู่โมกษะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวฮินดู 

พระวิษณุเน้นย้ำให้กับอรชุนเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ที่ควรทำ เพราะเป็นไปตามกฎของธรรมะที่ควรเอาชนะเหนือฝ่ายอธรรม แม้ว่าจะต้องบุกรบฆ่าฟันกับญาติพี่น้องตัวเองก็ตาม ตอนที่กฤษณะเผยร่างตัวเองเป็นพระวิษณุ ทุกอย่างรอบตัวอรชุนแผ่ซ่านเป็นแสง ใบหน้าของทุกสรรพสิ่งปรากฎอยู่เบื้องหน้าเขา มือเริ่มแยกออกมาเป็นร้อยเป็นพัน ในเงื้อมมือถืออาวุธหลากชนิด ทั้งหมดคือการแสดงถึงความไม่มีที่สิ้นสุด การเป็นจุดสูงสุดของจักรวาลที่ไม่มีใครเทียบได้ ฉากนี้ยังเป็นสิ่งที่ออพเพนไฮเมอร์นึกถึงตอนเห็นนิวเคลียร์ที่กำลังระเบิดอยู่เบื้องหน้า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Z7pNtnsqHmdVA2icgcEhB/3c864102efaa22ab39487756bb419655/VIBE-bhagavad-gita-oppenheimer-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: ร่างอันไม่มีสิ้นสุดของพระวิษณุ. (Wikimedia)
“ถ้าแสงสว่างจากดวงอาทิตย์นับพันปะทุขึ้นพร้อมกันบนท้องฟ้า มันคงเป็นภาพความงดงามของผู้ยิ่งใหญ่” (If the radiance of a thousand suns were to burst at once into the sky, that would be like the splendour of the mighty one) 

คำพูดที่ออพเพนไฮเมอร์กล่าวนั้นมาจากภควัทคีตาบทที่ 11 ซึ่งถูกเรียบเรียงอยู่ในบทชื่อ ‘The Universal Form’ หรือ รูปแบบสากล (ครอบจักรวาล) ซึ่งอันที่จริงแปลว่า “ฉันคือกาลและเวลา ผู้ทำลายล้างโลก” (I am become Time, the destroyer of worlds) ไม่ใช่ “ฉันคือความตาย” (I am become Death) เป็นการสื่อว่าหากอรชุนไม่ได้ลงมือฆ่าใครก็ตามในสนามรบ ‘เวลา’ จะเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างพวกเขาอยู่ดี (อาจหมายถึงแก่เฒ่าจนหมดอายุไข) กาลเวลาคือการทำลายล้าง ทุกอย่างจะถูกกำจัดจากความปรารถนาของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นกฎเกณฑ์ของจักรวาลที่มิอาจปฏิเสธได้ เพราะฉะนั้นต่อให้อรชุนลงมือหรือไม่ลงมือ ญาติของเขาต้องตายอยู่ดี ดังนั้นเขาควรหันมาสนใจกับภาระหน้าที่ (ฐานะนักรบ) ที่ถูกกำหนดโดยกฎจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5SQ17nI2amzXV5JLrBdK0f/72bbc75291ec3bd9180f48dd32293968/VIBE-bhagavad-gita-oppenheimer-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: Wikimedia
ตามข้อมูลที่บันทึกและจากการสัมภาษณ์ของออพเพนไฮเมอร์ เขามีความรู้สึกคลุมเครือเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ที่เขาคิดขึ้น แม้ว่าเขาจะรู้สึกเสียใจในการสร้างระเบิดขึ้นมา แต่เขาก็มองว่าระเบิดคือกุญแจสำคัญในการจบสงคราม ขณะเดียวกันเมื่อคิดว่ามันต้องจบชีวิตใครหลายคน เขาก็รู้สึกเสียใจมากเช่นกัน ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้กล่าวประโยคที่กล่าวไปอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการตีความจากประโยคที่เขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม มีบทสัมภาษณ์ที่เขากล่าวก่อนที่จะเสียชีวิต เป็นเชิงว่าเขาไม่เคยเสียใจที่ต้องสร้างระเบิดขึ้นมา เพราะเขาตั้งใจทำหน้าที่ออกมาอย่างตั้งใจในช่วงเวลานั้น ในช่วงที่ทุกอย่างเป็นขาวกับดำ 

ทั้งหมดนี้เมื่อหันกลับไปมองตอนที่อรชุนกำลังท้อแท้ใจเพราะไม่สามารถลงมือสังหารญาติตัวเองในศึกสงครามได้ อาจมีบางคนเห็นภาพออพเพนไฮเมอร์กำลังรับบทเป็นอรชุนอยู่จางๆ นั่นคือการทำหน้าที่ของตัวเองท่ามกลางความรู้สึกผิดอยู่ภายในใจ ไม่มีใครรู้ว่าทำไมเขาถึงหันมาชอบปรัชญาอินเดีย แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าเขาอาจพึ่งพา ‘ภควัทคีตา’ เป็นคำสอนสำคัญที่ปรับใช้กับชีวิตเขาในยามที่เขาต้องแบกรับภาระหน้าที่ที่เกี่ยวโยงกับชีวิตคนนับล้าน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์