Blue Bangkok ผู้สร้าง “ตึกจิ๋ว” ไว้เก็บ ‘ความทรงจำ’ ตึกสวยในย่านเก่า

20 พ.ค. 2567 - 04:49

  • Blue Bangkok ศิลปะตึกจิ๋วของ ตู้-ฐปนัท แก้วปาน และ เนย-สุภัสสรา เนตรบำรุงรัตน์ ในการเก็บ 'ความทรงจำ' ของย่านเมืองต่างๆ

Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Hero.jpg

ย่านที่มีตึกเก่าบ้านเก่าสวยๆ ในกรุงเทพฯ มีหลายแห่งที่มีตึกเก่าเกินร้อยปี แล้วยังมีลมหายใจ ต้องมีชื่อ ทรงวาด เจริญกรุง นางเลิ้ง บางลำพู ฯลฯ ไม่นับย่านเก่าในต่างจังหวัดที่มีตึกสวยอีกหลายจังหวัด ซึ่งอาคารเหล่านั้นถูกใช้งานเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo01.jpg

ตึกเก่า กับ ย่าน ที่ตึกนั้นตั้งอยู่เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เพราะชุมชนหรือย่านจะบอกตัวตนของตึกเก่า คนที่ชอบตึกเก่ามีวิธีการเล่าเรื่องไม่เหมือนกัน บางคนถ่ายรูป บางคนเขียนถึง บางคนทำคลิป แต่สำหรับ ตู้-ฐปนัท แก้วปาน กับเนย-สุภัสสรา เนตรบำรุงรัตน์ ถ่ายทอดความชื่นชอบผ่านงานศิลปะ ตึกจิ๋ว

“เราสองคนชื่นชอบตึกเก่า สนใจเรื่องวิถีชีวิต ชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาหาร ข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ จากการฟังเรื่องราว จากประสบการณ์ในอดีต ทำให้เรารู้สึกสนุกและประทับใจ จึงอยากจะเก็บความทรงจำเอาไว้ให้เป็นรูปเป็นร่าง เราเลือกตัวแทนความทรงจำเป็นสถานที่หรือตึกเก่า เพราะเป็นสิ่งที่หลายคนมีประสบการณ์และความทรงจำร่วมกัน เราจึงเลือกทำของที่ระลึกเป็นตึกจิ๋ว“

ตู้ กับ เนย เดินสำรวจตึกเก่าไปเรื่อยๆ ตู้จะสเก็ตภาพตึกจิ๋วเก็บไว้เสมอ จนวันหนึ่ง TCDC จัด Bangkok Design Week 2021 เปิดรับผลงานเพื่อจัดแสดง ตู้ส่งภาพร่างโปรดักส์ “ตึกเก่าพระนคร” เป็นตึกย่านหน้าพระลาน สราญรมย์ เจริญกรุง นางเลิ้ง เข้าร่วมงาน

Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo02.jpg
Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo03.jpg

“ตอนนั้นเราทำแค่โมเดล 3 มิติ ยังไม่มีแผนจะทำขายจริงจัง จนกระทั่งเนยเห็นว่าได้มีโอกาสแสดงงานแล้ว เราก็ทำเป็นสินค้าขึ้นมาขายเลยดีกว่า เพราะหลังจากที่ตู้กับเนยได้ลงภาพต้นแบบโมเดลตึกจิ๋วในโซเชียลมีเดีย ก็มีเพื่อนๆ และคนที่ชื่นชอบส่งแรงเชียร์ให้ผลิตเลย”

ด้วยแรงสนับสนุนและสไตล์การออกแบบตึกจิ๋วของตู้ที่ทำออกมาได้ไม่เหมือนใคร โดยการลดทอนรายละเอียดจากตึกจริงให้ดู minimal แต่ไม่ทิ้งรายละเอียดและเอกลักษณ์สำคัญ

“เราทำเพื่อให้คนที่ชอบแบบเดียวกันได้สะสมความทรงจำไปด้วยกัน ไม่ได้มุ่งหวังต้องมีกำไรมาก”

Blue Bangkok เริ่มจากโมเดลเรซิ่นชุดแรก ชุดตึกเก่าพระนคร ประกอบด้วย 4 ตึก ได้แก่ ตึกหน้าพระลาน ตึกสราญรมย์ ตึกถนนเจริญกรุง ตึกนางเลิ้ง

ตามมาด้วย ชุดตึกเก่าบางรัก (ร่วมงานกับ TCDC) ตึกเก่ามาริโอ ตามานโญ (ร่วมงานกับมิวเซียมสยาม) ตึกเก่าทรงวาด (ร่วมกับ Made in songwat) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเทพศิรินทร์ การไฟฟ้านครหลวง ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ สน.พระราชวัง

Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo04.jpg
Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo05.jpg
Blue-Bangkok-building-baby-to-remember-SPACEBAR-Photo06.jpg

และโมเดลชุดใหม่ล่าสุด Landmark of Thailand ที่เตรียมจะปล่อยกลางปี 2567 นี้ 

ตู้กับเนยบอกว่าในอนาคตกำลังทำบ้านย่านซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 เป็นสตูดิโอเวิร์คชอปศิลปะ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายกับศิลปินต่างๆ ในย่าน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ฝั่งธนฯ เป็นศูนย์รวมศิลปะ 

มากกว่านั้น ทั้งสองยังหวังว่าจะได้พบเจอผู้สนับสนุนมาร่วมสร้างและสานความทรงจำผ่านตึกเก่าในย่านต่างๆ ไปด้วยกัน เช่น อาจมีคอร์สเล็กๆ สอนงานฝีมือในแขนงต่างๆ หรือการ Walk Tour เพื่อสำรวจย่านที่อยู่ผ่านการพาเดิน (ซึ่งทั้งสองได้ทดลองกับโครงการของกรุงเทพมหานครบางส่วนแล้ว) 

Blue Bangkok เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องตึกเก่าและถ่ายทอดความทรงจำไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนที่อายุน้อย เพื่อร่วมกันเก็บความทรงจำนั้นต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น 

“เราหวังว่าน้องๆ ที่เห็นผลงานของเรา จะเข้ามาส่งพลังบวก เข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และชื่นชมผลงาน บางคนจะแนะนำให้ทำสินค้าที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่น สติ๊กเกอร์ โปสการ์ด และของที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ 

“แม้หลายคนที่กำลังซื้อจะน้อย แต่เขาก็เข้าใจว่าของคุณภาพขนาดนี้ต้องมีราคา ทุกคนมาด้วยความเข้าใจ มาให้กำลังใจ และบอกว่าจะติดตามผลงานของเราต่อไป” 

ลองมองหาคุณค่าของสิ่งเก่าๆ รอบตัวในชุมชนของคุณแล้วมาร่วมแบ่งปัน บอกเล่าส่งต่อความทรงจำเหล่านั้นให้คนรู้จัก ไม่จำเป็นต้องเป็นตึกโบราณหรือย่านเก่า แค่เป็นอะไรก็ได้ในชุมชนที่คุณมีความทรงจำที่ดี และอยากส่งต่อความทรงจำนั้นให้คนอื่นได้รู้ 

แม้ความทรงจำจะเป็นเรื่องเก่าที่ผ่านมาแล้ว แต่มันก็ช่วยรักษาให้สิ่งนั้นยังอยู่ต่อไป เพราะผู้คนยังจำได้และไม่ลืม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์