ถึงแม้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จะกลับมาทุกครั้งเมื่อย่างเข้าฤดูหนาว หรือความกังวลใจเรื่องโควิด-19 ที่ยังคงอยู่แม้จะเบาบางลงด้วยวัคซีนเข็มที่สาม สี่ ห้า แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดยั้งชาวไทยเชื้อสายจีนให้เลิกประกอบพิธีกรรมที่ทำกันมาหลายชั่วอายุคนในเทศกาลตรุษจีน

เราเดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกเจริญไชย ตลาดเยาวราช สองข้างทางแน่นขนัดไปด้วยร้านขายของไหว้เจ้า ผู้คนเดินกันขวักไขว่ มอเตอร์ไซค์แล่นเข้าออกเป็นปกติกลมกลืนกับผู้คน อาม่ากับอากงยังคงเดินตามหาประทัดตามร้านเหมือนที่เคยทำมา เมื่อเดินข้ามถนนไปในเขตตลาดสด ฝูงชนยิ่งเบียดเสียดหนาแน่นกว่าเดิม

จากการสอบถามเราพบว่า ผู้คนที่มาซื้อของไหว้ ไม่ได้มีแค่คนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด คนกลุ่มนี้จะซื้อกระดาษเงินกระดาษทองชุดใหญ่ ต่างจากคนกรุงเทพฯ ที่ซื้อพอเป็นพิธีเพราะข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น บ้านอยู่ติดถนน หรือใครที่อยู่คอนโดฯ การเผากระดาษคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ถึงแม้วิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีนจะเปลี่ยนไปตามกฎของกาลเวลา แต่บรรยากาศและมนตร์เสน่ห์ของเทศกาลตรุษจีนยังคงอบอวลอยู่บนถนนสายนี้ไม่เสื่อมคลาย....

ตรุษจีน เทศกาลแห่งความโชคดี และความเบิกบานใจ
ตรุษจีน หรือชุนเจี๋ย คือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของจีน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดในปฏิทินจีน เทศกาลตรุษจีนไม่ได้มีแค่ที่ประเทศจีน แต่ปรากฏทุกพื้นที่ในประเทศที่มีชุมชนคนเชื้อสายจีน เช่น สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน รวมถึงชุมชนจีน (China Town) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน ในวันตรุษจีนทุกคนจะพากันซื้อของประดับมาตกแต่งบ้าน รวมถึงเสื้อผ้าและอาหาร สำหรับที่อยู่อาศัยนั้น ก่อนถึงวันตรุษจีนต้องทำความสะอาดเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากบ้าน และรับสิ่งที่ดีเข้ามาแทน แต่มีข้อห้ามคือ ห้ามกวาดบ้านในช่วงเทศกาล เพราะถือว่าเป็นการกวาดสิ่งมงคลออกไป หรือถ้ากวาดต้องกวาดเข้าไปในตัวบ้านแล้วเก็บไปทิ้งหลังเทศกาลแทน ส่วนประตูทางเข้า คนจีนจะประดับสัญลักษณ์ เครื่องราง เพื่อเสริมโชคลาภด้านสุขภาพ ด้านการงานและเงินทอง


ในวันไหว้นั้นจะมีการไหว้เจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล และเผากระดาษเงินกระดาษทองให้บรรพบุรุษ ต่อด้วยไหว้เพื่อแผ่กุศลให้ผีเร่ร่อน ช่วงเย็นร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวอย่าง
พร้อมหน้าพร้อมตา บางครอบครัวจะมีการจุดประทัด แล้วเริ่มวันใหม่ด้วยการทักทายอวยพรสวัสดีปีใหม่ มีการแจกอั่งเปาตามธรรมเนียม วันปีใหม่นับเป็น ‘วันเที่ยว’ เพื่อความโชคดีตามธรรมเนียมต้องสวมเสื้อผ้าใหม่ ในวันนั้นจะเป็นวันรวมญาติหลายคนเพื่อออกไปเที่ยวกัน

กระดาษเงินกระดาษทอง ตัวแปรสำคัญในโลกหลังความตาย
ธรรมเนียมหนึ่งที่ชาวจีนขาดไม่ได้คือ การเผากระดาษเงินกระดาษทอง หรือการเผาของใช้ไปให้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่เกือบทุกพิธีกรรมของจีน ไม่ว่าจะเป็นวันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ หรือวันเชงเม้ง แม้กระทั่งงานศพก็ยังมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองเช่นกัน
ทำไมต้องเผากระดาษเงินกระดาษทอง และธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
การเผากระดาษเงินกระดาษทอง เป็นธรรมเนียมของชาวจีนเพื่อตอบแทนบุญคุณบรรพบุรุษที่เคยเลี้ยงดูมา เป็นการแสดงความกตัญญูซึ่งเป็นหลักจริยธรรมที่สำคัญของชาวจีน ส่วนกระดาษเงินกระดาษทองเป็นการทำเลียนแบบเงินทองของจริง เพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษในโลกหลังความตาย
ธรรมเนียมการเผาของใช้ในรูปแบบกระดาษสามารถสืบย้อนถึงช่วงคริสตศักราช 200 ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ส่วนการเผากระดาษเลียนแบบเงินเริ่มขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-11
ไม่ว่าจะเป็นการเผาเครื่องใช้ หรือเงินกระดาษ ทางฝั่งตะวันตกเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘Hell Money’ ซึ่งคำว่า ‘Hell’ ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายถึงนรกตามความเข้าใจของชาวตะวันตก หรือตามความเชื่ออื่นว่าเป็นนรกชั่วนิรันดร์
คำว่า Hell ตามความเชื่อของเต๋า คือดินแดนไดยู หรือไดยุก (Diyu, Dei Yuk) เป็นโลกหลังความตายที่ทุกคนต้องไปถึง เมื่อมนุษย์สิ้นชีวิตลง ดวงวิญญาณจะมายังดินแดนแห่งนี้เพื่อได้รับการตัดสินจากยมบาล และทำการตรวจสอบบาปกรรมที่ติดตัวมา ถ้าใครมีบาปหนาจะต้องถูกทำโทษ ใครไม่มีบาปเลยจะได้ขึ้นสวรรค์

ตามความเชื่อของชาวจีน การเผากระดาษเงินสามารถนำไปลดหย่อนโทษในดินแดนไดยูได้ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมงานศพถึงมีการเผากระดาษก่อนนำโลงไปฝัง ส่วนการเผากระดาษเงินในเทศกาลอื่นเป็นเหมือนการส่งเงิน และเครื่องใช้ไปให้บรรพบุรุษ
ทุกวันนี้ได้มีการผลิตของใช้ออกมาตั้งแต่เงินแบงก์มูลค่าหลายร้อยล้าน บนแบงก์เป็นรูปเง็กเซียนฮ่องเต้ จักรพรรดิบนสวรรค์ตามความเชื่อเต๋า ตามธรรมเนียมเงินแบงก์จะไม่โยนลงเผาแบบดื้อๆ แต่จะมีการคลายมัดแบบหลวมๆ เพื่อให้แผ่นแบงก์กระจายบนกองไฟ หรือมีการพับเป็นรูปทรงอื่นๆ ตามความเชื่อว่าการเผาสิ่งที่เหมือนเงินเกินไปจะนำโชคร้ายมาให้

นอกจากธนบัตร ยังมีเครื่องสำอางกระดาษ เครื่องนุ่งห่มกระดาษ ของใช้แบรนด์หรู ไปจนถึงหน้ากากอนามัย และวัคซีนโควิดในช่วงกระแสพีคๆ บางที่มีรถยนต์กระดาษขนาดจริง รวมไปถึงเครื่องบินส่วนตัวกระดาษ นึกภาพเล่นๆ ว่าถ้าเราอยากให้ของอะไรกับบรรพบุรุษก็เผาสิ่งนั้นไปให้ ถ้าบรรพบุรุษได้ขึ้นสวรรค์แล้วพวกเขาจะได้รับสิ่งของเหล่านี้ไปใช้




อีกหนึ่งความเชื่อของชาวจีน คือนอกจากการเผากระดาษไปให้บรรพบุรุษแล้ว เรายังสามารถเผากระดาษเงินเพื่อไปชำระหนี้บาปให้แก่ดวงวิญญาณของเราก่อนตายได้ ดังนั้น ถ้าใครมีชีวิตอยู่แล้วชำระหนี้ไม่หมด หน้าที่ก็ตกเป็นของญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ในการชำระหนี้บาปแทนให้ได้
พูดถึงกระดาษเงินกระดาษทอง หรือที่ฝั่งตะวันตกเรียกรวมๆ กันว่า ‘joss paper’ นั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิด และมีชื่อเรียกต่างกัน
- กิมจั้ว: กระดาษเงินกระดาษทอง นำไปพับเป็นรูปดอกไม้ก่อนเผา
- กิมเตี๊ยว: กระดาษทองที่ห่อเป็นรูปคล้ายทองคำแท่ง
- อ่วงแซจิ่ว: กระดาษสีเหลืองที่ลงอักษรสีแดง เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นใบเบิกทางระหว่างภพภูมิ
- ตั่วกิม: กระดาษทองพับรวมกันเป็นมาลัยไปใส่ใน อ่วงป้อ ซึ่งเป็นกระทงกระดาษสีเหลือง
- กิมฮวย: แปลว่าดอกไม้ทองคำ มีไว้เปลี่ยนบนกระถางธูปทุกครั้งที่มีการไหว้เจ้า เปรียบเสมือนการถวายดอกไม้ทองคำแด่เทพเจ้า




ขี้เถ้าจากกระดาษเงินกระดาษทอง ภัยเงียบที่ไม่เงียบ
แม้ว่าธรรมเนียมการเผากระดาษเงินกระดาษทองจะเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาหลายร้อยปี แต่งานวิจัยก็ชี้ชัดว่า การเผาสิ่งนี้ได้สร้างมลพิษให้แก่อากาศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เพราะในกระดาษเงินกระดาษทองประกอบด้วยโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด การพัฒนาของสมองเด็ก เลือดจาง เวียนศีรษะ ชักกระตุก หมดสติ ไตวาย ฯลฯ โดยโลหะเหล่านี้จะติดมากับขี้เถ้าของกระดาษเงินที่เผาไป และไม่สามารถกำจัดได้ เพราะสลายกลายเป็นฝุ่นละอองในอากาศไปหมดแล้ว

ขณะที่ด้านกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ความเชื่อนี้ยังเป็นสิ่งยึดเหนียวทางใจที่สำคัญ โดยเฉพาะคนทำมาค้าขายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ไม่ว่าจะเกิดจากการจัดการของรัฐบาล หรือสถานการณ์โควิด-19 ก็ตามที การได้กลับมาไหว้เจ้าในวันตรุษจีนช่วยให้คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากมีกำลังใจและมีความหวังต่ออนาคตข้างหน้า
อนาคตที่คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่อยู่ร่วมกัน อนาคตที่มองเรื่องต่างๆ ในความหมายของคำว่าเรา และหวังว่าวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจ โรคระบาด และมลพิษฝุ่น PM2.5 จะเบาบางลง
