เป็นที่รู้กันว่า Dune ทั้งสองภาคของ เดนิส วิลล์เนิฟ (Denis Villneuve) ถูกสร้างโดยอิงจากนิยายไซไฟชื่อดังในชื่อเดียวกันของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิยายไซไฟขึ้นหิ้งในตำนาน เมื่อเทียบกับช่วงปีที่เขียนขึ้น (ค.ศ. 1965) ถือว่าเป็นนิยายที่ล้ำหน้าเทียบได้พอๆ กับภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) บางคนถึงขั้นกล่าวว่าแม้แต่จักรวาล Star Wars ก็ยังมีการอ้างอิงไอเดียจาก Dune อีกด้วย
Dune เดิมทีถูกตีพิมพ์แยกเป็นสองเล่ม เล่มแรกในชื่อ 'Dune World' ส่วนเล่มที่สองในชื่อ 'Prophet of Dune’ (และมีเล่มภาคต่ออีกหลายเล่ม ถ้าใครอยากรู้ว่าเรื่องราวหลังภาคสองเกิดอะไรขึ้นบ้าง สามารถตามอ่านกันได้) โดยก่อนหน้านี้เคยพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร Analog Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับนิยายไซไฟ ก่อนจะรวมกันเป็นเล่มเดียว และกลายเป็นนิยายไซไฟขายดีตลอดกาล หากแต่ทุกวันนี้ในหมู่นักอ่านยังไม่แน่ใจว่าจะจัดให้ Dune อยู่ในหมวดของนิยายหนักหรือเบา บางคนเรียกรวมๆ ว่านิยายหนัก-เบา เนื่องจากตัวเนื้อหาค่อนข้างลึกจำเป็นต้องใช้ความคิดความเข้าใจในบางส่วน ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่สร้างความเพลิดเพลินอ่านในยามว่างได้สบายๆ

มีการกล่าวถึงว่า Dune เป็นนิยายที่ไม่ใช่นิยายให้ความบันเทิงเหมือนนิยายทั่วไป นอกจากความนุ่มลึกบนความคิดและปรัชญาที่แฝงอยู่ในเรื่อง สิ่งที่เฮอร์เบิร์ตชูโรงเป็นเรื่องหลักของการต่อต้านต่อระบอบ อำนาจ หรือผู้กดขี่ ถ้ามองในธีมของเรื่อง ชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านต่ออำนาจอาณานิคม เรื่องนี้น่าสนใจมากเพราะเกมการเมืองในช่วงปี 1960-1970 หรือช่วงสงครามเย็นกำลังคุกรุ่น และสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตสื่อสารออกไปเรียกกลายๆ ได้ว่าเป็นการท้าทายอำนาจแบบเงียบๆ การที่เขายังผสานเรื่องเชื้อชาติ และภาษาเข้าไว้ด้วยกันเป็นเหมือนภาพในอุดมการณ์ลางๆ ที่เขาอยากให้โลกในอนาคตไปถึงจุดนั้น
อิสลาม กรีก และชนกลุ่มน้อย
Dune เป็นเรื่องราวของ พอล อะเทรดีส (Paul Atreides) เด็กหนุ่มจากดาวคาลาดาน (Caladan) ที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ วันหนึ่งจักรพรรดิมีโองการให้ตระกูลอะเทรดีสเข้าดูแลการเก็บเกี่ยวสไปซ์บนดาวอาร์ราคิส (Arrakis) แทนตระกูลฮาร์คอนเนน (Harkonnen) สไปซ์เป็นสิ่งล้ำค่าในการใช้เดินทางข้ามจักรวาล ดาวอาร์ราคิสเป็นดาวทะเลทรายที่คลาคล่ำไปด้วยชาวพื้นเมืองที่เรียกว่าชาวเฟรเมน (Fremen) และถูกกดขี่จากตระกูลฮาร์คอนเนนมาช้านาน การมาของ พอล อะเทรดีส ทำให้ชาวเฟรเมนเชื่อว่าเขาจะเป็นผู้ปลดแอกตามคำทำนายที่ถูกร่ำลือกันมารุ่นต่อรุ่น ขณะเดียวกัน พอล นั้นก็พยายามหลีกหนีจากสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเป็น

หลายคนน่าจะมีปัญหากับการจดจำชื่อที่ปราฎอยู่ในหนังสือหรือในหนัง ถ้าใครมีพื้นฐานภาษาอาหรับอาจจะนึกออกได้ทันทีว่าคำส่วนใหญ่ล้วนมาจากภาษาอาหรับ นั่นเป็นเพราะว่า เฮอร์เบิร์ต กำหนดธีมทั้งหมดโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมและวิถีของชาวมุสลิมโดยภาพรวมรวมถึงตำนานและคำทำนายที่ปรากฎอยู่ในความเชื่อมุสลิม เช่น ลิซาน อัล-ไกอิบ (Lisan Al-Gaib) ในภาษาอาหรับแปลว่า ‘ภาษาหรือสารที่มองไม่เห็น’ หรือ เบเน เกสเซอริต (Bene Gesserit) คณะที่แม่ของพอลสังกัดอยู่นั้นแปลว่า ‘ลูกหลานแห่งสะพาน/ทางเชื่อม’ ใครที่อยากดูความหมายและที่มาของคำอื่นๆ ในเรื่องโดยละเอียดสามารถอ่านได้ที่เพจ ‘พินิจอิสลาม - Islam Examined’
นอกจากเรื่องของคำและภาษาอาหรับต่างๆ ที่นำมาใช้ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต ยังหยิบยกเรื่องราวมากมายในประวัติศาสตร์มาใช้ในการเล่าเรื่อง เช่น ลอว์เรนซ์แห่งอราเบีย (Lawrence of Arabia), กลุ่มมุสลิมคอเคเซียนที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมของรัสเซีย, กลุ่ม OPEC และชาวพื้นเมืองที่มีปัญหากับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศลาติน บวกกับมุมมองของ เฮอร์เบิร์ต ที่คิดว่าชาวมุสลิมจะพัฒนาอย่างไรในอีก 20,000 ปีข้างหน้า และยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายในเชิงยิบย่อย

บนชื่อของ พอล อะเทรดีส คำว่า ‘อะเทรดีส’ หรือ ‘อาไทรเดส’ มาจากชื่อของ อาเทรวส์ (Atreus) กษัตริย์แห่งไมซิเน (อารยธรรมโบราณที่เป็นต้นสายของกรีกโบราณ) บิดาของอะกาเมมนอน (Agamemnon) และเมเนเลาส์ (Menelaus) สองพี่น้องเจ้าเมืองที่ปรากฎอยู่ในมหากาพย์อิเลียด (The Illiad) ซึ่งลูกหลานของอาเทรวส์ถูกเรียกว่า อาไทรเดส หรือ อะเทรดีส โดยในจักรวาล Dune มีการกล่าวถึงว่าตระกูลอะเทรดีสสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชนชั้นสูงในกรีซบนโลก ขณะเดียวกันบนดาวคาลาดานที่ตระกูลอะเทรดีสอาศัยอยู่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นน้ำและเกาะ เปรียบเสมือนพื้นที่บริเวณทะเลอีเจียนที่ที่อารยธรรมกรีกโบราณรุ่งเรือง
พอล อะเทรดีส ยังมีบทบาทคล้ายกับชาวอังกฤษในผ้าคลุมแบบอาหรับที่ชาวไทยอาจมักคุ้นกับภาพปกภาพยนตร์เก่า โดยชายคนนี้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์โดยมีชื่อว่า ที. อี. ลอว์เรนซ์ (T. E. Lawrence) นายทหารและนักโบราณคดีที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติอาหรับเมื่อปี ค.ศ. 1916-1918 เพื่อต่อกรกับอาณาจักรออตโตมัน โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้เจรจา ปลุกระดมให้ชาวอาหรับพื้นเมืองลุกฮือขึ้นต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมัน มุมมองในเรื่องนี้แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือมุมมองของอาหรับที่มีต่อจักรวรรดิที่พวกเขามองว่าปฏิบัติต่อพวกเชาไม่ดีนัก ในขณะที่จักรวรรดิเชื่อว่าตนปฏิบัติกับชาวอาหรับด้วยความเคารพ เพราะเห็นว่าเป็นเสมือนพี่น้อง และลูกหลานของทูตสวรรค์มูฮัมหมัด เปรียบเทียบชาวอาหรับกลุ่มนี้เป็นเหมือนชาวเฟรเมนที่อยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลฮาร์คอนเนนไม่ต่างกัน พอลทำหน้าที่เสมือนลอว์เรนซ์ในการเข้าไปปลุกระดมชาวเฟรเมนให้ต่อสู้กับตระกูลฮาร์คอนเนนที่กดขี่พวกเขามาเป็นเวลานาน

บนเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อมุสลิม เฮอร์เบิร์ตเคยให้คำอธิบายว่าเขามีเพื่อนที่เป็นชาวมุสลิมในการช่วยเหลือเพื่อสร้างเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นในนิยายของเขา แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อออกมาว่าเป็นใคร และเขายังอธิบายว่าไม่ได้มีแค่เรื่องราวของมุสลิมที่เขานำมาปรับใช้ และนอกจากคำอาหรับยังมีคำจากภาษาอื่น เช่น ภาษาแอซเทค ภาษากรีก ภาษาสันสกฤต ที่เขานำมาดัดแปลงเป็นคำเฉพาะในเรื่อง และยังสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากประวัติศาสตร์โลกเข้าไปในเรื่อง เช่น ตัวละคร เกอร์นีย์ ฮัลเล็ก (Gurney Halleck) นักรบผู้มีบุคลิกขึงขังแต่หัวใจรักเสียงดนตรี เป็นลักษณะเฉพาะตัวของนักรบชาวมัวร์บริเวณแถบแอฟริกาเหนือ หรือ ‘ซีท’ (Sietch) หรือคำว่า ‘ทาเบลอ’ (Tabr) สถานที่หลบภัยของชาวเฟรเมน เป็นการหยิบคำมาจากคำที่ทหารคอสแซค (Cossacks) ใช้
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือเนื้อหาของ Dune ยังมีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับศรัทธาและศาสนา ในศาสนาอิสลามมีการบันทึกว่า นบีมูฮัมหมัด ศาสดาแห่งอิสลามเคยรับหน้าที่เป็นแม่ทัพในสงคราม หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่ายุทธการที่อุฮุด เราจะเห็นภาพที่คล้ายคลึงกันระหว่างพอลและนบีมูฮัมหมัดในฐานะผู้เผยแพร่พระวจนะ (prophet) ที่นำผู้คนสู่สงครามอันนำมาสู่สันติภาพ

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวเฟรเมนและจักรวรรดินั้น เป็นภาพใหญ่ๆ ที่เฮอร์เบิร์ตหยิบยกมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมคอเคซัสบริเวณเอเชียกลางที่ต้องต่อสู้กับราชวงศ์ซาร์ จักรพรรดิพาดิชาห์ (Padishah) ใน Dune เป็นภาพแทนเปรียบได้กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียผู้ไม่ยอมโอนอ่อนให้กับสิ่งใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตกำลังเล่าหรือนำเสนอคือว่าด้วยเรื่องอาณานิคมกับชาวพื้นเมืองที่ถูกกดขี่ แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นประชากรของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการแทรกแซงและการครอบครองในแบบอาณานิคม ในวันที่ Dune ถูกตีพิมพ์ขึ้นนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่ประเทศกลุ่มมุสลิมกำลังเป็นที่น่าสนใจของสหรัฐอเมริกาอยู่พอดิบพอดี เราอาจพูดได้ว่า Dune ไม่ใช่นิยายเพื่อให้ความบันเทิงธรรมดา แต่มีนัยแฝงอยู่ภายในนั้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ การต่อต้านอาณานิคม (anticolonialism) และการต่อต้านอำนาจนิยม
พลังของงานวรรณกรรมในฐานะกระบอกเสียงสังคม
Dune ได้กลายเป็นนิยายไซไฟขึ้นหิ้ง ขณะเดียวกันถ้าเป็นนิยายแฟนตาซีคงต้องยกตำแน่งให้ซีรีส์นิยาย The Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ที่เหล่าแฟนๆ ฮอบบิต และเอลฟ์ รู้กันดีว่าการที่เขาเล่าเรื่องราวการเดินทางของฮอบบิตสู่ดินแดนมอร์ดอร์นั้นเป็นการหยิบชีวิตส่วนตัวของโทลคีนมาถ่ายทอด โดยเฉพาะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยโทลคีนเปรียบคนแคระหรือชาวฮอบบิตเป็นเหมือนกับชาวอังกฤษผู้รักสงบ แต่กลับต้องมีส่วนร่วมในสงครามครั้งใหญ่ที่ตนเองก็คาดไม่ถึง แม้แต่ฉากสงคราม และผลร้ายของสงครามที่ทำผู้คนตายเกลื่อนกลาดก็เป็นประสบการณ์ตรงที่โทลคีนเคยพบเจอระหว่างสงคราม
แต่เรื่องนี้จะเล่าด้วยสงครามอย่างเดียวคงไม่ได้ เขายังผนวกสิ่งที่ตัวเองสนใจเข้าไปหลายเรื่อง เช่น ความชื่นชอบในภาษาถึงขั้นที่เขาต้องประดิษฐ์ภาษาเอลฟ์ขึ้นมาจริงๆ รวมถึงนิทานเรื่องเล่าตำนานปรัมปราต่างๆ ที่ผูกกับเทพปกรณัมไอร์แลนด์และเยอรมัน ไม่ต่างจากเฮอร์เบิร์ต ในรายละเอียดยิบย่อยมีหลายเรื่องที่โทลคีนหยิบตำนานมาเล่าใหม่ เช่น ดินแดนนูเมนอร์ (Numenor) เป็นภาพแทนตำนานแอตแลนติก เป็นต้น The Lord of the Rings ได้กลายเป็นนิยายที่มีความสมบูรณ์แบบเหนือกาลเวลา ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าโทลคีนกำลังบอกเล่าถึงภัยร้ายสงครามเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นซากศพบนพื้นที่ของสงคราม การสูญเสียเพื่อนรักของเขาไประหว่างสงคราม การเอาชีวิตเข้าแลกกับสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์บ้านเมือง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโดนกดขี่ภายใต้อำนาจนิยม/อาณานิคม หรือเรื่องภัยร้ายจากสงคราม ทั้งสองเรื่องต่างก็เป็นเรื่องรายล้อมอยู่รอบตัวเรา บางทีการที่นิยายทั้งสองเรื่องถูกยกย่องให้เป็นนิยายน้ำดีอาจเป็นเพราะมีส่วนของความจริงของโลกมนุษย์แฝงอยู่และเราทุกคนมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งนั้น รวมถึงสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ทันที โดยทุกวันนี้เรายังพบเห็นได้อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น อำนาจของจีนที่อยู่เหนือชาวอุยกูร์ การเร่ร่อนของชาวโรฮิงญา หรือปัญหาที่ไม่จบสิ้นของชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล โดยมีมหาอำนาจหนุนหลัง และด้วยพลังแห่งงานเขียนนี้เองที่ทำให้คนทั่วโลกหลงรัก และบนความชื่นขอบนั้นอาจหมายความถึงพวกเขาได้เข้าใจว่าโลกที่สงบสุขควรมีหน้าตาอย่างไร และสิ่งใดคือความถูกต้องเชิงมนุษยธรรม
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจารณ์ภาพยนตร์ยังคงเคลือบแคลงกับสิ่งที่ Dune กำลังนำเสนอ สังเกตว่าผู้นำที่ปลดแอกชนพื้นเมืองอย่าง พอล อะเทรดีส ไม่ต่างอะไรจากคนขาว (อันเป็นตัวแทนเชื้อชาติอาณานิคม) ที่กุมบังเหียนปกครองคนที่อยู่ใต้อาณัติ เหมือนที่ชาวอาหรับสุดท้ายก็ต้องถูกนำโดย ที. อี. ลอว์เรนซ์ สรุปแล้วมันจะวนกลับเข้าไปสู่ลูปเดิมของชนชั้นหรือไม่ ดังที่ในเรื่อง Dune กล่าวว่า “ใครจะเป็นผู้กดขี่คนต่อไป?” บางทีสิ่งที่เฮอร์เบิร์ตนำเสนออาจไม่เป็นภาพในอุดมคติที่ควรจะเป็น ถ้าเรามองกลับกันว่าหนึ่งในผู้นำที่จะปลดแอกทุกคนคือชาวเฟรเมนเอง จะเหมาะสมกว่าหรือไม่? ถ้าเราลองเปลี่ยนจากโฮจิมินห์เป็นชาวตะวันตกสักคน และสามารถนำชาวเวียดนามขับไล่ชาวฝรั่งเศสได้ และได้รับชัยชนะอีกครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม ลึกๆ แล้วชาวเวียดนามได้รับชัยชนะด้วยตัวพวกเขาเอง หรือพวกเขาเพียงถูกชี้นำโดยคนนอก?
