หากกล่าวถึงความบันเทิงหรือวงการศิลปะไทยในอดีต ผู้คนมักนิยมเสพสิ่งเหล่านี้เพื่อช่วยผ่อนคลายและให้ความรื่นรมย์แก่ตนเองกันมาอย่างช้านาน ความบันเทิงในยุคนั้นมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งจากการแสดงมหรสพ หนังกลางแปลง เพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง ละครโทรทัศน์ที่เริ่มแพร่หลาย หรือแม้กระทั่งการเข้ามาของ การ์ตูนไทย ที่ในยุคหนึ่งก็ได้สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนในวงกว้างมาแล้วมากมาย ซึ่งหากกล่าวถึงวงการการ์ตูนไทยสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้น
‘เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์’ นักเขียนการ์ตูนชาวไทย ผู้มีลายเส้นอันโดดเด่นและเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวชวนสยองชวนจิตหลุด และคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกสร้างชื่อเสียงให้แก่วงการการ์ตูนไทยมาแล้ว มากกว่านั้นเขายังมีผลงานในด้านอื่นอีกมากมาย ทั้งการทำโฆษณา ออกแบบกราฟิก ร่วมเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ ผลงานสร้างชื่ออย่าง 13 เกมสยอง, บอดี้..ศพ#19, The Collector คนประกอบผี เป็นต้น โดยไม่นานมานี้ก็ได้มีการประกาศเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง ‘HalaBala ป่าจิตหลุด’ โดยค่ายหนังน้องใหม่อย่าง BrandThink Cinema ซึ่งถือเป็นผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของเขา
เราขอพามาพูดคุยเจาะลึกถึงเรื่องราวชีวิต ตัวตน รวมถึงพาร์ตการทำงานในวงการการ์ตูนไทย และวงการภาพยนตร์ที่เขาคลุกคลีมายาวนานกว่า 30 ปี มาย้อนอดีตกันว่าจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงสู่การกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกในชีวิตของเขาว่าจะมีเรื่องราวแง่มุมใดที่น่าสนใจบ้าง

อยากกำกับหนังเลยมาวาดรูป
“เอาจริงๆ ถ้าถามความฝันที่แท้จริงเลย อยากเป็นผู้กำกับหนัง พี่อิจฉาเด็กยุคนี้มากที่ถ่ายคอนเทนต์เล่าเรื่องได้อย่างสะดวกสบาย เพราะตอนนั้นที่ง่ายสุด ลงทุนน้อยที่สุดสำหรับพี่คือ การวาดการ์ตูน เพราะมันไม่ต้องซื้อกล้องไม่ต้องซื้ออุปกรณ์อะไรมากมาย แค่ซื้อปากกาแล้วก็วาด ดังนั้นก็เลยเป็นการกระโดดเข้าวงการการเล่าเรื่องหรือการเล่าอะไรบางอย่างผ่านการ์ตูน”
เอกสิทธิ์เท้าความให้เราฟังว่า ในยุคสมัยก่อนที่ไม่มีโซเชียลมีเดียเหมือนปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่ต้องการจะเสพสื่อบันเทิงจะมีแค่จากทีวีและช่องรายการภาคบังคับเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่หรือน่าสนใจให้เลือกมากนักเหมือนปัจจุบัน เขารู้สึกว่าตัวเองมีวัตถุดิบบางอย่างที่อยากจะสื่อสารและอยากเล่าออกไป ในขณะนั้นเองด้วยความบังเอิญที่ สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เปิดโอกาสให้ส่งภาพวาดการ์ตูนไปคัดเลือก ประจวบเหมาะกับการที่เขาเป็นคนที่มีฝีมือในการวาดการ์ตูนอยู่แล้วจึงตัดสินใจแต่งเรื่องและส่งไปยังสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

ด้วยความที่เล่นดนตรีก็ไม่เป็น กีฬาก็ไม่ค่อยได้ เลยทำให้เขาก้มหน้าก้มตาเขียนและอ่านการ์ตูนด้วยความมุ่งมั่น เมื่อรู้แล้วว่าจุดเริ่มต้นของการเขียนการ์ตูนมาจากการที่ในยุคนั้นไม่ค่อยมีสื่อบันเทิงเริงใจที่จะดึงดูดเด็กชายเอกสิทธิ์ได้มากเท่าที่ควร เราจึงอยากรู้ว่าจุดไหนที่ทำให้เขารู้สึกว่าเส้นทางของเขามาทางด้านนี้แน่ๆ
เขาเล่าต่อว่าคงเป็นตั้งแต่ตอนเด็กๆ ช่วงแรกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวาดดีหรือวาดไม่ดี แต่พอวาดออกมาแล้วเหล่าพี่ป้าน้าอาต่างก็ตื่นเต้นกับผลงานที่ได้เห็น เอกสิทธิ์อธิบายลงรายละเอียดว่า จำได้ว่าภาพแรกที่วาดคือภาพมังกรบนกล่องคุกกี้ที่นั่งวาดเล่นๆ แล้วผู้ใหญ่หันมาเห็นพอดี เมื่อเจอคำชมก็เหมือนคนบ้ายอ กลายเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาหัดวาดภาพมาเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นความสามารถเดียวที่เขาทำได้ดี ณ ตอนนั้น
เส้นทางชีวิตของเอกสิทธิ์ในฐานะนักวาดการ์ตูนดูเหมือนจะพาเขามาไกลจากจุดที่คิดไว้มาก จากเด็กที่แทบไม่กล้าคิดว่าวันหนึ่งจะโด่งดังและมีชื่อเสียงไปไกลถึงระดับโลก

“แค่ลำพังในไทยยังไม่คิดเลย เอาจริงๆ ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันมีความดีเลย์อยู่ นี่ยังทบทวนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่ามาไกลเหมือนกันเนอะ วันนั้นแค่ได้วาดไม่เชื่อด้วยว่าจะมีใครอ่าน ไม่เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริงๆ เราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีคนดู มีคนอ่าน มีคนชอบ จนผ่านมาถึง 13 เกมสยอง แล้วพอเราได้เจอหลายๆ คนตอนนี้เขาก็บอกว่า ผมเคยอ่านการ์ตูนพี่นะ ผมรู้จักพี่นะ เราก็ โห..ไม่น่าเชื่อเลย เราก็ยังงงๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้”
วาดจนไปไกลถึงดินแดนมังงะ
เป็นสิ่งที่ไม่คิดไม่ฝันมาก่อนอีกเช่นกันว่าจะได้รับ เขากล่าวกับเราอย่างถ่อมตัวโดยย้ำว่ารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เพราะงานนั้นคือการแข่งขันกับคนทั่วโลก เป็นการทดลองตีความจากโจทย์ที่จะได้รับในแต่ละปี จัดโดย หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุน ในปีนั้นมาในหัวข้อ ‘Natural Healing’ ที่แปลเป็นไทยว่าธรรมชาติบำบัด เกี่ยวกับรูปที่ทำให้เขาคว้าชัยชนะจากการแข่งขันในครั้งนั้น
“เป็นรูปคนพาแมวไปหาหมอ แมวโดนแก้วบาดแล้วหมอก็กำลังดึงแก้วออกให้ โดยด้านหลังทั้งสองเต็มไปด้วยยา แต่แทนที่หมอจะนำยามารักษาแมวหมอดันก้มลงไปเลียแผลให้แมว เลียเหมือนแมวที่มันเลียตัวเอง คนที่พาแมวมาหาหมอก็รู้สึกว่า แล้วเราจะพามาหาหมอทำไมในเมื่อแมวมันก็รักษาตัวเองได้เหมือนกัน”
ภาพวาดนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ทำให้ได้ตั๋วบินไปรับรางวัลถึงญี่ปุ่นพร้อมเงินรางวัลกว่าสองล้านเยน คิดเป็นเงินไทยตอนนั้นประมาณเจ็ดแสนบาท ปัจจุบันงานของเขายังคงถูกนำมาโชว์ในเทศกาลหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าที่จัดขึ้นทุกปี

หลังจบการแข่งขันเขาได้มีโอกาสเจอพบกับกรรมการชาวญี่ปุ่นสิบท่าน ทำให้ได้รู้ถึงเหตุผลของการได้มาซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ เอกสิทธิ์กล่าวกับเราว่า กรรมการเห็นภาพนี้แล้วรู้สึกได้ทันทีว่าคนวาดเป็นคนที่อ่อนโยนมาก โดยกรรมการชาวญี่ปุ่นได้ตีความภาพที่เห็นอย่างลึกซึ้งเกินกว่าที่เขาตั้งใจจะสื่อสารเสียอีก
“เขาก็ถามเราว่า จริงๆ แล้วคนที่ได้รับการบำบัดคือหมอใช่ไหม หมอที่ก้มไปเลียแผลให้แมว เพราะเขารู้สึกว่านาทีนั้นหมอกำลังบำบัดตัวเองอยู่”
ชัยชนะในครั้งนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้กระบวนการคิดแบบญี่ปุ่นที่มีความลึกซึ้ง ที่แม้แต่คนวาดอย่างตัวเขาเองก็ยังคิดไม่ถึง เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เขาได้ตระหนักและเติบโตทางความคิดเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการได้ฟังความคิดเห็นจากเหล่ากรรมการ
ชอบเรื่องสยองขวัญ ไม่ได้หมายความว่าจะชอบเสพเสมอไป
“ตอนนั้นก็จะชอบ คัตสึฮิโระ โอโตโมะ ที่วาด Akira รู้สึกว่าพลังเขาเยอะมาก ทุกเฟรมมันสวยหมดเลย ไอเดียเขาดูล้ำๆ ไฮเทคด้วย นอกจากนั้นก็ อิเคงามิ เรียวอิจิ คนนี้จะวาดผู้ชายแมนๆ หน่อย แล้วก็ชอบวิธีการเล่าของคนญี่ปุ่นทั้งหมดเลยในตอนนั้นครับ”
เท่าที่ฟังดูเหมือนว่าผลงานของนักวาดแต่ละคนที่เอกสิทธิ์ยกให้เป็นไอดอลจะไม่ใช่แนวทริลเลอร์หรือสยองขวัญเลยแม้แต่น้อย ไม่น่าเชื่อว่านักเขียนการ์ตูนสยองขวัญอย่างเขาไม่เคยอ่านผลงานของเจ้าพ่อนักวาดการ์ตูนสยองขวัญในตำนานอย่าง จุนจิ อิโต้ (Junji Ito) เลย ทำให้เราล่วงรู้อีกหนึ่งความจริงที่ว่า เอกสิทธิ์ คือบุคคลผู้ไม่ได้เสพหรือชื่นชอบในการดูหนังแนวสยองขวัญมาตั้งแต่แรก
"มีความแปลกอย่างหนึ่ง พี่ไม่ได้อ่านสยองขวัญ และก็ไม่ชอบหนังสยองขวัญด้วย คือเป็นคนชอบแกล้งคนอื่น แต่ไม่อยากถูกแกล้ง (หัวเราะ) แล้วตอนนี้คนชอบชวนไปดูหนังผี มันเป็นเวรกรรมแหละ (หัวเราะ)"

เขายังเล่าให้เราฟังอีกว่า ไอเดียที่นำมาสร้างสรรค์ผลงานของเขามักมาจากเรื่องสั้นหักมุมในสมัยก่อน หรือพวกไอเดียของฝรั่งที่จะมีการเล่าเรื่องแปลกๆ พร้อมตอนจบแบบคาดไม่ถึง และส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในการทำงานโฆษณาและสิ่งที่เจอมารอบๆ ตัวมากกว่า
ความนิยมของการ์ตูนไทยที่เลือนหายไป
เมื่อพูดถึงการ์ตูนไทยในตอนนี้เราจะเห็นว่ายุคทองของวงการได้ผ่านไปแล้ว คนในยุคปัจจุบันอ่านหนังสือการ์ตูนน้อยลงเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ราคาหนังสือที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก หรือจะเป็นการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านกันได้แบบฟรีๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเงิน จึงทำให้หนังสือการ์ตูนไทยไม่เป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อน ไม่สามารถสร้างรายได้เท่ายุคที่ผ่านมา เมื่อนักวาดการ์ตูนอยู่ไม่ได้ หลายคนก็ต้องผันตัวสู่วงการอื่น อย่างที่ เอกสิทธิ์ ต้องเปลี่ยนอาชีพมาทำหนังโฆษณาแทน
นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นผลงานการ์ตูนไทยถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ‘ญี่ปุ่น’ ที่การ์ตูนและอนิเมะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งของชาติเขาไปแล้ว พาเรามองย้อนกลับมาคิดว่าปลายทางของคนในวงการการ์ตูนไทยปัจจุบันนี้กำลังไปสู่จุดไหน

“เราก็สงสัย แล้วสุดท้ายปลายทางของนักวาดจะไปจบที่อื่นกันหมดเลย พี่ก็ต้องผันตัวมาทำหนังโฆษณา มันน่าเศร้าเหมือนกัน พี่ว่ากำลังซื้อของเรามันไม่พอ เอาตรงๆ มันคือรายได้ ซึ่งมันอาจจะต้องแปล ต้องส่งออกเหมือนที่ญี่ปุ่นเขาแปลและกระจายออกไป พอคนอ่านมากขึ้นมันก็จะเห็นได้ว่าเรื่องไหนเวิร์ค เรื่องไหนไม่เวิร์คก็ต้องดรอปไป กลายเป็นเว็บตูนซึ่งเก่งมากในเรื่องนี้”
เขาเล่าให้เราฟังอย่างจริงจังว่าการ์ตูนไทยขาดการส่งออกไอเดียออกไป ไม่ใช่แค่การ์ตูนไทยที่ไม่ได้รับการส่งออก ความจริงแล้วงานศิลปะหลายๆ แขนงของไทยก็ติดขัดอยู่ประมาณนี้แทบจะทุกวงการ อีกเรื่องน่าเศร้าที่เป็นความจริงคือคนไทยอาจจะยังไม่ได้ให้คุณค่ากับคำว่า ‘งานศิลปะ’ มากพอ ตรงกันข้ามกับต่างประเทศที่เวลาผลงานของศิลปินไทยไปอยู่ที่บ้านเขากลับถูกให้คุณค่ามากกว่าในประเทศบ้านเกิดของตัวเองด้วยซ้ำ
“มีช่วงหนึ่งที่ทำการ์ตูนใหม่ๆ อยู่ในยุคเดียวกันกับที่ เต๋อ-เรวัต (พุทธินันทน์) เขาก่อตั้งแกรมมี่ ก็รู้สึกว่าทำไมวงการเพลงเขายังทำได้เลย วงการการ์ตูนมันน่าจะมีโอกาสบ้าง”

“หรือกูนี่แหละจะเป็นเต๋อของวงการการ์ตูนวะ คิดอย่างนี้เลยนะ (หัวเราะ) แล้วสุดท้ายก็ค้นพบความจริงว่ามันมีปัจจัยมากกว่านั้น มันทำไม่ได้ทำไมก็ไม่รู้ อาจจะไม่ได้เจ๋งเท่าพี่เต๋อมั้ง เขาดูมุ่งมั่นจริง เรายังเป็นแค่หมากตัวเล็กๆ แต่มันก็เคยมีความคิดนั้นจริงๆ นะว่าอยากมีเทศกาลคอมมิคคอนในไทย ตอนนี้มันกระจัดกระจายกลับมาเป็นอาร์ตทอยอีกแล้ว มันจะโผล่มาแป๊บๆ แต่มันไม่มีใครเข้าไปช้อนเขาขึ้นมา โผล่หัวมาแล้วก็จมหายไปในโคลนแห่งความพยายาม”
จากจุดเริ่มต้นในการเป็นนักวาดของเอกสิทธิ์ ในบทสัมภาษณ์นี้เราจะเห็นเขาพูดอยู่เสมอว่าความฝันที่แท้จริงของเขาตั้งแต่แรกก็คือการได้เป็นผู้กำกับหนัง และจุดที่ทำให้หลายคนได้รู้จักเขาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังในวงการภาพยนตร์ คือภาพยนตร์สยองขวัญตลกร้ายอย่าง ‘13 เกมสยอง’
‘13 เกมสยอง’ ใบเบิกทางสู่วงการภาพยนตร์
เท้าความไปหลังจากที่เขาได้รับรางวัลจากโยมิอุริชิมบุน ก็เป็นปีที่ผลงานการ์ตูน ‘รวมเรื่องสั้นจิตหลุด’ ของเขาได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 13 เกมสยอง โดยบริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยระดับประเทศอย่าง สหมงคลฟิล์ม ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ถือเป็นช่วงพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิตที่เปิดโลกของนักเขียนการ์ตูนคนนี้ให้กว้างขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเขายังกล่าวอีกว่า การถูกชักชวนมาร่วมงานกับผู้กำกับฯ มากฝีมืออย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ทำให้เขารู้สึกว่ามาไกลเกินฝันมาก

“เจอมะเดี่ยวครั้งแรก มะเดี่ยวก็ชวนให้เขียนบทซึ่งพี่ก็ไม่เคยเขียนบทมาก่อน อยากลองครับ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วย มะเดี่ยวนับได้ว่าเป็นอาจารย์ที่ดีสำหรับการเข้าสู่วงการเหมือนกัน สอนทุกอย่างโดยไม่กั๊กเลย”
จากนักวาดการ์ตูนสู่วงการเขียนบทภาพยนตร์ เมื่อครั้งแรกที่เอกสิทธิ์ได้มีโอกาสร่วมเขียนบทใน 13 เกมสยอง เขาใช้วิธีการเขียนบทโดยการวาดเป็นภาพตั้งแต่ซีนแรกไปจนถึงซีนสุดท้าย และส่งต่อสู่กระบวนการลดทอนจากภาพวาดไปเป็นบทภาพยนตร์ฉบับจริง เป็นครั้งแรกที่เขาได้เรียนรู้การเขียนบทหนังอย่างจริงจัง ในช่วงเวลาต่อจากนั้นไม่นาน กอล์ฟ ปวีณ (ภูริจิตปัญญา) ก็ชักชวนให้เขาและมะเดี่ยวเข้าร่วมในโปรเจกต์ บอดี้..ศพ#19 นับเป็นฤดูกาลแห่งการเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
การ์ตูนกับภาพยนตร์ ความเหมือนที่แตกต่าง
เอกสิทธิ์เล่าให้เราฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกแพลตฟอร์มมีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ อย่างเช่น การวาดการ์ตูนจะไม่มีเสียง ไม่มีการเคลื่อนไหว ทุกอย่างทำงานกับจินตนาการและสมองของคน เป็นความโชคดีที่นักวาดการ์ตูนคนนี้มีประสบการณ์ในการทำโฆษณามาก่อน เลยสามารถเปรียบเทียบให้เราฟังอย่างเข้าใจได้ไม่ยากในฐานะคนเบื้องหลังว่า เมื่อเราทำงานโฆษณาจุดใหญ่ใจความของโฆษณาคือโจทย์และเป้าหมาย ลองจินตนาการดูว่าถ้าจะวาดการ์ตูนเป้าหมายของเราคือใคร ถ้าทำภาพยนตร์เป้าหมายคือใคร ผู้ชมดูตอนไหน สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยในการเล่าเรื่องของเราได้
“โดยเฉพาะในตอนที่แจ้งเกิดจาก 13 เกมสยอง, บอดี้..ศพ#19 ไปจนถึง สี่แพร่ง มันล้วนมาทางแนวทริลเลอร์ระทึกขวัญ มันทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอยู่แล้ว แต่ทีนี้อารมณ์ความรู้สึกของคนยิ่งจะทำให้เขารู้สึกหวาดกลัวมันต้องดูสภาพแวดล้อมของเขาด้วย สมมติถ้าเราทำหนังผีในมือถือ เราต้องรู้แล้วว่าเขาดูตอนกลางวันได้ เพราะฉะนั้นในมือถืออาจจะต้องโฉ่งฉ่างกว่าในหนัง ต้องเล่นแรงกว่า น่าสนใจกว่า เพื่อให้ดูในจอเล็กๆ แล้วยังดึงดูดคนดูได้ แต่พอเป็นในโรงหนังที่ทุกคนอยู่ตรงนั้นอาจจะน้อยกว่าได้”

“เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทุกแพลตฟอร์มมีมุกเล่นของมันหมด อย่างตอนที่พี่เขียนการ์ตูนที่เล่นมุกเรื่องคำสาปแช่ง ไอ้ยันต์อย่าอ่านชะตาจะขาด อันนั้นก็เล่นกับหนังสือ โดยการที่คนอ่านเปิดไปเจอหน้าสุดท้ายแล้วเป็นคำสาปแช่งพอดี หลายคนกลัวมากในตอนเด็กๆ บางคนขว้างหนังสือทิ้งอะไรอย่างนั้น พี่รู้สึกว่ามันมีมุกเยอะสำหรับการเล่นในแพลตฟอร์มต่างๆ สมมติว่าถ้าจะเล่นเป็นพอดแคสต์ พี่ก็จะมีมุกให้คนฟังแล้ว เชี่ย.. ขนลุก กลัวว่ะ เล่นกับเสียงเล่นกับความรู้สึก”
นักวาดการ์ตูนที่ชอบทำหนังคนนี้สารภาพกับเราตรงๆ ว่า ความจริงแล้วตัวเขาเองเป็นคนขี้แกล้ง ชอบแกล้งคนและชอบการเล่าเรื่องแนวสยองขวัญเป็นพิเศษ จึงไปได้ดีกับคนที่ชอบดูหนังสยองขวัญที่ชอบให้คนทำหนังแกล้งเช่นกัน
จากคำกล่าวของผู้คร่ำหวอดในทั้งสองวงการ ที่ได้เปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างการวาดการ์ตูนและการทำภาพยนตร์ ทำให้เราได้เห็นว่าทั้งสองสิ่งนี้มีความเหมือนและในอีกมุมหนึ่งก็มีความแตกต่าง อย่างไรก็ตามสองสิ่งนี้ต่างก็มีศาสตร์และศิลป์ในตัวของมันเอง
การทำงานโฆษณามาก่อนก็มีส่วนช่วยทำให้เอกสิทธิ์เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อมาทำหนังเพราะรู้ว่าตัวเองมีจุดเด่นและจุดด้อยตรงไหนจากประสบการณ์ที่มีมา เขากล่าวว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งหมดทุกด้าน ตัวเขาจะไม่ค่อยเก่งเรื่องมนุษย์ๆ เรื่องลึกๆ หรือเรื่องดราม่าเท่าไหร่ งานของเขาค่อนข้างที่จะโฉ่งฉ่างและเป็นวิชวล เพราะฉะนั้นเวลาทำงานออกมาสักชิ้นจึงเลือกทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเองถนัดมากกว่า

เมื่อพูดคุยกับคนทำหนังเราจึงต้องถามคำถามคลาสสิคอย่างหนังเรื่องโปรดในดวงใจ หรือหนังที่เขามองว่า นี่แหละคือสิ่งที่รู้สึกว่าอยากทำให้ได้แบบนั้นบ้างในงานของตัวเอง
“ไม่รู้ว่ามันเอาท์ไปรึยัง เราชอบ ‘Oldboy’ ของเกาหลีครับ ออริจินัลเลย รู้สึกว่าอยากทำหนังให้ได้อย่างนั้น เอาจริงๆ เป็นคนกวนตีนเหมือนกัน ชอบหนังสยองที่มันกวนตีน แต่ในไทยมีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเก็ทกับอะไรแบบนี้ เขารู้สึกว่าถ้าผีก็ต้องผีอย่ามาตลก ถ้าจะตลกก็ตลกไปเลยจะได้ไม่ดู แต่พี่รู้สึกว่าผีที่จริงจังสุดๆ ไม่เหนือชั้นเท่าผีที่ยังฮาได้ คือจังหวะนี้ยังแอบใส่โบ๊ะบ๊ะได้ พี่รู้สึกว่ามันมีความเลือดเย็น มีความกวนตีนอยู่ กำลังฆ่าคนมันยังใส่มุกได้อีก”
ถามถึงหนังที่สร้างแรงบันดาลใจไปแล้ว กับการก้าวเข้าสู่บทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์อย่างจริงจังในตอนนี้เอกสิทธิ์เล่าว่า ตัวเองมีความฝันและชาเลนจ์ที่อยากทำหนังให้มีความล้ำ คล้ายกับบรรยากาศใน 13 เกมสยอง อยากได้กลิ่นอายของความเป็น ‘Game of Dead’ ให้ความรู้สึกว้าว หักเหลี่ยมเฉือนคม อยากให้สิ่งที่ใส่ลงไปในหนังเมื่อคนดูเห็นแล้วพยักหน้าทุกซีน มีความเป็นแอบสแตรกต์และนามธรรม นี่เป็นสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในหนังของตัวเองสักครั้ง

นอกจากผลงานสร้างชื่ออย่าง 13 เกมสยองที่เป็นภาพยนตร์ความยาว 116 นาที เขายังมีผลงานการเขียนบทและกำกับซีรีส์ยาวมาแล้ว เช่น เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน (ตอน เพื่อนร่วมห้อง) หรือ The Collector คนประกอบผี เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างงานภาพยนตร์ที่ต้องถูกฉายในโรงฯ กับงานซีรีส์ที่แบ่งย่อยออกเป็นหลายๆ ตอนและถูกฉายในสตรีมมิง
เขาอธิบายให้ฟังว่าพอเป็นหนังฉายในโรงฯ คนต้องเดินทาง จ่ายเงินซื้อตั๋ว ซื้อป๊อปคอร์นเข้ามาดู เพราะฉะนั้นจะรู้สึกกดดันมากกว่าเป็นซีรีส์ที่ถูกปล่อยลงสตรีมมิงเพราะทุกคนเงินจ่ายรายเดือนมาแล้ว การทำหนังในแต่ละเรื่องเดิมพันจึงสูงกว่าและมีสิทธิ์ที่คนจะคาดหวังมากกว่า
ด้วยความที่เอกสิทธิ์เป็นหนึ่งในนักทำหนังที่ชอบเล่นท่ายาก ถ้าใครที่เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อหรือใครที่ชอบก็น่าจะชอบเลย แต่คนที่ไม่ชอบก็ไม่น่าจะเข้าใจ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกและเรื่องล่าสุดอย่าง ‘HalaBala’ เป็นเรื่องที่เขาคาดว่าหลายคนน่าจะชอบ และเข้าใจได้ไม่ยากจนเกินไป
ผลงานกำกับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก ‘HalaBala ป่าจิตหลุด’
เรื่องราวเกี่ยวกับผืนป่าสุดลึกลับในจังหวัดยะลา-นราธิวาส ที่มีตำนานและเรื่องเล่าลี้ลับต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยจะเล่าเรื่องของ ‘แดน’ นำแสดงโดย ‘เต๋อ-ฉันทวิชช์’ ตำรวจที่ถูกสั่งย้ายจากกรุงเทพฯ ให้มาประจำการที่ชายแดน โดยการตามล่าพ่อค้ายารายใหญ่ ในผืนป่าสุดลึกลับที่มีชื่อว่า ฮาลาบาลา และมีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องไปเจอกับหมู่บ้านโบราณแห่งหนึ่ง เกิดเป็นเรื่องราวเสี่ยงตายและแปลกประหลาด เป็นภารกิจที่เขาต้องเอาตัวรอดกลับออกมาให้ได้
“มันคือการกลั่นกรองจากชีวิตการทำงาน การเขียนบท เขียนการ์ตูน เขียนหนังสือ ทุกอย่างเลย คิดว่าพอจะเข้าใจศาสตร์การทำให้คนกลัว ให้อยากรู้หรือสนุกประมาณหนึ่ง พี่เลยจะใช้ศาสตร์นั้นเป็นเหมือนการทดลองเพื่อจะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกช็อตสมอง พยายามจะอัดความรู้สึกบางอย่างผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 อยากให้รู้สึกว่ามันไม่เหมือนหนังทั่วไป มีความเป็นเกมที่คุณต้องคิด มันอาจจะเหนื่อยหน่อยทางการรับรู้”

เรื่องราวทั้งหมดที่ได้จากการสัมภาษณ์เอกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพนักวาดการ์ตูน พัฒนามาสู่การทำโฆษณา เขียนบท สู่การกำกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่แรก วันนี้เขาทำตามความฝันนั้นสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นและความพยายาม ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เขาจะไม่ได้กลับไปวาดการ์ตูนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่เอกสิทธิ์ได้กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ได้วาดการ์ตูนในตอนนั้นเขามีความสุขอย่างมาก และเมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ประสบการณ์การทำงานทั้งหมดในชีวิตของเขาจะถูกถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก ‘HalaBala ป่าจิตหลุด’ เราคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าผลงานการกำกับฯ ชิ้นนี้ของเขาจะออกมาน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน
