ASIA7 กับการเดินทางตลอดระยะเวลา 9 ปี จากจุดเริ่มต้นที่ใครๆ มองว่าเป็นไปได้ยากแต่พวกเขาทำได้ในที่สุด

1 มี.ค. 2568 - 04:15

  • ASIA7 สร้างบทเพลงอันไพเราะให้เราฟังมายาวนานถึง 9 ปี บทเพลงแต่ละเพลงของพวกเขาสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นไทยได้อย่างลงตัว

  • ‘DeepMind’ อัลบั้มใหม่ที่จะได้สัมผัสถึงความหลากหลายของพวกเขา และพบกับสีสันใหม่ๆ ในเวอร์ชันที่เติบโตขึ้น

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Hero.jpg

บทสัมภาษณ์สุดพิเศษ ‘ASIA7’ กับการเดินทางตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของวงเกิดจาก ‘ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง’ ผู้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่อยากจุดประกายสิ่งใหม่ให้แก่วงการดนตรีไทย โดยมีส่วนประกอบสำคัญของวงคือ ซอ และเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ใครๆ ก็มองว่าเป็นไปได้ยากแต่พวกเขาไม่ย่อท้อกับความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จในสักวัน  

ในปีที่แล้ว ASIA7 ได้สร้างไวรัลจากเพลง loop (ฉันจึงวนกลับมา) ที่ฮิตติดไวรัล 23 ล้านวิว และในปีนี้พวกเขาจะพาทุกคนร่วมออกเดินทางสำรวจอารมณ์ที่อยู่ลึกในห้วงของจิตใจกับอัลบั้ม ‘DeepMind’ พร้อมปล่อยเพลงใหม่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมากับเพลง ‘ฉันยังมีประโยชน์อยู่ไหม’ 

แม้ว่าเพลงนี้จะดำดิ่งและทิ่มแทงใจมากแค่ไหน แต่วง ASIA7 ก็มีประโยคฮีลใจมาฝากให้กับเเฟนๆ “คนเราก็ต้องมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าโดนทิ้ง เราแค่ต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นสักพัก พอถึงจุดหนึ่งเราก็จะรู้ว่าเรารักตัวเองมากกว่าคนที่ทิ้งเราไป รักตัวเองให้มากๆ นะครับ” คำกล่าวจาก ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช 

สำหรับใครที่อยากฟัง ASIA7 แสดงให้ชมแบบสดๆ อยากรับชมด้วยตาเนื้อ สามารถรับชมได้ที่งาน Bangkok Music City ในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 เวลา 16.20 – 17.00 น. ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg

การได้เจอกับ ASIA7 เป็นครั้งแรกทำให้เราได้เห็นถึงบุคลิกที่แตกต่างกันของสมาชิกภายในวง เช่น ‘ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง’ ผู้ริเริ่มในการสร้างวงดนตรีที่สอดแทรกดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของวงที่คอยตอบคำถามทุกข้อสงสัยให้กับเราเป็นหลัก หรือ ‘สุนทร-สุนทร ด้วงแดง’ ที่หากไม่มีการตอบคำถามเขาถือเป็นผู้ฟังที่ดี แต่ถ้าได้ตอบเมื่อไหร่ก็เป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะได้เสมอในวงสนทนา 

ASIA7 ถือเป็นวงดนตรีวงแรกๆ ที่นำเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบ้านเข้ามาใช้ในการบรรเลงเพลงอันไพเราะให้เราฟังมายาวนานถึง 9 ปี บทเพลงแต่ละเพลงของพวกเขาสอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นไทยได้อย่างลงตัว และสามารถทำให้วงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีไทยเป็นส่วนประกอบเข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายในวงกว้าง 

ASIA7 ประกอบไปด้วยสมาชิก 8 คน คือ ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซ็กโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง) และโยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ) ในช่วงที่ได้สัมภาษณ์สมาชิกทั้งแปดเราสัมผัสได้ถึงความรักในเสียงดนตรี ความเชื่อที่มีต่อดนตรี และความปรารถนาที่อยากทำให้วงเติบโตขึ้น

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ02.jpg

การเติบโตของ ASIA7 ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา 

ASIA7 วงดนตรีที่มีจุดเริ่มต้นจากการชักชวนของ ‘ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง’ ผู้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและปรารถนาอยากจุดประกายสิ่งใหม่ให้แก่วงการดนตรีไทย โดยมีส่วนประกอบสำคัญของวงคือ ซอ และเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ช่วงแรกของการทำวงพวกเขาได้ออกแสดงเป็นครั้งคราวก่อนเปิดตัวในฐานะศิลปินอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559  

“การที่เราเดินทางกันมา 9 ปี มันเป็นเหมือนบทพิสูจน์ที่หากเราย้อนกลับไปมองตัวเองเมื่อ 9 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีวงไหนนำเครื่องดนตรีไทยมาผสม หรือถ้ามีก็เป็นแค่่โปรเจ็คต์พิเศษแบบ 20 เพลงมีเพลงหนึ่งที่เป็นดนตรีไทย ด้วยความที่สมาชิกของเรามีกัน 8 คนที่มีความสามารถทางด้านดนตรีได้ร่วมกันนำเสนอจุดเด่นออกมา จากการทำเพลงที่มีดนตรีไทยเข้ามาเพื่อเป็นโปรเจ็คต์พิเศษแต่เราทำให้มันเป็นแนวเพลงปกติมาเรื่อยๆ ณ ตอนนี้ทำให้หลายคนเริ่มเปิดใจฟังมากขึ้น เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับแนวเพลงที่เราทำ” เป็นคำพูดของ ‘ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง’ ผู้ที่จุดประกายทำให้เราได้รู้จักวง ASIA 7 มากยิ่งขึ้น

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ03.jpg

นอกจากนี้ ‘ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช’ ยังตอบเสริมอีกว่า “เราเริ่มเห็นภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่นำเครื่องดนตรีไทยมาอยู่ในวง เด็กมัธยมเริ่มเอาเพลงของเราไปแสดง ทำให้เรารู้สึกว่ามันไปได้ไกลกว่าเดิม อย่างในปี 2025 ความคาดหวังของผมคืออยากให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ปัจจุบันเราสามารถตกตะกอนขึ้นมาได้ว่า คนอื่นๆ รู้จักวงของเราโดยที่ไม่พูดว่า ASIA7 คือวงที่มีพิณกับซอ เหมือนกับที่เราไม่พูดว่าวง Linkin Park คือวงร็อกที่ใส่หน้ากาก รูปแบบวงของเรามันชัดเจนมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องนั่งอธิบายว่าวงเรามีที่มาจากอะไร” 

หลังจากที่ได้พูดคุยถึงพาร์ทการเติบโตของวงเราก็เห็นด้วยกับทุกคำตอบ เราเชื่อในการเติบโตและความปรารถนาของวงที่อยากทำให้ทุกคนได้เป็นที่รู้จัก และเชื่อว่าพวกเขาจะต้องทำสำเร็จในเร็วๆ นี้

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ04.jpg

ประสบการณ์ของ ต้น-ต้นตระกูล ที่นำมาปรับใช้ในวง 

สิ่งที่ ‘ต้น-ต้นตระกูล’ ได้เรียนรู้จากการเป็นศิลปินเดี่ยวแล้วนำมาปรับใช้ในการทำวงเขามองว่า การที่เขาได้ไปแสดงเดี่่ยวนั้นเปรียบเสมือนการฝึกฝนเพื่อนำประสบการณ์มาปรับใช้ในวง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การเชื่อมั่นในตัวของสมาชิกทุกคน 

“ผมเชื่อมั่นในตัวเพื่อนๆ ของผมทั้ง 7 คนว่านี่คือสุดยอดนักดนตรี หมายถึงถ้าผมนำความรู้และประสบการณ์มารวมกับความคิดของสมาชิกแล้วมันจะไปได้ไกลมากขึ้น ถ้าถามว่าการทำเพลงในรูปแบบของวงยากมั้ยมันก็ยาก ก่อนหน้านี้เราเคยทำเพลงแบบกินดีอยู่ดี เพลงที่ทำตามใจคนฟัง พอเราเปลี่ยนรูปแบบบการทำเพลงคนฟังก็เริ่มไม่ค่อยฟังแต่เราไม่ได้ตัดสินว่าเขาหูไม่ถึง” 

“ผมเพิ่งฟังสัมภาษณ์ของ ‘Laufay’ เขาไม่เชื่อว่าความคลาสสิคและเพลงแจ๊สจะไปด้วยกันได้ ผมว่า ASIA7 ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันต้องใช้เวลาในเรื่องของบริบททางสังคมกับสิ่งที่ทุกคนในวงมีเพราะทุกคนต่างทำงานเป็นเบื้องหลัง ทั้ง Vocal Director, Music Director และเป็นอาจารย์ คือทุกคนพบเจอประสบการณ์แล้วนำมาปรับนิดปรับหน่อยเพื่อทำให้ ASIA7 สมบูรณ์มากขึ้นและไปต่อได้”

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ05.jpg

‘ฉันยังมีประโยชน์อยู่ไหม’ บทเพลงที่พร้อมดำดิ่งไปกับความรู้สึก 

บทเพลงที่มีเนื้อหาลึกซึ้งและทิ่มแทงความรู้สึกของผู้ฟัง อย่างที่เนื้อเพลงเขียนเอาไว้ว่า  “ฝืนตัวเองหรือเปล่าที่ยังมีฉันอยู่ บอกฉันให้รู้ ฉันต้องอยู่ตรงไหน” เป็นท่อนที่ทำให้คิดภาพตามได้ว่าถ้าเราเข้าไปในชีวิตของใครสักคนแล้วเกิดคำถามว่าเราจะต้องย้ายตัวเองไปไว้ตรงไหนขึ้นมาจริงๆ ก็คงรู้สึกดิ่งจนทำตัวไม่ถูก เพลงนี้ยังได้ ‘โอม Cocktail’ ร่วมกันกับ ‘จ๋าย TaitosmitH’ เข้ามาเป็นโปรดิวเซอร์ จนออกมาเป็นซิงเกิล ‘ฉันยังมีประโยชน์อยู่ไหม‘ ให้เราได้ฟังกัน เรียกได้ว่าเป็นเพลงที่น้อยแต่มากของแท้ 

‘ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์’ ได้เล่าที่มาของเพลงนี้เอาไว้ว่า “เพลงนี้เกิดจากที่อยู่ดีๆ เราก็มีความคิดแล่นเข้ามาในหัว นึกถึงสถานการณ์ที่ถ้าเกิดเราอยู่ในสถานที่ที่คนเยอะๆ แล้วเราไปอยู่ตรงนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน ตอนเขียนเพลงก็เริ่มจากท่อนฮุคแล้วเอามาเสนอกับคนในวง โดยเพลงนี้ก็ถือว่าเป็นเพลงที่ฟังง่ายที่สุดตั้งแต่ทำมาด้วย” เป็นเพลงที่เรียกได้ว่าหากใครมีความรู้สึกหรือกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ตรงกับเพลงนี้ เปิดฟังก็ต้องมีน้ำตาไหลกันบ้าง

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ06.jpg

Spacebar VIBE ขอหยิบยกข้อความให้กำลังใจจากสมาชิกวง ASIA7 บางส่วนมาให้ได้อ่านกัน “คนเราก็ต้องมีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าโดนทิ้ง เราแค่ต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นสักพัก แต่พอถึงจุดหนึ่งก็จะรู้ว่าเรารักตัวเองมากกว่าคนที่ทิ้งเราไป รักตัวเองให้มากๆ นะครับ”  ประโยคปลอบใจที่แฝงไปด้วยความจริงใจจากดิว 

“จริงๆ ถ้าใครฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกโดนใจจนเกิดการตัดพ้อว่าอยู่ไปทำไม สำหรับผมรู้สึกว่าเราเป็นคนสำคัญในชีวิตใครสักคนอยู่แล้ว เราไม่ได้ไร้ค่าขนาดนั้น ยังไงก็ขอให้ทุกคนไปฟังเพลง loop กันด้วยนะครับแล้วกลับมาฟังเพลง ‘ฉันยังมีประโยชน์อยู่ไหม’ อีกที” จากการขอกำลังใจสู่การขายเพลงที่เรียกได้ว่าโปรโมทหนึ่งเพลงแต่ขายได้ถึงสอง ณ ตอนนั้นทำเอาขำกลิ้งกันทั้งห้องสัมภาษณ์ นอกจากเป็นวงที่คุยสนุกแล้วยังขายเก่งอีกต่างหาก

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ07.jpg

ผลงานในอนาคตอันใกล้จาก ASIA7 

‘DeepMind’ อัลบั้มใหม่ที่เราจะได้รับฟังจาก ASIA7 ในเร็วๆ นี้ คือสิ่งที่สมาชิกภายในวงได้สปอยล์กับพวกเราไว้ว่าจะได้เห็น ASIA7 ในรูปแบบที่ค่อนข้างใหม่ เชื่อว่าหลายๆ คนทั้งแฟนคลับหรือคนที่เคยฟัง ASIA7 จะได้สัมผัสถึงความหลากหลายของพวกเขา ได้พบกับสีสันใหม่ๆ ในเวอร์ชันที่เติบโตขึ้น ได้เห็นแนวเพลงที่ใกล้ชิดกับคนฟัง และได้สัมผัสถึงมุมมองการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงที่ต่างออกไป อัลบั้ม ‘DeepMind’ จะเป็นอัลบั้มที่เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อสำรวจจิตใจในห้วงลึกของอารมณ์ 

ส่วนคอนเสิร์ตทางวงก็มีการพูดคุยไว้บ้างแล้วถึงคอนเซ็ปต์ที่มีรูปแบบอิงตามอัลบั้มเป็นหลัก ใครที่เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตของพวกเขาจะต้องได้รับประสบการณ์สุดพิเศษอย่างแน่นอน 

ใครที่อยากฟัง ASIA7 แสดงให้ชมแบบสดๆ อยากรับชมด้วยตาเนื้อสามารถรับชมได้ที่งาน Bangkok Music City ในวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 เวลา 16.20 – 17.00 น. ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ08.jpg

ซอฟต์พาวเวอร์จาก ASIA7 ที่จุดประกายให้กับเด็กรุ่นใหม่ 

ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ที่เมื่อก่อนหลายๆ คนอาจมองภาพว่าใครที่มีใจรักในด้านดนตรีสิ่งที่ทำได้ก็เป็นแค่ศิลปินหรือครูเพียงเท่านั้น หรือบางคนอาจมีใจรักแต่เจอกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำจนเกิดข้อจำกัดให้กับตัวเองก็อาจจะไม่กล้าก้าวออกมาเพื่อทำในสิ่งที่รักได้  

“จริงๆ มันเกิดคำถามนี้กับทุกเครื่องดนตรีไม่ได้ถูกถามแค่ดนตรีไทย แต่ด้วยความเป็นดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านมันเลย Deep กว่า ผมมองว่าดนตรีไทยหรือดนตรีพื้นบ้านมันเป็นได้มากกว่าครู เราสามารถประกอบอาชีพได้หมดเลย จบดนตรีไทยมาก็สามารถทำ Film Score ได้เพราะเราจะมีความรู้ด้านดนตรีไทยมากกว่าคนอื่น หรือเป็น Sound Engineer ที่สามารถคุมเสียงดนตรีไทยก็ได้ หรืออาชีพต่างๆ ที่ดนตรีตะวันตกทำได้เราก็ทำได้หมดเลย อย่ามองว่าเป็นได้แค่ศิลปินกับครู” ต้นเป็นผู้ที่ขยายภาพของวงการดนตรีไทยของเราให้กว้างมากขึ้น 

โยเยได้พูดเสริมว่า “อย่าปิดกั้นตัวเอง หมั่นหาข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองสนใจเพราะมันจะทำให้เราเห็นช่องทางในการทำงาน”

Exclusive-Interview-ASIA7-New-Song-SPACEBAR-Photo_SQ09.jpg

นอกจากการค้นหาตัวตนแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการสนับสนุนจากทางภาครัฐและโอกาสในวงการดนตรีที่มากขึ้น ASIA7 เองก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA: Creative Economy Agency) เช่นกัน 

ต้น-ต้นตระกูล ได้อธิบายถึงสิ่งที่ขาดการสนับสนุนจากทางรัฐว่า “รัฐบาลยังไม่ค่อยส่งเสริมวงการดนตรีมากสักเท่าไหร่ แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าถ้าอยากให้รัฐส่งเสริมต้องทำยังไง บางคนไม่ได้รับการสนับสนุนต้องรู้ก่อนว่าถ้าอยากให้รัฐสนับสนุนต้องทำยังไง หลายคนยังไม่เข้าใจในตรงนี้มันก็จะเชื่อมกับภาครัฐไม่ติด ผมว่าภาครัฐเองก็ต้องกระจายโอกาสเข้าสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถ้ากระจายความเท่าเทียมหรือมองหาวงใหม่ๆ เราจะมีศิลปินดีๆ มากยิ่งขึ้น” 

บทสนทนาที่น่าประทับใจได้จบลง ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในวงการดนตรีได้กว้างมากขึ้น ได้สัมผัสถึงจุดยืนของ ASIA7 ที่ชัดเจน นี่อาจเป็นส่วนเล็กๆ จากสมาชิกทั้ง 8 คนที่เราสามารถนำเสนอให้ทุกคนได้อ่าน หวังว่าบทสนทนาในครั้งนี้จะทำให้ทุกคนได้รู้จักและรัก ASIA7 มากยิ่งขึ้น 

ช่องทางการติดตาม 

YouTube: ASIA7 BAND 

Facebook: ASIA7  

Instagram และ X: asia7band 

เรื่อง: อารียา ธีรการุณวงศ์, อารียา อรรคสุข

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์