หลังจากที่ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ (Jean-Luc Godar) เสียชีวิต หลายคนเริ่มหันมาสนใจถึงความสำคัญของเขามากขึ้นในฐานะผู้เปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์สมัยใหม่ไปตลอดกาล พร้อมกับให้ความสนใจกับแนวหนังที่เรียกว่าเฟรนช์นิวเวฟ (French New Wave) กันมากขึ้นเช่นกัน แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามศึกษาเรื่องทฤษฎีภาพยนตร์อาจไม่เข้าใจว่าหนังแนว French New Wave มีความสำคัญอย่างไรกับการทำหนังในปัจจุบัน เราจะทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันว่าอะไรคือ French New Wave และหนังแนวนี้มีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด

French New Wave หรือ La Nouvelle Vague เป็นการตั้งชื่อตามกลุ่มนักทำหนังที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950s โดยสมาชิกกลุ่มประกอบด้วย ฌ็อง-ลุก กอดาร์, อาเญส วาร์ดา (Agnes Varda), แอริค ฆอแมร์ (Eric Rohmer), ชาคส์ ฆิเวตท์ (Jacques Rivette) และ โกลด ชาบลอล (Claude Chabrol) ซึ่งเป็นกลุ่มนักทำหนังที่ต้องการทดลองการถ่ายทำหนังแบบใหม่ แต่ไม่มีทุนสร้าง ดังนั้นแทนที่จะพวกเขาจะใช้การถ่ายหนังแบบเดิมๆ พวกเขาหันมาใช้การถ่ายทำด้วยอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้แทน พร้อมกับนำเสนอการเล่าเรื่องราวแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน โดยภายหลังได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำหนังในปัจจุบัน
มอบอิสระในการเล่าเรื่องด้วยกล้องพกพา
French New Wave ขึ้นชื่อว่าเป็นแนวหนังที่ทำลายขนบการทำหนังแบบเดิมด้วยการใช้กล้องแบบมือถือ หรือกล้องแบบพกพา แทนกล้องขนาดใหญ่ที่เคยใช้ในอุตสาหกรรมการทำหนัง อย่างที่หลายคนอาจเห็นกันในหนังขาวดำสมัยก่อน French New Wave มุมกล้องจะมีความนิ่ง ไหลไปตามรางอย่างไหลลื่นไม่มีสะดุด และมีการตัดฉากไปมาอย่างไม่หวือหวาจนเกินไป
ศัพท์เทคนิคหนึ่งที่ French New Wave มักใช้คือ ‘Camera-Stylo’ คือการที่ใช้กล้องแทนการถ่ายทอดความรู้สึกของคนทำหนัง เหมือนนักเขียนใช้ปากกาเขียนลง หรือศิลปินปาดพู่กันลงบนผืนผ้าใบ เทคนิคนี้ช่วยให้หนังออกมาดูไม่แข็ง หรือมีการจำกัดความอะไรมากเกินไป และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในแบบที่ผู้กำกับต้องการได้ โดยเฉพาะการเน้นย้ำถึงอารมณ์ตัวละคร การเทียบเคียงฉาก หรือเติมเต็มสิ่งเว้าแหว่งด้วยมุมกล้อง เพื่อให้ผู้ชมรู้ตระหนักว่ารอบตัวของตัวละครมีความกว้างขวางเพียงใด

ด้วยการใช้กล้องแบบพกพาที่มีความสะดวกในการเคลื่อนไหว จึงสามารถมอบมุมกล้องที่กล้องขนาดใหญ่ทำไม่ได้ ทั้งมุมมองแบบบุคคลที่สามที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินตาม มุมกล้องแบบมุมเสย มุมมองกล้องแบบบุคคลที่หนึ่ง หรือการแพนกล้องเพื่อบอกผู้ชมให้รับรู้ว่าสิ่งรอบข้างเกิดอะไรขึ้น ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเทคนิคการถ่ายที่เกิดขึ้นครั้งแรกในกลุ่มนักทำหนังแนว French New Wave
Jump Cut เทคนิคการตัดต่อที่มีมิติ
French New Wave ยังขึ้นชื่อว่ามีการตัดต่อหนังที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย นั่นคือการตัดต่อหนังแบบ Jump Cut เป็นการตัดต่อฉากหนึ่งฉากให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วด้วยการข้ามฉาก หรือถ้าใช้คำในปัจจุบันคือการสคิพ (skip) ในหนังของ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ มีการใช้เทคนิค Jump Cut อยู่พอสมควร ซึ่งเทคนิคนี้มักใช้เพื่อเน้นย้ำถึงกาลและเทศะ (space and time) ของตัวละคร บางฉากอาจเชื่อมโยงกับบทสนทนา บางฉากอาจเป็นการพูดถึงระยะเวลาที่จริงๆ แล้วดำเนินไปสักพักหนึ่ง แต่เทคนิคนั้นทำให้ระยะดูสั้นขึ้นในพริบตา
เทคนิค Jump Cut เป็นเสมือนลูกเล่นของการถ่ายหนังที่ช่วยเพิ่มมิติในการเล่าเรื่องให้มีความหลากหลาย สนุก ไม่น่าเบื่อ ซึ่งในปัจจุบันเราจะยังเห็นเทคนิคการตัดต่อแบบนี้อยู่ทั่วไป รวมถึงหนังของ เควนติน ทารานติโน (Quentin Tarantino) หรือ หว่อง กาไว (Wong Kar-wai) อย่างฉากขึ้นบันไดในเรื่อง ‘In the Mood for Love’
เทคนิคการซูมแบบไม่ซูม
ในหนังทั่วไปมักพยายามถ่ายภาพแบบโคลสอัพสิ่งของต่างๆ เพื่อสื่อความหมายอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งนั้น แต่สำหรับหนังแบบ French New Wave จะเป็นการใช้มุมกล้องเดิม แต่ใช้กรอบภาพมาครอบเฉพาะฉากที่ต้องการจะเล่าเพื่อสื่อความหมายแทนการโคลสอัป

เทคนิคนี้ช่วยเพิ่มตัวเลือกในการเล่าเรื่องได้หลายแบบ ทั้งการครอบภาพแบบวงกลม สี่เหลียม หรือใช้กรอบภาพแล้วซูมออกเห็นภาพรวม หนังบางเรื่องมีการใช้การครอบภาพฉากเดิมของตัวละครในท่าทางที่ต่างกันรวมไว้ในกรอบเดียว
หยุดแทนการสื่ออารมณ์
ในฉากหนังแนว French New Wave โดยเฉพาะฉากที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร นักทำหนังจะทำการหยุดฉากไปราวหนึ่งถึงสองวินาทีราวกับแทรกฉากด้วยภาพนิ่งด้วยขับอารมณ์ตัวละครในตอนนั้น เช่น ฉากที่ผู้หญิงกำลังรู้ความจริงอะไรบางอย่าง นักทำหนังจะหยุดฉากตอนที่ผู้หญิงเพิ่งได้รับรู้เรื่องราวนั้น การหยุดฉากจะทำให้ผู้ชมเห็นสีหน้าที่ตกใจของตัวละครผู้หญิงคนนั้นเพียงชั่วครู่ และด้วยระยะเวลาหยุดที่นานพอ จะทำให้ผู้ชมตระหนักถึงภาวะอารมณ์ของตัวละครได้ดียิ่งขึ้น
และทั้งหมดนี้คือเทคนิคการถ่ายหนังแบบ French New Wave แบบคร่าวๆ ที่ปัจจุบันยังมีให้เห็นตามหนังทั่วไป และเป็นเทคนิคที่นักวิจารณ์หนังหลายคนยกย่องว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการทำหนังไปตลอดกาล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความมีมิติให้กับการเล่าเรื่อง มีความซับซ้อน มีพื้นที่ให้เล่นสำหรับความสร้างสรรค์ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นวิธีการทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง หากใครที่ยังไม่เคยชมหนังแนว French New Wave สามารถชมหนังที่ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ ทำไว้ในช่วงแรกๆ ได้ โดยงานช่วงแรกของเขาจะอาศัยมุมมองที่เขาได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดมาร์กซิส (Marxism) และอัตถิภาวะนิยม (Existentialism)