ซิกผ่อ ซาล่อ ซินต่อ เขาเรียกว่า Pig Latin ไม่ใช่ภาษาส่อ โค้ดลับทางภาษาที่มีตั้งแต่ยุคเชกสเปียร์

4 ก.ค. 2566 - 04:38

  • พิกลาติน หรือฮ็อกลาติน ภาษาพูดที่ผิดเพี้ยนกันมาตั้งแต่ยุคกลางจนกลายเป็นโค้ดลับทางภาษาที่ปรากฎอยู่ทั้งในนิทาน เรื่องเล่า และจอภาพยนตร์

get-to-know-pig-latin-language-SPACEBAR-Thumbnail
“ซูต่อซูผ่อซี่หม่อสองห่อใส่ คุณจะเข้าใจหรือไม่ เขาจ้องจะเล่นคุณ” 
“ลันวูลี้นู้ไลปูไหลหนุยลามู”


สองประโยคนี้เรียกได้ว่าเป็นประโยคสุดคัลท์พูดฮิตสนุกปากคนไทยไปช่วงนึง ประโยคที่สองอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะเป็นวิธีการพูดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่ม LGBTQ+ ส่วนประโยคแรกนั้นเข้าใจว่าอาจเป็นวิธีการสื่อสารกันในคุก? หากเราอ้างอิงตามสิ่งที่คุณต๊ะ ยมทูต มักกล่าวบนโซเชียลของเขาผ่านวิดีโอคลิป 

อะไรที่สองประโยคนี้มีร่วมกัน? ภาษาที่พูดกันเฉพาะกลุ่ม? หรือเป็นภาษาที่คิดขึ้นมาเองโดยปราศจากเรื่องราวที่มาใดๆ? จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองไทย เองก็มีการทวิตด้วยการใช้ภาษาดังกล่าว บอกว่าสิ่งนี้เรียกว่าภาษาลู ส่วนอีกประโยคเรียกว่าภาษาส่อ แต่ถ้าเราสังเกตจริงๆ มันเป็นเพียงการตั้งชื่อจากคำที่ปรากฎบ่อยๆ ในการใช้ภาษา ถ้าถ้า ล.ลิง กับสระอูเยอะก็เรียกภาษาลู ถ้า ซ. โซ่กับสระออเยอะก็เรียกมันว่าภาษาส่อ จริงๆ แล้วนั้นไม่ใช่ 

สิ่งที่ภาษาลูและภาษาส่อมีร่วมกันคือมีชื่อเรียกว่า ‘พิกลาติน’ (Pig Latin) เป็นปรากฎการณ์ทางภาษาที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่จำกัดแค่ในภาษาไทย โดยจุดมุ่งหมายของภาษานี้คือต้องการเป็นโค้ดลับในการสื่อสาร เราจะมาดูที่มาของพิกลาตินว่ามีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเรียกว่าพิกลาติน และเกี่ยวอะไรกับหมู 

วิธีการสร้างพิกลาตินนั้นง่ายมาก เพียงแค่เพิ่มคำต่อท้ายที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง และย้ายพยัญชนะต้นไปใส่ในคำๆ นั้น จากนั้นเพิ่มพยัญชนะใส่คำต้นโดยอาศัยสระเดิมของคำ ฟังดูอาจเข้าใจยาก แต่ถ้าสังเกตรูปประโยคนี้จะเข้าใจมากขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3PLWWMPrlZOVXrMRt83cP7/0eca0f5720ad69729b6cd5a09ecce378/get-to-know-pig-latin-language-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: Wikimedia
ตามจริงแล้วพิกลาตินมีชื่อเรียกอีกคือฮ็อกลาติน (hog latin) หรือด็อกลาติน (dog latin) เป็นการเรียกการใช้ภาษาลาตินในเชิงขบขัน อารมณ์แบบลาตินแบบหมูหมากาไก่ ซึ่งมีหลักฐานว่าการใช้ภาษาทำนองมีนานก่อนที่เชกสเปียร์ (Shakespeare) จะเกิดด้วยซ้ำ คาดว่าเกิดจากฝีมือของบาทหลวงที่ใช้พูดเพื่อให้สนุกปาก การใช้พิกลาตินยังปรากฎอยู่ในบทละคร ‘Love's Labour's Lost’  ของเชคเปียร์ในปี ค.ศ. 1598 อีกด้วย
 
“Costard: Go to; thou hast it ad dungill, at the fingers' ends, as they say. 
Holofernes: O, I smell false Latine; dunghill for unguem.”

สำหรับภาษาอังกฤษหลายคนคงนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ถ้าให้เรียกตามสิ่งที่เรามักเรียกคงเรียกว่า ภาษาเอย์ เช่น คำว่า food จะเป็น oodfay, คำว่า guide จะเป็น uidegay, คำว่า hair จะเป็น airhay เป็นต้น ซึ่งในระยะเวลาต่อมาพิกลาตินถูกใช้เป็นภาษาโค้ด หรือภาษาลับเพื่อให้คู่สนทนารับรู้ และกันไม่ให้คนอื่นร่วมรู้ด้วย 

บางแห่งก็มีการใช้พิกลาตินต่างกันไป เช่น ในบทความปี 1866 มีการพูดถึงวิธีการใช้พูดที่เหมือนพิกลาตินคือการคั่นคำใหม่ระหว่างคำให้ดูยืดออกไป "เขาเพิ่มตัวอักษรใหม่เข้าไปในฮ็อกลาตินเพื่อใช้ทำให้พวกแอบฟังสับสน เด็กชายคนนั้นถามเพื่อนว่า ‘Wig-ge you-ge go-ge wig-ge me-ge? (Will you go with me?)' เพื่อนคนนั้นตอบปฏิเสธว่า 'Noge, Ige woge. (No, I won’t)' " การใช้ประโยคในลักษณะนี้ยังปรากฎอยู่ในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของไทย บางครอบครัวมีการใช้ในทำนองเติมคำที่เป็ ค. ควายเข้าไปเพื่อสื่อสารเฉพาะวงผู้ใหญ่ไม่ให้เด็กรู้ เช่น “วันนี้เธอจะไปไหน” จะกลายเป็น “วันคันหนี่คีเธอเคอจะคะไปไคไหน่ไค” เป็นต้น  

อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่นิยมเรียกภาษาทำนองนี้ว่าพิกลาติน แต่ไปเรียกตามชื่อที่ตั้งมากกว่า เช่น ภาษาลู หรือภาษาคุกอย่างที่กล่าวไปเป็นต้น ปัจจุบันภาษาพูดเหล่านี้เป็นที่นิยมกันเป็นกระแส ปรากฎแม้กระทั่งในสื่อบันเทิงมากมาย จากที่ว่าภาษาลับตอนนี้กลายเป็นว่าไม่เป็นภาษาลับอีกต่อไปแล้ว และกลายเป็นภาษาพูดที่ใช้เพื่อความสนุกสนานแทน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์