ธอร์ พระอินทร์ และซุส เทพสามองค์ที่เป็นญาติห่างๆ กัน?

29 มิ.ย. 2566 - 02:52

  • เรื่องราวของพระอินทร์ ธอร์ และซุส สามารถสืบย้อนได้ถึงยุคหินใหม่ราว 4,500 ปีก่อนคริสตกาล โดยจุดกำเนิดทั้งหมดมาจากกลุ่มชนที่เรียกที่ว่าอินโดยูโรเปียน

  • ชาวอินโดยูโรเปียนเป็นกลุ่มชนที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา และสิ่งที่พวกเขานำไปด้วยเสมอคือ ความเชื่อและศาสนา

god-of-thunders-story-SPACEBAR-Thumbnail
ชายคนหนึ่งกำลังเดินออกจากทางโรงหนังหลังจากเพิ่งรับชมเรื่อง ‘Thor: Love and Thunder’ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ตกค้าง เหลือเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงกว่าจะถึงเวลานัดกับเพื่อนที่ร้านหนังสือ ระหว่างนั้นเขาจึงหาที่นั่งในร้านกาแฟระหว่างรอ เมื่อเลือกที่นั่งได้แล้ว เขาหยิบหนังสือ ‘รามเกียรติ์’ ออกมาจากกระเป่าเปิดขึ้นมาอ่านตอน ‘หนุมานหักคอเอราวัณ’ พออ่านไปได้สักพักเพื่อนของชายคนนั้นก็เดินเข้ามาทักทาย ในมือของเขานั้นถือหนังสือปกแข็งเป็นรูปเทพเจ้าที่กำลังกำสายฟ้าเหวี่ยงออกไป หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อเทพเจ้าซุส  

เรื่องทั้งสามเรื่องอาจฟังดูเหมือนอยู่คนละโลก ‘ธอร์’ (Thor) ที่อดีตเคยเป็นเทพเจ้าสายฟ้า่มีคนนับถือมากมายนับแสนในดินแดนสแกนดิเนเวีย กลับกลายมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาลมาร์เวล ‘รามเกียรติ์’ บทประพันธ์ของชาวอารยันที่ถูกส่งทอดมาสู่เมืองไทยโดยรัชกาลที่ 1 และ ‘ซุส’ เทพเจ้าที่เป็นใหญ่ที่สุดบนเทือกเขาโอลิมปัสในดินแดนเอเชียไมเนอร์  

ซึ่งอันที่จริงแล้วทั้งสามเรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกันในอดีต หากจะพูดว่ามีจุดกำเนิดร่วมกันก็ไม่ผิด เป็นญาติกันก็ไม่เชิง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6RpzjWmK6YrQp4vOyZFenL/25ca6421149c809dbc162abe8625bebe/god-of-thunders-story-Photo01
ถ้าลองหันมาโฟกัสกันที่คุณสมบัติของเทพสามองค์จากดินแดนทั้งสามแห่ง เราจะพบว่าทั้ง ธอร์ พระอินทร์ และซุส ต่างเป็นเทพเจ้าสายฟ้าเหมือนกัน ธอร์สามารถควบคุมฟ้าและฝน ค้อนโยเนียร์ของธอร์สามารถก่อให้เกิดสายฟ้าฟาดลงมาได้ พระอินทร์ถืออาวุธที่เรียกว่า ‘วัชระ’ แปลว่า ‘สายฟ้า’ สามารถสร้างสายฟ้าได้ ส่วนเทพซุสมีอาวุธที่เรียกว่า ‘Thunderbolt’ เป็นอาวุธสายฟ้าที่ได้รับมาจากไซคลอป ยักษ์ตาเดียว 

บางคนอาจบอกว่าในแต่ละที่ แต่ละดินแดนคงมีเทพที่คล้ายกัน หรือถูกสร้างมาให้รองรับกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ การเทียบคุณสมบัติของเทพทั้งสามองค์ว่าเป็น ‘เทพเจ้าสายฟ้า’ เหมือนกันคงฟังไม่สมเหตุสมผลพอ เรื่องนี้คงต้องย้อนไปไกลถึง 2500-4500 ปีก่อนคริสตกาล ในดินแดนที่เรียกว่า ‘ทุ่งหญ้าสเตปป์’ (Steppe) 

โปรโตอินโดยูโรเปียน กลุ่มชนผู้ให้กำเนิดเทพเจ้าทั้งหลาย 
คำว่า ‘โปรโตอินโดยูโรเปียน’ (Proto Indo-European) หลายคนอาจคุ้นหูในฐานะต้นตระกูลแห่งภาษาในยุโรป แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าอินโดยูโรเปียนถูกใช้เป็นคำเรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ (ตะวันออกของตุรกีถึงตะวันตกมองโกเลีย) เมื่อ 4500 ปีก่อนคริสตกาล และถือเป็นชนกลุ่มแรกที่เริ่มเข้าไปอาศัยตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชียไมเนอร์ ไปจนถึงทางเหนือของอินเดีย ชนกลุ่มนี้ใช้ภาษาที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า ‘โปรโตอินโดยูโรเปียน’ หรือย่อว่า ‘PIE’ ซึ่งเป็นภาษาที่มีการพัฒนาและแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นภาษานับสิบๆ ภาษาในปัจจุบัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3c2nLxr36vJRy4elfD43hJ/755bf46f3f925efd5c1ab82fb67e3767/god-of-thunders-story-Photo02
Photo: แผนที่การกระจายตัวของชาวอินโดนยูโรเปียน Photo: Wikimedia
แน่นอนว่าการเดินทางชาวอินโดยูโรเปียนไปในที่ต่างๆ ต้องนำวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาติดตัวไปด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ไหน พื้นที่นั้นก็จะรับอิทธิพลด้านความเชื่อและศาสนาไปด้วยเช่นกัน โดยชาวอินโดยูโรเปียนนั้นเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละองค์มีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ดเยวส์ (Dyeus) เทพแห่งท้องฟ้า, ดิวอสซุนุ (Diwos Sunu) เทพแฝดม้า, เยโมสกับมันนุส (Yemos and Mannus) เทพแฝดแห่งความตาย, เพอควูนอส (Perkwunos) เทพสงคราม เป็นต้น 

ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าได้เผยแพร่เข้าไปยังเมืองท้องถิ่นทุกที่ที่ชาวอินโดยูโรเปียนเข้าไปอาศัย หรือพิชิตได้ เราจะเห็นความคล้ายคลึงกันของเทพเหล่านี้ปรากฎอยู่ในเทพปกรณัมของกรีก นอร์ส และอินเดีย แม้มีชื่อที่แตกต่างกันไปบ้างแต่พวกเขายังคงคุณสมบัติของเทพเหล่านั้นไว้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1pTpRI5JAFjnD7iKv67pVy/17c632482553d2f280ccd46a0e0baed2/god-of-thunders-story-Photo03
Photo: ทรุนโฮล์ม รถม้าลากพระอาทิตย์ คอนเซปต์รถม้ามักปรากฎอยู่ในเทพปกรณัมของประเทศต่างๆ Photo: Wikimedia
ดยูส นั้นคือชื่อเดิมของชาวอินโดยูโรเปียน แต่ในกรีกโบราณการเปลี่ยนไปของภาษาทำให้คำว่า ‘ดเยวส์’ (Dyeus) เป็น ‘เซวส์’ (Zeus) และยังปรากฎอยู่ในเทพปกรณัมอินเดียในชื่อดยาส (Dyaus) 

ดิวอสซุนุ (Diwos Sunu) เทพแฝดที่เป็นม้า  
กลายเป็นพระอัศวิน (Ashvins) เทพแฝดที่มีเศียรเป็นม้าในอินเดีย 

เยโมส (Yemos) เทพแห่งความตาย  
กลายเป็นฮาดีส (Hades) ในกรีก และยม (Yama) ในอินเดีย 

เพอควูนอส (Perkwunos) เทพสงคราม  
เป็นคุณสมบัติของเทพที่ชาวนอร์สนำไปใช้กับ ธูนาร์ (Thunar) หรือธอร์ (Thor) เทพแห่งสายฟ้าและเกษตรกรรม 

เทียร์ (Tyr) เทพสงครามที่เก่าแก่ที่สุดของชาวเจอร์มานิก (Germanic) มาจากคำว่า tīwaz ที่มาจากคำว่า dyeus คำคำนี้ยังกลายเป็นคำว่า deva เป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่า ‘เทพ’ และ ‘deus’ ที่แปลว่า ‘พระเจ้า’ ในภาษากลุ่มโรมานซ์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3tkarGs8ZMCIDSkdbpjFtR/c27669447b11c4af6aef0847d7d1d7a9/god-of-thunders-story-Photo04
Photo: เทพเจ้าธอร์ Photo: Wikimedia
นอกจากนี้ยังมีเทพอีกมากมายจากตำนานเทพปกรณัมในหลายประเทศที่รับแนวคิด คุณสมบัติของเทพจากชาวอินโดยูโรเปียน จากตรงนี้ทำให้รู้ว่าเทพต่างๆ ที่เรารู้จักนั้นมีที่มาจากที่เดียวกัน และถูกพัฒนาแปรเปลี่ยนโดยวัฒนธรรมท้องถิ่น 

ซุส อินทร์ และธอร์ เจ้าแห่งท้องฟ้าที่มีจุดร่วมเดียวกัน 
ในคัมภีร์ฤคเวท หนึ่งในพระเวท (Veda) คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการปรากฎชื่อของเทพดยาส ในฐานะราชาหรือเจ้าของท้องฟ้า ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนกลายเป็นชื่ออินทรา (Indra) หรือพระอินทร์ที่เรารู้จักกัน พระอินทร์นั้นถืออาวุธที่เรียกว่า ‘วัชระ’ (Vajra) ที่สามารถสร้างสายฟ้าฟาดได้ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ชาวอารยัน (ชาวอินโดยูโรเปียนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอินเดียเหนือ) หยิบยืมมาใช้จากเทพเพอควูนอสที่ใช้อาวุธชื่อเมลด์น (meldn) อาวุธที่ทางฝั่งนอร์สได้เปลี่ยนให้กลายเป็นค้อน ‘โยเนียร์’ (mjölnir) เช่นเดียวกันกับสายฟ้า (Thunderbolt) ของเซวส์ หรือซุส
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1aFMhjNhyOFC57hX0OCfOG/db2a0f769c8c31243d99e4f5fb4a9c76/god-of-thunders-story-Photo05
Photo: พระอินทร์ Photo: Wikimedia
พระอินทร์นั้นถูกสร้างให้กลายเป็นเทพสูงสุดของพราหมณ์-ฮินดู ในช่วงแรกของการมาของศาสนาที่เรียกว่ายุคพระเวท ภาพลักษณ์ของพระอินทร์ในยุคก่อนนั้นคือมีร่างกายที่กำยำแข็งแรง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของบรรดาเทพของอินโดยูโรเปียน หลังจากนั้นพระอินทร์ถูกลดหลั่นให้กลายเป็นเทพสามัญ และมีสามองค์ได้แก่ ศิวะ พรหมา และนารายณ์ ขึ้นมาเป็นเทพองค์สำคัญของชาวฮินดูแทน  

ถ้าเราลองเทียบความสำคัญระหว่างซุสกับพระอินทร์ก็ดูเหมือนจะเป็นเทพองค์เดียวกันเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าเทียบกับธอร์เราคงเห็นความคล้ายคลึงกันแค่แนวคิดและคุณสมบัติที่ถูกหยิบยืมมา ซึ่งที่สุดแล้วก็มาจากสิ่งเดียวกันอยู่ดี 

ตัดภาพมาที่ชายในต้นเรื่องที่ได้เจอเพื่อนที่นัดกันไว้เสียที สถานการณ์ที่เล่าไปก็เป็นเรื่องน่าฉงนชวนพิลึกหากได้รู้ว่าเทพเจ้าทั้งสามองค์ที่เป็นสิ่งศรัทธาของมนุษย์ตลอดหลายพันปี ได้กลายเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากเทพแห่งท้องฟ้าที่ยิ่งใหญ่ มีผู้คนแห่กันบูชากันอย่างเลื่อมใส สู่คำโฮ่ร้องของผู้ชมเมื่อ คริส เฮมสเวิร์ท (Chris Hemsworth) โยนค้อนสู้กับ คริสเตียน เบล (Christian Bale) ในบทกอร์ในเรื่อง Thor: Love and Thunder อีกทั้งกลายเป็นเทพในนิทานปรัมปราที่เหล่านักพัฒนาเกมนำมาปู้ยี่ปู้ยำในเกม ‘God of War’ และเป็นเทพอีกหนึ่งองค์ที่มีคนขอพรและบนบานมากที่สุดในบริเวณตึกอัมรินทร์ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์