สนทนาพาทีกับ H 3 F เพราะโปรเซสการทำงานที่สำคัญอาจมาจากประสบการณ์ชีวิต

14 พ.ย. 2566 - 09:11

  • พูดคุยกับวง H 3 F เจ้าของบทเพลงเร้าใจอย่าง Cultivation, Chalawan Funk และ How Can I การทำงานเบื้องหลังของ ‘Chalawan Sound’

h3f-interview-SPACEBAR-Hero.jpg

วัยรุ่นนักศึกษา ถ้าเป็นสายดื่มสายเที่ยว น้อยนักที่ไม่รู้จักวง ‘Happy Three Friends’ ที่ภายหลังขอเปลี่ยนชื่อเป็น ‘H 3 F’ เอกลักษณ์ของวง H 3 F คือการเล่นดนตรีแนวบลูส์ ร็อก และอาร์แอนด์บี กับเสียงกีตาร์ลื่นหูที่ฟังแล้วต้องเม้มปากของ ก้อง-เทพวิพัฒน์ ประชุมชนเจริญ พร้อมกับสมาชิกคนอื่นๆ อย่าง แม็ก–ฐากร อัญภานนท์ (กลอง), ปิง–อารการ จันทร์ทอน (กีตาร์) และ หม่อม–ธนบัตร สมบูรณ์สิทธิ์ (เบส) ที่มีเคมีพลังเพื่อนเข้ากันได้อย่างลงตัว

หลังจากตะลอนเล่นดนตรีตามร้านอาหารยามค่ำคืนเป็นเวลานาน ถึงเวลาที่ต้องเฉิดฉาย วง H 3 F ได้ร่วมมือกันทำเพลงกันเอง และก่อร่างกลายเป็นอัลบั้มในชื่อ ‘Family Product’ โดยมีเพลง ‘How Can I’ และ ‘Just Sayin’’ ที่ทำยอดผู้ฟังมากถึงหลักสิบล้านใน Spotify

ปี 2023 จากการเข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของค่าย New Echoes วง H 3 F ได้เติบโตไปอีกขึ้นจากการเดินทางไปเล่นทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น ซึ่งทางเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์กับวงดนตรีเกี่ยวกับประสบการณ์ในการไปเล่นดนตรีที่ต่างประเทศ สังคมการฟังเพลงของชาวไทย และมุมมองการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้ร่วมงานกับ เบน-เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี

h3f-interview-SPACEBAR-Photo01.jpg

สู่ดินแดนใหม่และการเล่นดนตรี

ในช่วงเวลาที่เราพูดคุยกับวง H 3 F พวกเขาเพิ่งกลับจากการเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศไต้หวันมาหมาดๆ ซึ่งหลังจากนี้พวกเขาเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศสิงคโปร์ต่อ จึงเกิดเป็นประเด็นคำถามน่าสนใจว่าวง H 3 F คิดว่าระหว่างการเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยกับต่างประเทศมีความแตกต่างกันอย่างไร

ก้อง: อันนี้แบบว่าไม่ได้ไม่รักคนไทยนะครับ ตรงๆ คือต้องมอบเลยว่าวัฒนธรรมการฟังเพลงบ้านเขาดีกว่าเราเยอะ แบบทุกคนไม่ได้ทุกคน appreciate สิ่งที่เรานำเสนออะไรงี้ สมมุติว่างานมันเป็นไลฟ์เฮ้าส์ทุกคนซื้อบัตรมาดูเนี่ย มันคือแบบตั้งใจมาดูอ่ะไม่ได้มาเพื่อเมา ก้องว่าวัฒนธรรมการฟังเพลงเขาไม่ได้ถูกตีคู่มาด้วยการขายเหล้า มันทำให้แมนเนอร์ในคอนเสิร์ตมันต่างกันมาก แล้วเรารู้สึกว่ามันชื่นใจสุดๆเลย

h3f-interview-SPACEBAR-Photo02.jpg

ที่มัตสึโมโตะคืออากาศดีมาก เราเล่นเที่ยงครึ่งเนี่ย ถ้าเป็นในไทย แน่นอน  เที่ยงครึ่งคือร้อน ไม่มีใครดูหรอก แต่เที่ยงครึ่งบ้านเขาคือทุกคนแน่นมาก เกินครึ่งผมว่าไม่มีคนรู้จักพวกเราหรอก แต่พวกเขาพยายามฟังแล้วพอจบโชว์ทุกคนคือแฮปปี้อ่ะ เราก็แบบ โห มันไม่ได้รับพลังงานแบบนั้นมานานแล้ว”

ปิง: คนได้ปลดปล่อยแบบว่าไม่ได้ฟังอย่างเดียวก็แบบกระโดดตบมือหรืออะไรอย่างงี้ครับแต่ว่าเอ็นจอยไปกับเรามากๆ พูดถึงตอนที่เล่นที่ชิบูย่าแล้วกัน เล่นกับวง Yonawo เขาก็ต้อนรับเราเป็นอย่างดี เขาเป็นวงมีชื่อเสียงที่นั่นแต่ใจดีกับเรามาก แล้วแฟนคลับที่มาดูเขาก็มาอยู่รอดูเรา มันเหมือนว่าเขาเปิดใจรับฟังเราเหมือนกัน ซึ่งเป็นการให้การต้อนรับที่ดีมาก คนญี่ปุ่นอาจจะดูขี้อาย แต่เวลาเขาสนุก เขาสนุกเลย 

คิดว่าทำไมคนไทยถึงไม่กระตือรือร้นเท่าคนญี่ปุ่นหรือไต้หวัน 

ก้อง: ผมว่ามันกระตือรือร้นนะ แต่แค่มันอยู่ที่บริบทด้วยแหละ มันมีครั้งไหนบ้างที่ร้านเหล้าในไทยจัดคอนเสิร์ตแล้วเขาไม่เอาโต๊ะออกเลย แต่ต่างประเทศเวลามีคอนเสิร์ต เขาเอาโต๊ะออกเลย บ้านเรามันเข้าใจได้ ค่าจ้างนักดนตรีเอย เงินที่เข้าร้านเอย จนต้องพึ่งสปอนเซอร์พึ่งเหล้าพึ่งเบียร์ ซึ่งมันผิดไหมมันไม่ผิดหรอกแต่แบบมันก็ไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ ถ้าเรามองต่างประเทศเป็นตัวอย่าง เหมือนมูลค่ามันอยู่ที่ดนตรีมากกว่าแบรนด์ดิ้งของสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ถามว่าเราบอยคอตทั้งหมดเลยไหมก็ไม่สุดท้ายแล้วมันก็ยังต้องอยู่รวมกันอยู่ดีแต่แบบเราก็อยากให้มันมีตรงกลางนะ ว่าแบบว่าทำเพื่ออะไรงี้ มันคงจะดีกว่าในทั้งแบบวงเล็กและวงกว้าง

h3f-interview-SPACEBAR-Photo03.jpg

ปิง: พูดยากมากอันนี้ มันแล้วแต่คนชอบเลย ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้มันก็ดีขึ้นเยอะแล้วนะ จะเรียกว่าเขาไม่เปิดใจก็ไม่ได้ เพราะว่าเราก็คือว่าเป็นวงนอกกระแสแล้วก็มีหลายวงที่เป็นวงนอกกระแสที่เข้ามาอยู่ได้เพราะว่าแฟนเพลงตรงนี้เหมือนกันที่เขาเปิดรับมากขึ้น อันนี้เราต้องกล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าเนี่ยตอนนี้คนมันมีสิทธิ์ที่จะเลือกฟังแล้ว

ก้อง: มันดีขึ้นหมายถึงเทียบจากแต่ก่อน หมายถึงนิสัยการฟังเพลง แบบการกระทำบางอย่างและการนิสัยบางอย่างมารยาทบางอย่างในการในการชมคอนเสิร์ตอย่างเช่นที่เราเห็นดราม่ากันบ่อยๆ เอาเหล้าไปสาดเข้าเงินไปปาใส่คนศิลปินอะไรอย่างเงี้ย ซึ่งถามว่ามันเปลี่ยนมันเปลี่ยนแน่ แล้วก็ไม่ได้อยากให้วงอินดี้ที่เพิ่งเริ่มมองว่าตอนนี้มันแย่กว่าแต่ก่อน คือมันดีเว้ยที่แบบว่าวงอย่างเรายังแบบทำเป็นอาชีพได้เลย วงเล็กกว่าเราที่อยู่ต่างจังหวัดเขาก็ทำเป็นอาชีพได้เลย แสดงว่ามันมีทาร์เก็ตของมัน 

เฟสแรกของการไปต่างประเทศ เรื่องทุนกับการไปต่างประเทศเป็นยังไง

ก้อง: อันนี้ต้องเล่าย้อนก่อนเรามาร่วมงานกับ New Echoes เนอะ ก็น่าจะช่วงประมาณเพิ่งทำอัลบั้มสอง คือความจริงเราได้โอกาสไปตั้งแต่ตอนทำอัลบั้มแรกแล้ว แต่ว่าปล่อยอัลบั้มแรกก็โควิดเลย โควิดเสร็จปุ๊บก็ยังไม่ได้ไป ตอนทำอัลบั้มสอง New Echoes ก็ติดต่อมาแล้วตอนนั้น ว่าร่วมงานกันไหม แต่ตอนนั้นเหมือนเราทำอัลบั้มสองไปครึ่งตัวแล้วเราก็แบบขอจบให้มันเป็นชิ้นเป็นอันไปก่อนเลยพอจบอัลบั้มสอง เข้าท้ายปีพอดีตอนนั้น โชคดีที่โปรโมตเตอร์ที่เคยทักมาเขามาไทยบ่อย เราเลยทักไปว่าอยากไป จำได้ไหมที่ก่อนโควิดเคยทักมาดีล เขาบอกได้ดิ เราก็เลยแพลนกันเอง manage เงินกองกลางของวงมาเจียดเพื่อทำให้ทัวร์มันเกิดขึ้นได้

h3f-interview-SPACEBAR-Photo04.jpg

เราทำยังไงก็ได้ให้ประหยัดที่สุด ก็คืองกที่สุด เหมือนเราวางแผนจะไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน แล้วนัดกันยากมาก ฟีลแบบอยากไปกินเหล้าทั้งแก๊ง แต่ขอถูกๆ ได้ป่ะ เพราะฉะนั้นมายเซ็ตที่ใช้กับการไปทัวร์ก็คือแบบนี้แหละ แต่พอมาร่วมงานกับค่ายปุ๊บมันก็อีกเรื่องเลย เพราะว่าเราไม่ต้องดูแลเรื่องนี้แล้ว มีหน้าที่ซ้อมดนตรีอย่างเดียว

แม็ก:  ยังไงก็ต้องลงทุนอยู่แล้ว

ก้อง: ไปรอบแรกไม่ได้กำไรแต่ไม่ขาดทุน เราคุยกับคนอื่นที่เคยไปมา เขาบอกอย่างนี้คือสำเร็จนะ เราไม่เจ็บตัว ไปรอบแรกไปแค่ไลฟ์เฮ้าส์ แล้วบัตรมันขายหมด เฮ้ย เมิร์ชมันขายได้นะ เรา cover ทีมได้ ทีมคือแบ็คอัพ ค่าเดินทางที่พักได้เฉลี่ยออกมาแล้วไม่มีใครเข้าเนื้อ เหลือตังกันนิดหน่อย อันนี้คือแฮปปี้แล้ว เพราะว่าการไปต่างประเทศครั้งนึง มันมีค่าใช้จ่ายมันเยอะมากอ่ะ ทั้งค่าเงินที่ไม่เท่ากัน ทั้งค่าเดินทางที่มันไม่เหมือนไทยไม่มีอะไรเหมือนเลย ก็แล้วแต่ประเทศดีกว่าไปไหน แต่ว่าโชคดีประเทศแรกออกไปไต้หวัน มันก็เฟรนลี่หน่อย เดินทางง่ายหน่อย

h3f-interview-SPACEBAR-Photo05.jpg

จริงไหมที่เขาบอกว่าไปเล่นต่างประเทศแล้วดังขึ้น 

ก้อง: มันดังขึ้นปะวะ (หัวเราะ) ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราว่าอย่างที่เห็นได้คือแบบอย่างคนญี่ปุ่นตอนก่อนเราไปเอาเราไม่รู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาเล่นโซเชียลทางไหนเนอะ เราจะหนักเห็นทางทวิตเตอร์แล้วก็ตามดู เขาก็ไม่ได้พูดถึงเราเยอะ แต่วันที่ไปเล่นที่ญี่ปุ่นที่เล่นติดกัน 4 วัน คือในทวิตเตอร์มันแบบแอคทีฟเรื่องวงมาก รู้สึกว่ามันเป็นฟีดแบ็กที่ควรได้ เพราะว่ามันเหมือนไปเซย์ฮายให้เขาดู ตอนแรกที่ไปญี่ปุ่นเราคิดแล้วแบบ ประเทศนี้ยากแน่ๆ ขนาดวงในประเทศเขายังยากเลย นึกออกปะ มันก็เกินคาดนะ เราก็ชื่นใจ

ย้อนกลับไปตอนแรกจนถึงตอนนี้มันยังมีสิ่งที่เป็น Happy Three Friends หลงเหลืออยู่ไหม 

ก้อง: มีนะ เพราะว่าเราเริ่มเล่นดนตรีกันมาอย่างนั้นอ่ะะ ก้องเชื่อว่าในความไม่ค่อยล่กในหลายๆ สถานการณ์ของเราอย่างเช่นหน้างานแล้วระหว่างเล่นเจอปัญหานี้ เล่นอยู่สายขาดอะไรเงี้ย คือถ้าเราไม่เคยเล่น Happy Three Friends ไม่เคยเล่นร้านกันมาก่อนเลย เรื่องแบบนั้นมาคงน่ากลัวมากสำหรับเราจริงๆ นะ ยิ่งเวลาเราไปต่างประเทศหรือไปเจองานไหนที่มันแบบเวลาเซ็ตอัพมีให้ 15 นาทีอ่ะ มันคือแบบมันเข้าโหมด survival เลย ซึ่งโหมด survival นั้นแม่งได้มาจากการที่เราแบบทำวงคัฟเวอร์เล่นร้านนี่แหละบอกตรงๆ เลย มันเหมือนมันยังทำให้เราเป็นวงดนตรีที่อยากเล่นสดอยู่ ต้องพูดงี้ดีกว่า

h3f-interview-SPACEBAR-Photo06.jpg

คิดว่าในฐานะในวงอินดี้ที่ไปเล่นต่างประเทศ มีอะไรที่อยากบอกรัฐบาลไหม

ก้อง: ผมว่าไม่ต้องยกตัวอย่างเป็นเราก็ได้ อาจจะนึกภาพไม่ออก เพราะว่าถ้าเขาบอกว่าซอพต์พาวเวอร์ ด้วยสไตล์เพลงเราอะไรเงี้ย สิ่งเดียวที่เราเหลือความเป็นไทยอยู่คือสัญชาติแค่นั้นแหละ (หัวเราะ) เพลงก็ทำเพลงอังกฤษ ยกตัวอย่างงี้ดีกว่า เอาพี่ๆ พาราไดซ์บางกอกหมอลำ ละกัน คือก้องว่าเขาเป็นคนที่นำเสนอคัลเจอร์ไทยอย่างสูงเลยแหละ แต่ว่าแทบจะทุกครั้งเลยที่ไปแล้ววงต้องไปเหนื่อยกันเอง

แต่ลองคิดภาพกลับกันนะ โปรโมเตอร์ไต้หวันที่เราเจอ เคยพาวงไต้หวันไปเม็กซิโก แล้ววงนั้นก็ไม่ได้มีชื่อเสียงขนาดนั้นด้วย ถามว่าไปได้ไง เขาบอกเขาทำ proposal แล้วคุยกับรัฐบาลฝั่งเขา ซึ่งเขาซัพพอร์ตศิลปิน เพราะว่าคุณไปออกไปในนามไต้หวัน ดูบ้านเราก่อนกระทรวงวัฒนธรรม งบกระทรวงวัฒนธรรมไปอยู่ตรงไหนบ้าง ลองไปหาดูก็ตลกดีอ่ะ ไม่ได้บอกว่าต้องเทคเครดิตนะ แค่ซัพพอร์ตให้มันให้มันเป็นเสาหลักขึ้นมาได้หนึ่งอันให้คนเดินตามได้เยอะๆ ป่านนี้มันคงทำเงินได้มหาศาล อันนี้พูดในเรื่องเลยนะ เพราะว่ามันทำเงินได้มหาศาล ทั้งนำเข้าและส่งออก เนี่ยมันเป็นประตูบานใหญ่

บอกตรงๆเลยแบบเด็กไทยคนไทยไม่ใช่ไม่เก่ง โคตรเก่งอ่ะ มันมีวงที่เรารู้จักหลายวงเด็กต่างจังหวัดแบบ บางคนแบบเล่นดนตรีเป็นอาชีพรอง แต่มีแพสชันอยากทำให้เป็นอาชีพหลักเขายังต้องสู้เลย ซึ่งเราอยากให้เห็นค่าตรงนี้นะ เพราะบุคลากรประเทศไทยแม่งโหดมาก ไม่ใช่แค่ในดนตรีด้วย

h3f-interview-SPACEBAR-Photo07.jpg

มุมมองการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้พบ ‘เบน-วาร์นี’

วง H 3 F พร่ำบอกอยู่เสมอว่าทุกวันนี้อาจต้องยกเครดิตให้กับ เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี อดีตผู้เข้าแข่งขันเวทีทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซัน 7 ปัจจุบันเบนจามินเป็นนักแสดง และมีความชื่นชอบในดนตรีเป็นพิเศษถึงขั้นทำดนตรีออกมาแล้วในซิงเกิล ‘Thai Tea’ ในสังกัดค่าย Rats Records ปัจจัยสำคัญคือวง H 3 F ได้รู้จักกับการคิดให้น้อยลง สนุกให้มากขึ้น ผ่อนปรนความตึงเครียดให้น้อยลงจากการทำอัลบั้มครั้งก่อนๆ แต่ยังคงคุณภาพอย่างเต็มเปี่ยม 

ไปร่วมงานกับพี่เบนได้ยังไง

ก้อง: เหมือนตอนนั้นเราไปเล่นดนตรี แล้วผมลงวิดีโอไว้ในไอจี เขาก็แบบส่งวิดีโอมาบอก ‘แจมป่าว อยากได้ฟีลนี้ ผมอยากร้องเพลงกับพวกนาย’ โทรบอกเพื่อน เอาเลย ไม่มีใครคิดอะไรเลย อัลบั้มสองมันมีหลายอย่างที่เราไม่ชอบในเวิร์กโฟลว์ ไม่ใช่ไม่ชอบอัลบั้ม ไม่ชอบขั้นตอนการทำงานตอนนั้นมากกว่า มันเครียดไปนิดนึง แล้วพอมาพี่เบนชวนทำปุ๊บแล้วแบบเออดีเหมือนกันอยากอยากแฮฟฟัน อยากปล่อยจอย ก็เริ่มจากแค่นั้นเลยแล้วก็นั่นแหละได้ Cultivation มาเลยแล้วกลายเป็นว่าผมบอกทุกสื่อเลยนะว่าต้องให้เครดิตพี่เบนเลยว่าถ้าไม่ได้ทำ Cultivation กับเขา Chalawan Sound คงไม่ออกมาประมาณนี้

h3f-interview-SPACEBAR-Photo08.jpg
Photo: เบนจามิน วาร์นี

ความแตกต่างระหว่างการทำอัลบั้มนี้กับอัลบั้มก่อน

ปิง: การทำงานปกติของเราคือการแจมกันใช่มั้ย อัลบั้มสามจะแจมเยอะกันหน่อย อัลบั้มสอง ก้องจะเป็นคนขึ้นโครงมาเยอะมาก แล้วการทำงานมันต่างจากอัลบั้มสามโดยสิ้นเชิงเลยนะ เพราะอัลบั้มสองคือที่สุดของความคิดเยอะเเล้วอ่ะ คือทุกคนแม่งคิดแบบพยายามทำให้มันออกมาดี แต่อัลบั้มสาม เราคิดน้อยลงแล้วก็สนุกให้มากขึ้น

อย่างที่ก้องบอก พี่เบนได้เข้ามาปลดล็อกเรา มาวันแรกก็คือเหมือนสนิทกันแล้ว แบบน่ารักมาเลย พอได้ทำงานกับเขาแล้ว รู้สึกว่าการทำงานอย่างแบบนี้มันเวิร์กนะ มันรู้สึกว่ามันจะเหมาะกับเรามากกว่า เพราะตอนที่เราไม่ได้ทำอัลบั้ม ไม่ได้ทำเพลงกัน มันจะมีช่วงเวลาที่เราแจมกันเล่นๆ แล้วมันสนุกเฮฮากันไปเรื่อย ก็แค่คิดว่า อยากทำอัลบั้มนี้ให้มันมากขึ้น สนุกให้มากขึ้น เลยได้ออกมาเป็นอัลบั้มสาม ถามว่าได้อะไร ผมว่ามันคิดน้อยแล้วทำให้เรากล้าเล่นมากขึ้น บางทีเราคิดเยอะไปมันแบบมักไม่ได้สิ่งที่เราต้องการเสมอไป

h3f-interview-SPACEBAR-Photo09.jpg

ก้อง: อัลบั้มแรกตอนอัดก็อัดกันไม่มีเดโมเลย คือเราเห็นข้อเสียแล้วตอนทำงานตอนนั้นว่าต้องปรับอะไร พออัลบั้มสองปุ๊บมันกลายเป็นว่าเราแอบกดดันตัวเอง แบบเราจะอยู่เฉยไม่ได้ เราต้องทำเพลงเว้ย แค่แบบนึกย้อนไปก็แบบรู้สึกดีนะที่ได้ทำอ่ะ แต่แค่นึกย้อนไปแม่งก็ไม่ใช่มายเซ็ตที่ดีกับการเริ่มงานแล้ว

หม่อม: มันมีเวลาว่างให้คิดเยอะเกิน

ก้อง: ก็เลยแบบเอาก็เอาวะ แบบช่างแม่งแล้ว พอทำกับพี่เบนแล้วคิดว่าเราทำแบบนี้ก็ได้นี่หว่า มันสะใจด้วยนะ กลายเป็นว่าคิดน้อยจนรู้สึกว่าชุ่ย แต่ว่ามันก็ไม่ชุ่ยหรอก เราตั้งใจทำเต็มที่ แต่ว่าให้เทียบความรู้สึกแล้วผมว่ามันต่างกันมากทั้งซาวด์ทั้งโทนความ consistent ในเสียงแบบตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้ายเนี่ย เราว่าในเรื่อง recording เราว่าเราทำหน้าที่กันได้ดีกว่า ปล่อยใจมากขึ้นนะ กลายเป็นว่าดันชอบโปรเจกต์การทำงานแบบนี้มากกว่าอีก เพราะมันรู้สึกเหมาะกับสไตล์เรา มันไม่ต้องฟิลเตอร์อะไรเยอะเลย

แม็ก: จริงๆไม่ได้เกลียดอัลบั้มไหนนะ แค่แบบว่ามันเป็นช่วงเวลาและต้องขอบคุณอัลบั้มหนึ่งที่มาให้เป็นอัลบั้มสอง เราก็ต้องขอบคุณอัลบั้มสองที่มาให้เป็นอัลบั้มนี้ เพราะถ้าสมมติว่าอัลบั้มสองมันทำงานลื่น เราก็อาจจะทำอัลบั้มสามอีกแบบ

h3f-interview-SPACEBAR-Photo10.jpg

ทางวงก็ยังติดกับแนวเดิม หรือเพลงกระแสมอบอิทธิพลให้กับเราด้วย

ก้อง: ต้องบอกแต่แรกเลยเราแบบไม่ใช่คนฟังเพลงลึก เราก็เด็กไทยทั่วไป โตมาฟังอะไรเพื่อนๆ บิ๊กแอส บอดี้สแลม เสก โลโซ เราโตมากับค่ายเบเกอรี่ เราโตมากับเพลงป๊อปอยู่แล้ว ต่อให้เรารสนิยมเปลี่ยนไป แล้วชอบดนตรีแนวนั้นๆ มากขึ้น เราอยากเอามันมาเป็นสีในการวาดของเรามากกว่า

หม่อม: ไม่แน่สักวันหนึ่ง อาจจะไปเล่นเร็กเก้ก็ได้

ก้อง: อยากเล่นอยู่นะ ไม่ได้ปั่นด้วย เอาจริงนะ 

คิดว่าบทเรียนสำคัญจากที่ทำวงมาคืออะไร 

ปิง: บทเรียนสำคัญหรอ เอาจริงๆ การเป็นวงแล้วมันก็ต้องอยู่ด้วยกัน 4 คนจากผมว่าการคุยกันเข้าใจกันอ่ะอันนี้คือเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้กันมาเยอะมากช่วงแรกก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ แต่ว่าพอช่วงอัลบั้มสามเนี่ยทุกคนแม่งแทบจะไม่คุยกันเรื่องอะไรเลย แบบว่าไม่คุยกันเรื่องเพลง ไม่คุยกันเรื่องอะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่าแต่ละคนชอบยังไง แล้วโปรเซสการทำงานของแต่ละคนเป็นยังไง

แม็ก: ก็เรื่องเรื่องเวลา แบบก้องเนี่ยมันก็เป็นคนที่ทำให้ทุกอย่างแอคทีฟ คือมีหลายวงมากที่ทำวงมานานแล้วแต่ว่าไม่ได้มีโอกาสทำเพลงหลายอัลบั้ม การมีเดดไลน์มันเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันครับ ถ้าพูดถึงเวลา เมื่อไหร่ที่มีช่วงเวลาที่เรากำลังอินกับมัน เราก็อยากใช้เวลาตรงนี้ทำมันออกมาให้ได้เยอะๆ เป็นการเก็บชั่วโมงบินให้วง มันเป็นบทเรียนที่ดี เพราะว่าเวลามันเอากลับมาไม่ได้ ยิ่งเราแบบแก่ขึ้นแบบเวลาเปลี่ยนไปในแต่ละวันแต่ละเดือน แต่ละปี คือความคิดเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 ปิง: แล้วก็แบบยิ่งเป็นก่อนหน้านั้นเราไม่มีค่ายไม่มีอะไรผมว่าไทม์ไลน์เป็นเรื่องสำคัญเพราะเราต้องวางแผนกันเอง ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีไทม์ไลน์ ผมว่าน่าจะไม่ได้เป็นแบบทุกวันเนี้ย อาจจะมีแค่แบบอัลบั้มหนึ่ง อัลบั้มสอง แล้วหายไปเลย

หม่อม: ของผมน่าจะช่วงแรกๆ กับการเล่นวงอะไรแบบคอนเสิร์ตแรกอย่างเงี้ยมันจะมีความกดดันตัวเองตื่นเต้นอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว เหมือนที่แม็กบอก มันก็แบบต้องเก็บชั่วโมงบินไปเรื่อยๆ พอเราตื่นเต้นเราก็อาจจะเล่นไม่สนุกก็ได้ แต่ทุกวันนี้แบบผมจอยมาก ผมเล่น ผม็ไม่ได้คิดมากอะไรขนาดนั้น มันแบบสนุกกว่าเดิมอ่ะ ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ

ก้อง: ผมเห็นด้วยกับเพื่อนๆ รู้สึกว่าบทเรียนที่สำคัญมากสำหรับเราในการทำแบบนี้คือให้เชื่อมั่นในกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ อย่างที่แม็กบอก ถ้าตอนนั้นเราไม่ทำแบบนั้น ก็คงไม่เป็นแบบนี้ หลายๆ เพลงในอัลบั้มแรกบางเพลงที่ผมแต่ง ตอนนั้นเป็นเพลงที่เราชอบที่สุดเลย อาจจะเพราะเป็นเพลงที่เราตั้งใจแต่งมากๆ แต่พอเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าเราเฉยๆ แต่เราก็ต้อง trust the process ต้องให้มันเป็นไปอ่ะ อย่าไปคาดหวังเยอะ เราว่าเราควรอยู่กับปัจจุบันให้เยอะๆ มันไม่ใช่การต่อยมวยที่ต่อยผิดโดนต่อยหน้า แต่มันคือแป้กก็แป้กอ่ะ เป็นเรื่องใจล้วนๆ เลย ถ้ายังรักในการเล่นดนตรี รักที่จะทำวงกับเพื่อน รักในสิ่งเดียวกัน ทำไปเถอะ

ตอนนี้ในใจมีโปรเจกต์อะไรหรือยัง

ก้อง: ตอนนี้อยากทำอีพีอะคูสติกสักอัน เพราะว่าแบบเด็กๆชอบ แจ็ค จอห์นสัน แต่คงทำในแบบเรานี่แหละ อยากทำสัก 4-5 เพลง แต่ก่อนชอบโซล โมทาวน์มาก ไม่กล้าร้อง หลังๆ เริ่มโอเค น่าจะพอได้มั้ง เดี๋ยวค่อยพัฒนากันต่อไป

หม่อม: ทำเร็กเก้เนี่ย เพราะเพลงมันเข้าถึงง่าย คนไม่รู้จักมาก็จอย

ก้อง: พอเราไปดูเรกเก้ที่ไหนเราก็จอยเว้ย ฟังก็จอย

แม็ก: อยากทำเพลงสนุกให้แบบคนเต้นได้ในแบบของเรา

ปิง: ผมได้เรื่อยๆ จริงๆ หลายๆ อย่างก็เหนือความคาดหมายเหมือนกันเวลามันเกิดขึ้นในห้องซ้อม อย่างเพลง Half Measures อยู่ดีๆมันก็เป็นจังหวะนั้นได้ ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ของวงนี้ด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น วันดีคืนดีอาจจะเล่นเร็กเก้ก็ได้

เป้าหมายตอนนี้คืออะไร

ก้อง: ถ้าเป็นเป้าหมายเนี่ยเราอยากทำสิ่งที่เราทำอยู่เป็นอาชีพได้จนเราแก่ และรวยขึ้นก็ดีนะ เป็นแบบ ultimate goal เลย ความฝันวัยเด็กคืออยากไปทั่วโลกเลย ณ วันนี้เราจะเก็บเอเชียเกือบหมดแล้ว เดี๋ยวเราคงพัฒนาตัวเอง ทำงานให้มันดีขึ้น ให้มันสมควรได้ไปเล่นในประเทศที่เราอยากไป

ยุโรป อเมริกา เป็นที่ที่ inspiration เรามาจากที่นั่นทั้งนั้น เราเลยอยากไปอยู่ตรงนั้น อยากรู้มันเป็นยังไง จริงๆ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราแฮปปี้นะ เคยบอกแต่แรกแล้วว่าแค่ทำเพลงกับเพื่อนแล้วคนชอบ นี่คือแบบกำไรชีวิตมากเลยนะ 

เล็กเวทีไหนไว้ 

ก้อง: ไม่ต้องงานใหญ่มากก็ได้ อยากทุกอันเลย New Orleans Jazz Festival, Crossroads Guitar Festival, Glastonbury Festival, Fuji Rock Festival, Coachella เอาง่ายๆ นะ ทุกอันที่พวกไอดอลเราได้ไป เราอยากไป นี่เราวันนาบีมากเลยนะเนี่ย  

ปิง: แบบว่าเห็นไลน์อัพ Fuji Rock แบบมี H 3 F มันก็แบบสะใจเว้ย  

ก้อง: บางทีไม่ใช่แค่แบบเพราะว่าชื่อเสียงด้วยนะ เราไม่ได้คิดว่ามันดังมันจะดีหรอก แต่ว่าแบบที่เราอยากได้มากกว่าชื่อเสียงและเงินทองคือประสบการณ์ชีวิต สมมติว่าเราได้ไปแล้วเราได้รู้ว่าพวก inspiration เขาทำงานกันแบบนี้ ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ได้วะ เรามีคำถามตรงนั้นมากกว่า ว่าทำไมคนๆ นึง ที่มันก็แบบก็คนเหมือนกัน ทำไมเขาถึงแบบมีมายเซ็ตที่ทำให้เขามั่นใจในบางอย่าง ซึ่งเราอยากเข้าใจบ้าง 

แม็ก: ก็เหมือนกับที่เราทำกับพี่เบนแล้วได้แนวคิดบางอย่างมา มันทำให้เรารู้สึกว่า เอ้ย เราคิดมุมนี้มันก็ไม่ผิดนี่หว่า

h3f-interview-SPACEBAR-Photo11.jpg

สามารถฟังอัลบั้ม ‘Chalawan Sound’ จากวง H 3 F ได้แล้ววันนี้บนทุกสตรีมมิง  

ขอขอบคุณสถานที่ New Echoes และค่าย New Echoes สำหรับบทสัมภาษณ์แสนสนุก ที่เราเชื่อว่าอาจมอบแรงบันดาลใจให้กับคนทุกรุ่นไม่มากก็น้อย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์