Trick or Treat! เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคนี้จากหนังตะวันตกหลายเรื่อง แปลตรงตัวว่า ‘หลอก หรือ เลี้ยง’ หากบ้านไหนถูกทักด้วยประโยคนี้ จะต้องให้ขนมเพื่อเลี้ยงรับรอง ถ้าหากไม่ให้จะเกิดปัญหาตามมา นี่เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีฮาโลวีนในฝรั่งตะวันตกที่มีการจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี โดยเชื่อว่าเป็นวันปล่อยผี ซึ่งมีรากเหง้าประเพณีที่ผสมผสานกันระหว่างศาสนาคริสต์กับความเชื่อโบราณของชาวเผ่าเคลต์
มีหลักฐานว่าความเชื่อเกี่ยวกับวันฮาโลวีนสามารถสืบย้อนได้ไกลถึง 2,000 ปีก่อน บริเวณประเทศไอร์แลนด์ในปัจจุบัน โดยเป็นประเพณีของความเชื่อของชาวเคลต์ (Celts) ที่มีชื่อว่าเทศกาลซออิน (Samhain) ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ในทุกๆ วันที่ 1 พฤศจิกายน
วันที่ 1 พฤศจิกายน นับว่าเป็นจุดสิ้นสุดของฤดูการเก็บเกี่ยวที่แสดงถึงความสดใส และเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูหนาวที่แสดงถึงความมืดหม่นและเหน็บหนาว เทศกาลจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนตาย ชาวเคลต์เชื่อว่าคืนก่อนขึ้นปีใหม่ พรมแดนระหว่างโลกคนเป็นและโลกคนตายจะเชื่อมถึงกัน คืนวันที่ 31 ตุลาคม ชาวเคลต์จึงฉลองเทศกาลซออิน โดยเชื่อว่าเป็นวันที่ภูตผีวิญญาณของคนตายกลับมาเยี่ยมเยียนบนโลก

เพื่อป้องกันภัยร้ายจากภูติผี ดรูอิด (druids) หรือพ่อมดแม่มดชาวเคลต์ จึงต้องทำพิธีเผากองไฟศักดิ์สิทธิ์ และนำพวกพืชผัก และสัตว์ ลงไปเผาถวายเทพชาวเคลต์ ระหว่างเทศกาล ผู้ร่วมงานจะสวมเครื่องแต่งกายที่ประกอบด้วยหัวสัตว์ และหนังสัตว์ และมีการทำนายอนาคตให้กันและกัน ในวันรุ่งขึ้นจะมีการจุดไฟจากกองไฟศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งเพื่อปกป้องพวกเขาจากภัยในหน้าหนาว
พอถึงปี ค.ศ. 43 ชาวโรมันสามารถพิชิตเมืองของชาวเคลต์และปกครองเมืองแถบนั้นยาวนานถึง 400 ปี ซึ่งช่วงนี้เองเป็นช่วงที่ธรรมเนียมประเพณีของชาวเคลต์ถูกรวมเข้ากับการเฉลิมฉลองของชาวโรมัน
วันแรกมีชื่อว่าวันเฟราเลีย (Feralia) จัดขึ้นประมาณปลายเดือนตุลาคม ชาวโรมันจะเฉลิมฉลองการจากไปของผู้ตาย วันที่สองคือวันถวายโพโมนา (Pomona) เทพีแห่งผลไม้และพืชพรรณของชาวโรมัน โดยสัญลักษณ์ของเทพีโพโมนาคือผลแอปเปิล ว่ากันว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำไมเทศกาลฮาโลวีนถึงมีการการละเล่นคาบแอปเปิลในถังน้ำ (bobbing for apples)

ปี ค.ศ. 609 อาณาจักรโรมันเข้าสู่การรับถือศาสนาคริสต์อย่างเต็มตัว โป๊ปเกรกอรีที่ 3 (Pope Gregory III) ทำการเปลี่ยนวันสรรเสริญนักบุญจากวันที่ 13 พฤษภาคม ไปวันที่ 1 พฤศจิกายน แทน และมีการตั้งวัน All Souls’ Day ขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน เมื่อปี ค.ศ. 900 ซึ่งเป็นวันสรรเสริญคนตาย ว่ากันว่าการตั้งวันนี้มีเป้าหมายหวังให้แทนเทศกาลคนตายของชาวเคลต์ที่มีอิทธิพลในแถบพื้นที่ของชาวเคลต์เดิม
เช่นเดียวกันกับวันซออิน วัน All Souls’ Day มีทั้งการจุดกองไฟศักดิ์สิทธิ์ และมีการแต่งตัวเป็นนักบุญ เทวดา และปีศาจ วัน All Saints’ Day ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ในภาษาอังกฤษยุคกลาง (Middle English) อ่านว่า อัล-ฮัลลอวมาส (All-hallowmas) หลังจากนั้นจึงเรียกกันว่าวันอัลอัลลอวส์อีฟ จนกลายเป็นวันฮาโลวีนในที่สุด

การแต่งการในวันฮาโลวีนเริ่มกันจริงๆ ในทวีปอเมริกาในช่วงที่ชาวยุโรปย้ายไปอาศัยกันใหม่ๆ โดยบริเวณที่มีการจัดงานมักจัดกันในรัฐมารีแลนด์ และตามเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ด้วยการที่ชาวยุโรปมาจากต่างพื้นที่กัน มีธรรมเนียม ความเชื่อต่างกัน พวกเขาจึงพากันแต่งกายกันตามพื้นที่ถิ่นตัวเองในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นในวันฮาโลวีนเพื่อเฉลิมฉลองวันเก็บเกี่ยว และพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ที่ตายจากไป

คนยากจนจะเดินตามไปบ้านคนมีฐานะเพื่อขอของกินโดยจะตอบแทนด้วยการสวดมนต์ให้ญาติของเจ้าบ้าน จึงเป็นที่มาของธรรมเนียม Trick or Treat บ้างก็เล่าว่าในไอร์แลนด์และสกอตแลนด์ ชายหนุ่มหญิงสาวจะแต่งกายเพื่อทำการแสดงต่างๆ (tricks) ก่อนจะรับของตอบแทนจากการแสดงนั้นด้วยของกิน หรือเงิน
สำหรับประเทศไทยเราเองมีความเชื่อว่าวันปล่อยผีคือ ประเพณีสารทเดือนสิบ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติไทยของทุกปี ฝั่งภาคเหนือเรียกว่า ‘ประเพณี 12 เป็ง’ ในภาคกลางเรียกว่า ‘วันตรุษสารท’ ในฝั่งภาคใต้เรียกว่า ‘ประเพณีชิงเปรต’ และ ในภาคอีสานเรียกว่า ‘ประเพณีบุญข้าวประดับดิน’ มีความเชื่อว่าพระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณ และผู้ตายกลับมาสู่โลกมนุษย์เพื่อขอรับเอาส่วนบุญกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลาน
ถ้าเป็นวันฮาโลวีนของตะวันตก ประเทศไทยได้รับอิทธิพลประเพณีฮาโลวีนมาจากสหรัฐอเมริกา และจากอิทธิพลของสื่อมากมายรวมถึงภาพยนตร์ ใครจะรู้ว่าจากประเพณีเก่าแก่ของชาวเคลต์โบราณจะส่งทอดมาไกลถึงประเทศไทยในทุกวันนี้