ทั้งญี่ปุ่น และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ต่างก็มีการออกแบบบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแบบของตัวเอง อย่างญี่ปุ่นนั้นมีการรับอิทธิพลทางความคิด และปรัชญา จากศาสนาพุทธ นิกายเซน ที่ถูกเรียกว่า ‘วาบิ-ซาบิ’ (Wabi-Sabi) เป็นการออกแบบที่ว่าด้วยการคงไว้ซึ่งความสวยงามของธรรมชาติจากการแปรเปลี่ยนของเวลา รวมถึงความเรียบง่ายที่ยังมอบฟังก์ชันที่หลากหลาย
ทางด้านสแกนดิเนเวียก็มีการออกแบบภายใต้กรอบแนวคิดของ ‘ฮุกกะ’ (Hygge) ที่ถูกนิยามโดย Oxford ว่าเป็น ‘คุณภาพของความน่าสบายและความสุขสบายที่มักมาพร้อมกับความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจหรือความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมักเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของเดนมาร์ก

จะเป็นอย่างไรหากการออกแบบจากทั้งสองดินแดนมาประจบกัน?
ชวนรู้จักกับการออกแบบบ้านสไตล์ ‘Japandi’ ที่เกิดจากสองคำง่ายๆ ระหว่างคำว่า ‘Japan’ และ ‘Scandi’ การออกแบบว่าด้วยการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นความเรียบง่าย ความอบอุ่นสบาย อย่างลงตัว
จริงๆ คำว่า ‘Japandi’ กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมานานเกือบ 2 ปี แล้วบน Google โดยสามารถย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงหน้าหนาวในปี 2020 ผู้คนเกิดความต้องการในการออกแบบบ้านใหม่ในช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ฉันว่าหลายคนพยายามที่จะมองหาสไตล์ที่มอบความผ่อนคลาย” ไลลา รีทเนอร์เจน (Laila Rietnergen) เจ้าของหนังสือ ‘Japandi Living’ กล่าวกับสื่อ CNN “สุนทรีย์ของความเงียบสงบ รวมถึงสิ่งของต่างๆ จากการออกแบบสไตล์ Japandi มันเหมาะพอดีกับความต้องการนี้” เธอกล่าวเสริม
ถ้าพูดถึงที่มาของการผสมผสานระหว่างสองสไตล์นั้น สามารถย้อนเวลากลับไปได้นานถึงช่วงปี 1860s โดยไลลาสามารถหาข้อมูลได้ว่าการออกแบบนี้เริ่มจากทหารเรือชาวเดนมาร์กนามว่า วิลเลียม คาร์เทนเซน (William Cartensen) ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ญี่ปุ่นปิดประเทศไปนานถึง 200 ปี ‘Japan’s Capital and the Japanese’ หนังสือของเขา สร้างความจับใจให้กับนักออกแบบในเดนมาร์กจนต้องออกเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามเรียนรู้วัฒนธรรมแห่งความเรียบง่าย และความสวยงามตามธรรมชาติ

ไลลายังกล่าวอีกว่าการออกแบบทั้งของญี่ปุ่นและสแกนดิเนเวียเน้นยำถึงความสำคัญของธรรมชาติ ไม่เพียงแค่ผ่านเฉดสีน้ำตาลอ่อน สีแทน และสีขาว เท่านั้น แต่ยังใช้วัสดุอย่างผ้าลินิน และไม้เพื่อสร้างความบรรยากาศที่เป็นหนึ่งอันเดียวกัน
หัวใจหลักของ Japandi คือการสร้างอะไรบางอย่างที่แต่งเติมไปด้วยภาวะอารมณ์ที่อบอุ่นสบายราวกับอยู่บ้าน และรู้สึกผ่อนคลาย และที่สำคัญคือราคาต้องไม่แรง แต่ต้องเข้าถึงได้ด้วยราคาที่อยู่ในงบประมาณที่พอดี โดยไลาลาแนะนำว่าทางที่ดีไม่ควรซื้อของมือหนึ่งเพื่อนำมาตกแต่ง แต่ควรเป็นของมือสองคุณภาพดีที่ขายตามท้องตลาด

“การถ่ายถอดความเป็น Japandi ของแต่ละบ้านนั้นมีความแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญคือการกล้าที่จะตัดสินใจเลือกเอง บ้านของคุณไม่ใช่โชว์รูม และไม่ควรลอกเลียนจากสิ่งที่คุณเคยพบเคยเห็นมา สิ่งคำคัญคือการใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป” ไลลากล่าว
ใครที่สนใจอยากลองดูการตกแต่งบ้านแบบ Japandi เพิ่มเติม สามารถติดตาม ไลลา รีทเนอร์เจน ได้บน Instagram หรือสามารถสั่งซื้อหนังสือของเธอได้เช่นกันที่เว็บไซต์ Lannoo