เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Wannarrong Sa-ard โพสต์ภาพปลาขนาดยาว มีครีบสีแดง หน้าตาประหลาด พร้อมกับแคปชันถามคนในกลุ่ม ‘นี่ตัวอะไร’ ว่า "ปลาอะไรคะ ติดเรือขึ้นมาค่ะ (เรือ ก.เทพเจริญพร 15) ละงู สตูล #สรุป จากภาพ น้องคือปลาออร์ฟิชนะคะ (ใช่หรือไม่ ต้องรอผลวิจัยอีกที) แต่ตอนนี้มีพี่นักวิจัยประมงมารับน้องไปวิจัยแล้วนะคะ"

หลังจากโพสต์ไปไม่กี่ชั่วโมงก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นมากมาย รวมถึงความเห็นที่คิดว่าปลาออร์ฟิชคือนาคในตำนาน และน่าจะเป็นตัวเดียวกับในภาพที่ทหารสหรัฐฯ หลายสิบคนกำลังแบกปลาตัวยาวขนาดยักษ์ที่หลายคนเชื่อว่ามาจากแม่น้ำโขง แต่จริงๆ มาจากชายฝั่งอเมริกา พื้นเพเดิมของปลาออร์ฟิชนั้นเป็นปลาทะเลน้ำลึก แถมพบได้ทั่วโลกไม่จำกัดว่าเป็นที่ใดเป็นพิเศษ

ประเด็นที่น่าสนใจคือชาวใต้ค่อนข้างตื่นตระหนกกับเรื่องนี้อยู่บ้าง เนื่องจากคนสมัยก่อนเชื่อว่ามีตำนานเรื่องปลาอานนท์พลิกตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหว และเข้าใจว่าปลาออร์ฟิชคือปลาอานนท์ดังกล่าว แถมยังพบที่จังหวัดสตูลอีกด้วย
ตามตำนานคัมภีร์โลกศาสตร์ ระบุว่ามีปลาอานนท์มีขนาดมโหฬาร มีความยาวร่วม 1,000 โยชน์ ว่ายน้ำไปมาในมหาสมุทร โดยเล่าว่าการพลิกตัวของปลาอานนท์เกิดจากเรื่องเล่าที่ปลาอานนท์พยายามหาปลาตัวเล็กตัวน้อยกิน แต่เมื่อปลาเหล่านั้นรู้ตัวเข้าจึงพยายามหลบซ่อน ด้วยความหิวโหยปลาอานนท์จึงแหวกว่ายเป็นวงแคบในลักษณะวงกลม พอเห็นหางตัวเองกระดิกก็เข้างับหางตัวเองเข้าทันทีทำให้ทะเลเกิดเป็นทะเลสีเลือดไป

จากเรื่องเล่าข้างต้นดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวเท่าไรนัก ซึ่ง ศรัณย์ ทองปาน นักเขียนจากนิตยสารสารคดีสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากบทอัศจรรย์ระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา ในเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ ที่ว่า
“ดังกำลังมังกรสำแดงฤทธิ์ ให้มืดมิดกลางทะเลแลเวหา
ลงเล่นน้ำดำดึ่งถึงสุธา สะท้านกระทั่งหลังปลาอานนท์นอน
ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน
มัตติมิงกลิ้งเล่นชโลทร คงคาคลอนคลื่นคลั่งฝั่งสินธู”
แน่นอนว่าคำเปรียบเปรยทั้งหมดนี้คงไม่ได้หมายถึงตัวปลา แต่น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับใต้สะดือ ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปว่าปลาอานนท์พลิกตัวแล้วแผ่นดินไหวเป็นเพียงความเชื่อที่ถูกปรับเปลี่ยนความเข้าใจแบบสองต่อ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาอธิบายแล้วว่าปลาออร์ฟิชไม่ได้ทำให้เกิดแผ่นดินไหว พร้อมอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับปลาตัวนี้เพื่อให้คนไทยเข้าใจมากขึ้น โดยสรุปได้ว่าปลาออร์ฟิชส่วนใหญ่พบตามทะเลอันดามันน้ำลึก ถือว่ากรณีนี้พบโอกาสน้อยมากในการเจอปลาชนิดนี้ใกล้เขตฝั่งทะเลไทย คาดว่าน่าจะหลุดมาตามกระแสน้ำเย็น อาจารย์ธรณ์ยังเสริมว่า “มหาสมุทรมีปรากฏการณ์แปลกๆ เป็นระยะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอ เราอธิบายได้ ไม่ให้สร้างความตระหนกตกใจ”