แนวคิดการมีลูกของ บูมเมอร์ VS คนรุ่นใหม่ กับการเลี้ยงดูบุพการีในยามแก่เฒ่า

19 พ.ค. 2568 - 08:43

  • ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวมักจะปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเติบโตในอนาคตว่าจะต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า

  • เบสท์ คำสิงห์ ประกาศขอไม่ช่วยเหลือหากพ่อก่อหนี้เพิ่ม

จากที่จำความได้ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงปัจจุบันทั้งที่โรงเรียนเองและผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวมักจะปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเติบโตในอนาคตว่าจะต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า คำว่า ‘ทดแทนบุญคุณ’ ไม่ใช่แค่การตอบแทนแค่พอแม่แต่รวมถึงผู้ที่มีบุญคุณค้ำหัวด้วย ในบทความนี้เราจะหยิบเรื่องครอบครัวมาถกกัน 

ตามความเข้าใจของผู้เขียนที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย กลุ่มความคิดของคนรุ่นบูมเมอร์คือการมีลูกเพื่อเป็นหลักประกันชีวิตในยามแก่เฒ่า แม้ว่าบุพการีของผู้เขียนเองจะไม่ได้พร่ำสอนว่าโตขึ้นต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็เป็นความหวังเงียบๆ แต่ไม่เล็กของพ่อแม่ที่วันหนึ่งเมื่อแก่ตัวลงลูกสาวคนนี้จะเลี้ยงดูให้อยู่แบบสุขสบาย โชคดีที่บุพการีของผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องอะไรและมักจะมีการแสดงความขอบคุณให้เห็นไม่ว่าจะเป็นการเตรียมหาอาหารอร่อยๆ ให้กินทุกมื้อ หรือการไปรับ-ส่งในกรณีกลับบ้านดึกๆ หลังจากไปทำงานโดยไร้คำบ่นหรือดุด่าว่ากล่าว 

หากแต่ความโชคดีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว ในสังคมไทยแนวคิดนี้ฝังรากลึกมาหลายยุคสมัย จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในปัจจุบันเริ่มเขย่าความเชื่อเดิมๆ จนแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมามีการสอนให้รักตัวเองมากขึ้น ให้สร้างความสุขให้กับตัวเองบ้าง และนั่นเป็นคำสอนที่ดีที่จะสร้างสุขภาพจิตให้ดีและเผยแผ่สิ่งดีๆ ต่อสังคมต่อไป 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามกับหน้าที่ของคนเป็นลูกมากขึ้น จากคำสอนต่างๆ ที่ถูกพร่ำสอนมาทำให้สองคำสอนที่กล่าวมาข้างต้นกลายเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกัน ทุกคนต้องรักตัวเองแต่ก็ต้องดูแลทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วย แต่ด้วยโลกในปัจจุบันที่เรื่องของเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้น รายได้ไม่สมดุลกับค่าครองชีพ การซื้อบ้าน รถ หรือแม้แต่การมีลูกสักคนกลายเป็นเรื่องใหญ่ การเลี้ยงดูพ่อแม่ในวัยชราไม่ใช่เพียงเรื่องของความตั้งใจดีแต่เป็นเรื่องของศักยภาพและทรัพยากรในการดูแลคนอื่นนอกจากตัวเองกลายเป็นความยากลำบากมากขึ้น 

หากมองลึกลงไปในจิตใจของคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการกตัญญูแต่อย่างใด แต่พวกเขากำลังพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างความรักความเคารพต่อพ่อแม่กับการได้ใช้ชีวิตตัวเองอย่างมีความสุข โดยมีความตั้งใจที่จะไม่ให้ความรักที่มีต่อทั้งบุพการีและตัวเองถูกกลืนหายไปกับความคาดหวังที่ไม่ได้พูดกันตรงๆ  

เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ เบสท์-รักษ์วนีย์ คำสิงห์ ลูกสาวของ สมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกของไทย เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความขัดแย้งระหว่างสองยุคสมัย เบสท์เติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยชื่อเสียง ความคาดหวัง และภาระที่ไม่อาจเลือกได้  

อย่างที่หลายคนทราบจากข่าวต่างๆ ที่ผ่านมา สมรักษ์ คำสิงห์ มีประเด็นก่อหนี้สินในหลักล้านอยู่หลายครั้ง โดยเบสท์ลูกสาวคนโตที่เป็นอีกคนในวงการบันเทิงกลับต้องทำงานหาเงินเพื่อมาชดใช้หนี้สินแทนคุณพ่ออยู่ร่ำไป 

เมื่อไม่นานมานี้เธอออกมาพูดผ่านสื่อว่า หากคุณพ่อยังคงก่อหนี้เพิ่มเติมเธอจะขอไม่ช่วยเหลืออีกต่อไป พร้อมประกาศอย่างชัดเจนว่า "ขอเลือกความสุขของตัวเองบ้าง" แน่นอนว่าคำพูดนี้อาจฟังดูขัดหูผู้ใหญ่วัยบูมเมอร์บางคนแต่มันกลับตรงใจคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เคยแบกความคาดหวังของครอบครัวไว้จนแทบหมดแรง 

การที่ลูกคนหนึ่งออกมาบอกว่า ‘พอแล้ว’ ไม่ได้แปลว่าไร้ซึ่งความกตัญญู แต่เป็นการแสดงออกถึงขีดจำกัดทางจิตใจและการตระหนักรู้ถึงขอบเขตของความรับผิดชอบที่ควรจะมี เบสท์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าแม้ว่าเธอจะไม่ได้ช่วยเหลือเรื่องหนี้สินแต่ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้คุณพ่อเดือนละแสนบาท  

ในความเป็นจริงการช่วยเหลือพ่อแม่ไม่ควรเป็นคำสั่งที่มาจากคำว่าหน้าที่เท่านั้น หากแต่ควรมาจากความรักที่สมัครใจและอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มีวุฒิภาวะทั้งสองฝ่าย 

เมื่อมองย้อนกลับไปแนวคิดของรุ่นพ่อแม่ที่มีลูกเพื่อต้องการให้ลูกดูแลตอนแก่อาจดูไม่แฟร์นักในมุมของคนรุ่นใหม่ เพราะลูกไม่ได้เลือกที่จะมาเกิด ไม่ได้ขอให้ใครลงทุนเพื่อหวังอะไรตอบแทนในอนาคต และความกตัญญูนั้นไม่ควรถูกแปลความหมายว่าเป็นภาระทางการเงินเสมอไป บางคนอาจเลือกดูแลพ่อแม่ด้วยการให้เวลา พูดคุย ห่วงใย หรือแม้แต่ไม่สร้างภาระใหม่ให้ครอบครัวก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความกตัญญูแล้ว 

ความรักในครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่สนามของหนี้บุญคุณที่ไม่มีวันชดใช้ได้หมด กรณีของเบสท์อาจไม่ใช่เรื่องแปลกหากเรามองด้วยสายตาที่เข้าใจถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สำหรับเบสท์นับว่าเป็นตัวแทนของลูกหลายคนที่อยากจะรักพ่อแม่ในแบบที่ตัวเองสามารถมีความสุขได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่รักแบบทุกข์ใจ การกล้าพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในครอบครัวที่หลายบ้านไม่เคยกล้าเปิดอกพูดคุยกัน ความรักแบบผู้ใหญ่คือการยอมรับว่าลูกไม่จำเป็นต้องเสียสละจนหมดตัวเพื่อพิสูจน์ว่ารักพ่อแม่มากพอ 

ท้ายที่สุดความกตัญญูไม่ได้หายไปจากใจของคนรุ่นใหม่ เพียงแต่พวกเขากำลังเปลี่ยนวิธีแสดงออกให้เหมาะสมกับโลกใบใหม่ที่พวกเขาต้องอยู่ การตอบแทนบุญคุณไม่ควรเป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังจากคนรุ่นหนึ่งโดยไม่ถามความรู้สึกของคนอีกรุ่นหนึ่ง ถึงเวลาแล้วที่ครอบครัวไทยควรเรียนรู้ที่จะรักกันแบบเคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน รวมถึงเข้าใจกันโดยไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ เสมอไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์