ในบรรดาพระอารามหลวง น้อยนักที่จะมีการออกแบบโดยสอดแทรกศิลปะจากต่างประเทศเข้ามาผสมผสานกับงานศิลปะแบบไทย และหนึ่งในวัดที่กล่าวมานี้คือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยนำงานสถาปัตยกรรมแบบจีนเข้ามาประยุกต์ใช้ แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้าขายระหว่างไทยกับจีนในยุคนั้นเป็นอย่างดี
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดจอมทอง ส่วนปีที่ก่อสร้างนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ว่ากันว่าถูกสร้างขึ้นก่อนมีการสร้างเมืองกรุงเทพมหานคร จึงถือว่าเป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2363 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ซึ่งตอนนั้นยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี)

เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ตรงฝั่งธนบุรี ทรงหยุดพัก และทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสมคราม (พิธีกรรมที่เสริมความสิริมงคล อีกนัยหนึ่งเป็นพิธีที่สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับบรรดาทหาร) แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีวี่แววของกองทัพพม่าเลย เมื่อยกทัพกลับ พระองค์จึงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่เป็นพระอารามหลวง พร้อมพระราชทานนามใหม่เป็น วัดราชโอรส

เมื่อเข้าไปในวัดเราจะพบกับพระอุโบสถที่เป็นจุดเด่นที่สุดของวัด ด้วยตัวอาคารมีการผสมผสานกันระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะส่วนของหน้าบันเป็นงานศิลปะกระเบื้่องเคลือบ ในส่วนขอบของหน้าบันเป็นรูปทรงดอกไม้ สลับกันกับเครื่องถ้วยชามจีนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ณ ตรงกลางหน้าบันเป็นการประดับตกแต่งด้วยงานปั้นรูปสัตว์ต่างๆ และต้นไม้พืชพันธุ์ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ชาวจีนนิยมกันจนเป็นอัตลักษณ์


หน้าบันส่วนบนเราจะสังเกตเห็นมังกร สัตว์ในตำนานความเชื่อของจีน รวมถึงนกท่ามกลางพฤกษานานาพันธ์ ถัดมาตรงหน้าบันส่วนล่างเป็นกาแสดงทิวทัศน์แบบจีน มีงานปั้นรูปทรงภูเขาที่เหมือนหลุดมาจากภาพวาดของจิตรกรชาวจีน (เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีหุบเขามากมาย) มีสิงโตจีน และสัตว์ต่างๆ ออกมาเพ่นพ่านตามจุดต่างๆ ที่สำคัญคือมีรูปปั้นคล้ายนักปราชญ์จีนนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ซึ่งแสดงถึงแนวคิดของเต๋าได้เป็นอย่างดี

ถัดออกมาเราจะเห็นประตูจีนที่มีสิงโตคอยคุ้มกันอยู่สองตัว บริเวณโดยรอบพระอุโบสถประกับตกแต่งด้วยเจดีย์ทรงถะแบบจีน และเจดีย์ไทยแบบรัตนโกสินทร์ ถือเป็นการใช้พื้นที่ภายในวัดที่สะท้อนถึงความกลมเกลียวระหว่างสองวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว


หากมองไปรอบๆ จะสังเกตได้ว่าอาคาร ศาลา รวมถึงกุฏิวัด มีการตกแต่งหน้าบันด้วยศิลปะจีนกันทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้วยชามกระเบื้องเคลือบที่ตกแต่งอยู่ตามขอบคล้ายดอกไม้บานสะพรั่ง ในส่วนของหน้าบันตรงกลางตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้ ลายสายลมแบบจีน และประแจจีน



เดินชมวัดกันไปสักพัก จะเห็นรูปปั้นปูนสภาพผ่านฟ้าผ่านลมยืนเรียงราย บางตัวถึงกับแตกหักล้มลงไม่มีชิ้นดี ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นของวัด นั่นคือ ‘ตุ๊กตาอับเฉา’ ที่ชาวจีนได้พามาไว้ที่ประเทศไทย

ตุ๊กตาอับเฉา หรือ รูปปั้นหินจีน เป็นรูปปั้นที่ทำจากหินเนื้ออ่อนที่มีสีเขียวอมเทา ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า หินฮ่วยเส่งง้ำ การสลักหินเป็นรูปปั้นต่างๆ ถือว่าเป็นงานประติมากรรมจีนที่มีมาเนิ่นนานแล้ว ในช่วงที่การค้าระหว่างไทยจีนกำลังรุ่งเรือง โดยเริ่มตั้งสมัยรัชกาลที่ 2 มีการนำตุ๊กตาเหล่านี้เข้ามาขาย บางตัวถูกทิ้งไว้ในไทยเพราะโดยปกติแล้วรูปปั้นตัวไหนไม่งาม หรือดูธรรมดาเกินไป จะถูกเก็บไว้ใต้ท้องเรือเพื่อถ่วงเรือ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ตุ๊กตาอับเฉา’ เชื่อกันว่ามาจากภาษาจีนคำว่า ‘เอี๊ยบชึง’ แปลว่า ของถ่วงหนัก บ้างก็ว่าตุ๊กตามันอับเฉา เพราะอยู่ใต้ท้องเรือมาก่อน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นมาใหม่เป็นวัดราชโอรส ทรงสั่งให้มีการประดับตกแต่งวัดด้วยตุ๊กตาจีนเหล่านี้ จึงทำให้เห็นอยู่ทั่วไปในวัดราชโอรส ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตารูปคน สิงสาราสัตว์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากวัดราชโอรสแล้ว ทรงนำตุ๊กตาเหล่านี้ไปประดับตกแต่งที่วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดอรุณราชวราราม อีกด้วย โดยสามารถพบตุ๊กตาอับเฉาเหล่านี้ได้มากถึง 300 กว่าตัว


อันที่จริงบ้านเมืองเรามีความสัมพันธ์กับประเทศจีนมาช้านาน นานเสียจนรับอิทธิพลด้านศิลปะ และงานประติมากรรมของเขามาปรับใช้ รวมถึงอิทธิพลด้านอาหารการกินด้วย ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว เมนูอาหารผัด ที่พัฒนาจนกลายเป็นอาหารตามสั่งแบบไทยๆ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัดราชโอรส ถือเป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมผสมผสานที่สมบูรณ์แบบที่ไม่ว่าจะเข้าไปชมกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ยังคงความงดงามราวกับอยู่เหนือกาลเวลา
