
ชาวซาไกมาจากไหน?
ชาวซาไก (Sakai) หรือชาวมานิ (Maniq) เมื่อเราพิจารณารูปร่างสัณฐานแล้วมีความละม้ายคล้ายกับชาวแอฟริกัน (ผิวคล้ำดำ จมูกป้าน ผมหยิกฟู) จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่าชาวซาไกจริงๆ เป็นมนุษย์นิโกลอยด์หรือไม่? และเกิดทฤษฎีว่าชาวซาไกอาจอพยพมาอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่ทวีปติดกันตามทฤษฎี Continental Drift (ทวีปเคลื่อน) แต่เมื่อพิจารณาตามช่วงปีจริงๆ การเกิดทวีปเลื่อนเกิดขึ้นร่วมหลักสิบถึงร้อยล้านปีที่แล้ว ขณะที่มนุษย์เริ่มวิวัฒนาการเมื่อแสนปีที่แล้วเองเท่านั้น

วิถีชีวิตของชาวซาไก
‘ซาไก’ แท้จริงเป็นภาษามลายูแปลว่า ‘ทาส’ ปัจจุบันจึงนิยมเรียกว่า ‘มานิ’ แปลว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นคำเรียกตัวเองของคนในชนเผ่า วิถีชีวิตของพวกเขาคือวิถีดั้งเดิมคือเป็นการหาของป่าและล่าสัตว์ หรือ Hunter-gatherers นิยมล่าลิง ค่าง หมูป่า เต่า หมูหริ่ง และกระรอก เป็นโปรตีนสำคัญ ส่วนแป้งได้จากมันป่า โดยการปรุงอาหารมีเพียงการปิ้ง การย่าง หรือการต้ม เท่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ป่าภาคใต้ลดลงไปมากเนื่องจากสังคมเมืองที่เริ่มขยับขยาย ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อยู่อาศัยทั้งในเรื่องทรัพยากรอาหาร และพื้นที่อาศัย ชาวมานิจึงเริ่มหางานทำในเมืองโดยส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป เดิมทีชาวมานิจะแต่งตัวปิดแค่ท่อนล่าง และเผยท่อนบนทั้งชายและหญิง ส่วนเด็กจะไม่สวมใส่อะไรเลย ปัจจุบันเราอาจเห็นชาวมานิแต่งตัวตามยุคสมัยเพราะอิทธิพลของสังคมเมือง
กลุ่มกึ่งชุมชนเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าไปในป่าลึกมากนัก และยังมีการติดต่อกับสังคมภายนอกเพื่อของจำเป็นต่อการดำรงชีพ กลุ่มนี้ยังคงอยู่เป็นชุมชนตามเพิงไม้ แต่ก็มีการสวมใส่เสื้อผ้าตามยุคสมัย คนในชุมชนอาจมีการเข้าไปทำงานในเมืองเพื่อจับจ่ายของจำเป็นพวกเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เข้ามาในชุมชน
กลุ่มตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มที่มีบ้านเรือนเหมือนชาวบ้านตามปกติ มีการทำงานเพื่อดำรงชีพ และใช้ของตามยุคสมัยเหมือนชาวไทยทั่วไป บางครัวเรือนดำรงชีพด้วยการทำไร่ทำนา ปลูกสวน และทำปศุสัตว์ กลุ่มนี้เลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตตามสังคมภายนอกเนื่องจากพื้นที่ป่าไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย
มานิในวรรณคดีไทยที่คนไทยคุ้นเคย
ชาวมานิยังปรากฎอยู่ในวรรณคดีไทย ที่โด่งดังที่สุดคือเรื่องราวความรักของซมพลา และลำหับ ในฉากหลังที่เป็นป่าในจังหวัดพัทลุง เรื่อง ‘เงาะป่า’ ถูกร้อยเรียงเป็นบทร้อยกรองโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงพักรักษาพระอาการประชวรจากพระโรคมาลาเรีย ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเวลา 8 วันเท่านั้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องชาวมานิ (ซาไก) จนได้ คะนัง กิราตกะ มาเลี้ยงในวัง (เป็นที่มาของชื่อตัวละคร คนัง ในเรื่อง) และถูกจัดให้เป็นวรรณดดีไทยที่นักเรียนไทยควรเรียน
ชาวมานิในวัฒนธรรมร่วมสมัย
เชื่อว่าน้อยคนที่จะรู้ว่ามีภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘ซาไกยูไนเต็ด’ กำกับโดย สมจริง ศรีสุภาพ และเขียนบทโดย สมภพ เวชชพิพัฒน์ นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง รับบทเป็น เปาตุ๊ อดีตกรรมการฟุตบอล ที่เผอิญเห็นชาวมานิกำลังเล่นฟุตบอลในสนามกีฬา ด้วยความสงสัยเปาตุ๊จึงติดตามเขาเข้าป่าไป จึงพบกับชุมชนชาวมานิที่กำลังดิ้นรนเรื่องโรคภัยที่รักษายาก เปาตุ๊เกิดไอเดียนำพาชาวมานิไปแข่งฟุตบอลเผื่อจะได้โอกาสชิงรางวัลเพื่อนำมารักษาคนในชุมชน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวมานิ และสร้างความตระหนักให้กับชาวไทยเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยนี้
ซึ่งนอกจากภาพยนตร์ที่นำเสนอวิถีชีวิตของชาวมานิแล้ว ยังมีเพลงจากค่ายพาราฮัทในชื่อ ‘ซาไกกับเด็กในหลาด’ ขับร้องโดยชาวมานิชื่อ ‘โชค มันนิ พาราฮัท’ บทเพลงว่าด้วยหนุ่มมานิที่หลงรักสาวชาวไทยที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชน เป็นการนำเสนอชุมชนชาวมานิในสื่อบันเทิงที่น่าสนใจ และช่วยให้ชาวไทยได้หันมาสนใจเกี่ยวกับชาวมานิด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันชาวซาไกยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยตามปกติ แบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มแต็นแอ๊น (ตรัง-พัทลุง-สตูล), กลุ่มกันซิว (ยะลา), กลุ่มแตะเด๊ะ (นราธิวาส) และยะฮายย์ (นราธิวาส) เป็นต้น บางกลุ่มยังคงแร้นแค้นและยังต้องอาศัยของบริจาคจากมูลนิธิ กล่าวได้ว่าชาวมานิควรมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือดูแลจนกว่าจะสามารถตั้งลำแข้งได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ต้องอาศัยแรงจากรัฐบาล และคนภายในประเทศร่วมกัน เพราะชาวมานิก็นับว่าเป็นชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเราเองก็ไม่ควรที่จะเพิกเฉย