[สาระวัน] ‘Knock at the Cabin’ กับสัญญะทางศาสนาว่าด้วยวันสิ้นโลก

3 ก.พ. 2566 - 02:38

  • Knock at the Cabin หนังใหม่ล่าสุดจาก เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน เรื่องราวของครอบครัวที่ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มคนปริศนาทั้ง 4 คน กับเรื่องราวความจริงที่เกี่ยวโยงกับวันสิ้นโลกในคริสต์ศาสนา

sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Thumbnail
เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) ยังคงเดินหน้าทำหนังแนวทริลเลอร์อย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2021 หลายคนอาจได้เชยชมพล็อตหนังที่แปลกใหม่ในเรื่อง ‘Old เมื่อครอบครัวติดกับพลังงานลึกลับบางอย่างทำให้เวลาเดินหน้าเร็วผิดปกติ จากลูกๆ ที่ไม่ถึงสิบขวบจู่ๆ ก็เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ภายในเวลากี่นาที พล็อตสุดพิศดารยังไงคงต้องยกให้ชยามาลาน และใน Knock at the Cabin เรื่องล่าสุดที่เราจะพูดถึงนี้ ก็ยังคงคอนเซปต์พล็อตหนังประหลาดที่เชื่อว่าใครที่เคยชมตัวอย่างต้องถึงกับเกาหัวจนกว่าจะได้ชมหนังในโรงภาพยนตร์ 
 
Knock at the Cabin เป็นผลงานเรื่องที่ 15 ของชยามาลาน ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าชยามาลานคือใคร เขาเป็นผู้กำกับเจ้าของหนังเด็กเห็นผีเรื่อง The Sixth Sense’ และหนังมนุษย์ต่างดาวกลัวน้ำที่ได้ วาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) มาแสดงนำ ในเรื่อง Signs’ และดูท่าว่า Knock at the Cabin จะเป็นหนังที่ตามรอยมู้ดเดิมเหมือนหนังทั้งสองเรื่องที่กล่าวไป พร้อมกับได้ เดฟ บอทิสตา (Dave Bautista) อดีตนักมวย WWE ที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงหนังนอกกระแส มาแสดงนำเป็นคุณครูประถมผู้ใจดี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2ahI7ja4F4txd9M50UnWdP/739c4f9344696f94516ab5d574ccf888/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo01
Knock at the Cabin เป็นเรื่องราวของครอบครัวที่ประกอบด้วยคุณพ่อสองคน แอนดรูวและเอริค นำแสดงโดย เบน อัลดริดจ์ (Ben Aldridge) และโจนาธาน กรอฟ (Jonathan Groff) กับลูกสาวบุญธรรม เวน รับบทโดย คริสเทน ซุย (Kristen Cui) ที่ออกมาพักตากอากาศในกระท่อมริมทะเลสาบแห่งหนึ่ง ระหว่างที่เวนกำลังจับตั๊กแตน จู่ๆ ก็มีกลุ่มคนปริศนาทั้ง 4 คน เข้ามาทำความรู้จักอย่างเป็นมิตร แต่เหตุการณ์ลงเอยไม่ดีนัก จนกระทั่งทั้งครอบครัวถูกจับตัวภายในกระท่อม พวกเขาทั้ง 4 คนไม่มีท่าทีจะทำร้ายใครทั้งสิ้น แต่พยายามอธิบายว่า ทั้งแอนดรูว เอริค และเวน ต้องเลือกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวในการเสียสละชีวิตเพื่อรักษาคนทั้งโลก  
 
แน่นอนว่าใครอ่านเจอเรื่องย่อ หรือชมตัวอย่าง คงมีอารมณ์ที่ค้างเติ่ง สงสัยว่าเนื้อเรื่องทั้งหมดนี้มันคืออะไรกันแน่ ทางเราขอแนะนำให้ไปชมตัวหนังก่อนมาอ่านต่อ แต่สำหรับใครที่ไปชมมาแล้ว เราจะมาพูดคุยกันว่า Knock at the Cabin เกิดอะไรขึ้นจริงๆ แล้วสิ่งที่ชยามาลานต้องการจะนำเสนอนั้นคืออะไร 
 

*คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์* 

 
สิ่งที่ชยามาลานทำคือการทำมู้ดอารมณ์หนังให้กลับไปคล้ายกับเรื่อง The Sixth Sense และเรื่อง Signs ซึ่งบางคนอาจรู้มาว่าชยามาลานเป็นผู้กำกับที่สร้างหนังออกมาให้สำเร็จทะลุเป้าแบบลุ่มๆ ดอนๆ อย่างเรื่อง After Earth และ The Last Airbender ถูกนักวิจารณ์และผู้ชมจวกยับด้วยคะแนนอันน้อยนิด และในปี 2023 นี้ ชยามาลานทำให้คนกลับมาสนใจอีกครั้งด้วยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวันสิ้นโลก ปริศนา และเรื่องเหนือธรรมชาติ ที่เรียกได้ว่า “เกือบทำได้ดีแล้ว” และอาจทำได้นุ่มลึกกว่านี้หากเขาถ่ายทอดหนังในฐานะหนังนอกกระแส แต่สิ่งที่ชยามาลานทำนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าเขาต้องการให้หนังออกมาดูเข้าใจง่าย และเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3sWrpvE8CGVEVBtPSxZNC5/7e734786da3101437b4534a1dc3dbbfd/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo02
การดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะมาพูดถึงกันในนี้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการหยิบเรื่องสัญญะทางศาสนาออกมาตีแผ่ภายในหนัง แม้ว่ามันอาจเป็นสร้างนัยยะที่ออกจากคลีเช (เชย) ไปหน่อยสำหรับยุคนี้ แต่ชยามาลานก็มีวิธีการที่น่าสนใจในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมา 
 
ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบเนื้อเรื่องกันดีว่าเกิดอะไรขึ้นภายในเรื่องบ้าง พ่อแอนดรูว และพ่อเอริค ปฏิเสธการสังเวยชีวิต เลยทำให้กลุ่มคนปริศนาทั้ง 4 ที่เชื่อว่าตัวเองเห็นนิมิตวันสิ้นโลก ต้องทำการสังเวยตัวเอง (ในหนังไม่ได้บอกว่าสังเวยให้ใคร) และทุกครั้งที่หนึ่งใน 4 คนนี้ล้มตาย จะเกิดหายนะแก่คนบนโลกนับแสนคน หนังพาทำผู้ชมงงเป็นไก่ตาแตกจนกระทั้งช่วงท้ายของเรื่อง ลีโอนาร์ด (เดฟ บอทิสตา) เผยความจริงแก่ครอบครัวทั้งสามคนว่า เขาและอีก 3 คน นั้นเป็น จตุรอาชาแห่งวิวรณ์ ตรงนี้ทำให้รู้ทันทีว่าหนังทั้งเรื่องเป็นการแฝงนัยยะศาสนาคริสต์ลงไป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6MNKpSu6QhPKAvsPCvBZwD/9a827d3f9f053eb9288d2d25c71346d7/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo03
จตุรอาชาแห่งวิวรณ์ หรือ คนขี่ม้าสี่คนแห่งวิวรณ์ เป็นผู้ลงทัณฑ์จากพระเจ้า โดยเนื้อหาเหล่านี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือวิวรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ 27 หรือเล่มสุดท้ายของพันธสัญญาใหม่ อีกทั้งยังปรากฎในหนังสือเศคาริยาห์และหนังสือเอเสเคียลในฉบับพันธสัญญาเดิม จตุรอาชาประกอบด้วยม้าทั้ง 4 สี ได้แก่ สีแดง, สีขาว, สีดำ และสีกะเลียว (เขียวอมดำ)  
 
ภายในหนังเราได้เปรียบได้ไม่ยาก เพราะสามารถเปรียบเทียบสัญญะตามสีเสื้อของทั้ง 4 คน ม้าสีขาวคือลีโอนาร์ด (วิบัติจากโรคระบาด) ม้าสีดำคือเอเดรียน (วิบัติจากภัยอดอยากอาหาร) ม้าสีกะเลียวคือซาบรินา (ในหนังสือเป็นสีเหลืองแทน และเป็นตัวแทนของวิบัติจากความตาย) และม้าสีแดงคือเรดมอนด์ (วิบัติจากภัยสงคราม) แต่อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายในเรื่องไม่ได้ตรงตามหนังสือวิวรณ์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1dQIJrg9ywxpTYqgh7Tv90/16bc43a72ba18a737404fea8e4bfe881/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo04
ในหนังสือเศคาริยาห์ กล่าวว่า ทั้งสี่เป็น “ผู้ที่พระองค์ส่งมาเพื่อตรวจตราแผ่นดินโลก" ส่วนหนังสือเอเสเคียลระบุว่าพระเจ้าทรง "ส่งภัยแห่งการพิพากษาร้ายแรงทั้งสี่ประการของเราคือ ดาบ การกันดารอาหาร สัตว์ร้ายและโรคระบาดมาเหนือเยรูซาเลม เพื่อกำจัดมนุษย์และสัตว์เสียจากนครนั้น” เพราะฉะนั้นภาพเงาคนที่เอริคเห็นอาจเป็นพระเจ้าก็เป็นได้ แต่หนังพยายามเล่นกับผู้ชมด้วยการให้เอริค (ที่เพิ่งได้การกระทบกระเทือนบนศีรษะอย่างรุนแรง) เป็นคนเห็นภาพ เพื่อหันเหไปคิดว่าเอริคนั้นเกิดประสาทหลอนไปเอง 
 
สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งสี่คนนี้เคยปรากฎในชีวิตของแอนดรูวและเอริค ถ้าสังเกตให้ดีเรดมอนด์คือคนที่อยู่ในบาร์จริง และซาบรินาเคยเป็นแพทย์รักษาแอนดรูวหลังถูกตีศีรษะที่บาร์ และบาร์เทนเดอร์ที่บาร์แห่งนั้นอาจเป็นลีโอนาร์ด เพราะเขาเคยแนะนำตัวว่าทำงานพาร์ทไทม์เป็นบาร์เทนเดอร์ แต่สำหรับเอเดรียนนั้นยังไม่แน่ชัดว่าปรากฎอยู่ตรงส่วนไหน ทุกคนถูกร้อยเรียงโชคชะตาให้มาเจอกันโดยบังเอิญ น่าเสียดายที่หนังไม่ได้ย้อนจุดนี้แบบชัดๆ อาจเป็นเกร็ดเล็กๆ ที่ผู้ชมต้องสังเกตเอาเอง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2zqlT4Ojl4fAHs0FoMHl7Z/ec20e095b4846a402725ffd18fc6872b/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo05
ทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ถูกมอบหมายโองการมาตั้งแต่แรก พวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาที่เผอิญเห็นนิมิต แต่มันจะมีฉากหนึ่งที่ทำให้พวกเขาทั้ง 4 เหมือนกำลังโดนสิงด้วยพลังอะไรบางอย่างหลังจากที่แอนดรูวและเอริคปฏิเสธการสังเวย และจำเป็นต้องฆ่าผู้เห็นนิมิตหนึ่งในสี่ ตอนที่พวกเขาฆ่าเรดมอนด์ ทั้งสามคนมีจังหวะการขยับตัวและก้าวฝีเท้าอย่างมีรูปแบบเหมือนอยู่ในพิธีกรรม ในมือของพวกเขาถืออาวุธ (ที่ลีโอนาร์ดเรียกว่า “เครื่องมือ”) ที่มีลักษณะประหลาดเหมือนอาวุธโบราณ เป็นอีกหนึ่งดีเทลที่หนังพลาดในการถ่ายทอดมันออกมาให้น่าสนใจ  
 
ในช่วงท้ายของหนัง เป็นการนำเสนอภาพซ้ำคล้ายกับเรื่อง Noah ของ ดาร์เรน อาร์นอฟสกี (Darren Aronofsky) เมื่อโนอาห์ต้องการทำตามคำสั่งพระเจ้าด้วยการจบสิ้นเผ่าพันธุ์ เนื่องจากมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจ และชั่วร้าย เช่นเดียวกันกับแอนดรูวภายในเรื่องที่ถูกสบประมาทจากสังคมจากการที่เป็น LGBTQ แอนดรูวกล่าวกับเอริคด้วยอารมณ์ที่เดือดพล่านว่ามนุษย์นั้นสมควรตาย หนังพยายามเล่นกับเรื่องความเมตตากรุณา หรือ Compassion ซึ่งเป็นหลักคำสอนหลักที่ปรากฎอยู่ในศาสนาคริสต์  สำหรับ่ไฟที่พลุกพล่านกระท่อมไปทั้งหลัง เป็นนัยยะของการสังเวยตามฉบับของพิธีกรรมในยุคโบราณ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2rVK6ghNepJ9UueenQuyN9/869400b4b0110ffce0cd43d5b10d5e65/sarawan-knock-at-the-cabin-religious-symbols-SPACEBAR-Photo06
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ เช่น ทั้งหมดนี้คืออะไร การทดสอบของพระเจ้า หรือเป็นเพียงวิธีการของพระเจ้าที่จำต้องเป็นไป ส่วนตัวมีความเห็นว่าในจังหวะที่แอนดรูวยิงเอริคนั้นเกิดขึ้นง่ายไป มันคงกลมกล่อมและสมเหตุสมผลมากกว่านี้หากมีการถ่ายทอดความกดดันผ่านฉากที่เค้นอารมณ์ ทุกอย่างดำเนินไปแบบเป็นสูตรสำเร็จมากไป ราวกับบทที่วางไว้ ไม่ใช่พฤติกรรมมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็น 
 
ความเจ๋งที่น่าพูดถึงคือตอนจบที่แอนดรูว และเวน นั่งอยู่ในรถหลังจากผ่านเหตุการณ์มาทั้งหมด ทั้งสองนั่งในรถด้วยความเหน็ดเหนื่อย และงงงวยกับสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไป แอนดรูวเอื้อมมือไปเปิดวิทยุ แต่เพลงที่วิทยุเปิดกลับเป็นเพลงที่พวกเขาชอบร้องกัน แอนดรูวปิดวิทยุ (แสดงถึงการรับไม่ได้) สักพักเวนเอื้อมไปเปิด (คิดถึงเอริค) แต่แล้วก็กดปิด (ทำใจรับไม่ได้) ท้ายที่สุดแอนดรูวกลับเป็นคนที่เปิดวิทยุให้เพลงเล่นไปจนจบเรื่อง อันเป็นการแสดงถึงชีวิตที่ต้องเดินหน้าต่อไป (การรับได้ต่อสภาวะความเป็นจริง) 
 
กล่าวโดยสรุป Knock at the Cabin เป็นหนังที่ดูสนุกแบบเพลินๆ ตามสไตล์ชยาลามาน แต่ถามว่าดีไหม คงให้แค่ 4.5/10 สำหรับการแฝงนัยยะของหนัง ส่วนการดำเนินเรื่องหนังนั้นยังติดความเป็นสูตรสำเร็จเกินไป และขาดพื้นที่สำหรับการถ่ายทอดอารมณ์และพฤติกรรมอันแท้จริงของมนุษย์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์