กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดในประเทศ
ดนุพร ปุณณกันต์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย
หลังจากการต่อสู้อันยาวนานตลอด 23 ปี ประเทศไทยก็ได้บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในที่สุด โดยกฏหมายนี้จะส่งผลให้ไทยอาจกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญ ที่ไม่เพียงแค่ให้คู่รัก LGBTQ+ ได้มีความหวังเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนในประเทศต่างรู้สึกตื้นตันและขอบคุณถึงการพัฒนาและมองเห็นคุณค่าของ ‘ทุกคน’ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยไม่ต้องมีคำว่า ‘เพศ’ มาจำกัด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการยอมรับความหลากหลายในสังคมอีกด้วย
กฏหมายฉบับนี้จะมอบอำนาจให้คู่สมรส LGBTQ+ สามารถมีสิทธิพื้นฐานโดยชอบธรรมทางกฏหมาย เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย และ สิทธิจัดการศพ เป็นต้น ซึ่งหลังจากการประกาศข่าวนี้ก็มีผู้คนออกมาแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากแสดงความยินดีกับชาว LGBTQ+ แล้ว ก็มีหลายเสียงที่กล่าวว่า หลังจากการแก้ไขปัญหาและมอบสิทธินี้แล้ว พวกเขาอยาก ‘วิงวอน’ ให้รัฐบาลช่วยลงมาดูแลเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาเรื่องปากท้องเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถรอได้เช่นกัน ทั้งข้าวของแพง การถูกกดค่าแรงที่ถึงแม้จะมีกฏหมายค่าแรงขั้นต่ำแต่ก็ไม่ได้มีการปรับใช้กับทุกคนอย่างจริงจังเท่าเทียม อีกทั้งยังมีการถูกแย่งที่ทางทำมาหากินจากชาวต่างชาติ ที่ถึงแม้จะมีบางพื้นที่ที่ได้รับการแก้ไขไปแล้วอย่าง ห้วยขวาง แตก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ถูกมองข้าม อีกทั้งยังเหมือนจะทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อชาวต่างชาติสามารถเปิดร้านบนห้างสรรพสินค้าได้แล้ว
ดููเหมือนว่าประเทศเราจะยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ไข หน่วยงานต่างๆ ของทางภาครัฐอาจจะต้องเร่งมือ วางแผน และลงมาดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น หากคิดจะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง