มีใครบนโลกนี้ที่ไม่รู้จัก เดวิด เบคแฮม (David Beckham)
คำตอบคือ “ไม่มี”
หรือถ้าจะมี เราอาจต้องพยายามดั้นด้นตามหาคนๆ นั้น เหมือนในซีรีส์สารคดี BECKHAM ชีวประวัติ เดวิด เบคแฮม ที่ฉายวันแรกบน Netflix เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ตุลาคม) ที่ถามคำถามเดียวกัน ก่อนจะพบว่า คนๆ นั้น--คนที่ไม่รู้ว่า เดวิด เบคแฮม คือใคร? เป็นชายที่อยู่ชายขอบในดินแดนอันห่างไกล

เดวิด เบคแฮม เป็นมากกว่านักฟุตบอล เขาเป็นสัญลักษณ์ (iconic) แห่งยุคสมัย ฝีเท้าดี มีพรสวรรค์ หน้าตาหล่อเหลาราวเทพบุตร คู่รักอย่างวิคตอเรีย การก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่น พรีเซนเตอร์ ป๊อปคัลเจอร์ ธุรกิจ ฯลฯ รวมถึงเรื่องราวในชีวิตที่พลิกผัน เปี่ยมด้วยสีสันและดราม่า
ซึ่งคุณสามารถติดตามเรื่องราวของเขาได้ในสารคดีซีรีส์ BECKHAM บน Netflix คนที่ดูตั้งแต่วันแรก ถ้าไม่ใช่แฟนแมนยูฯ ก็เป็นคนที่มีเบคแฮมเป็นไอดอลในดวงใจ
“ดูพึ่งจบไม่ได้หลับไม่ได้นอน”
แฟนแมนยูฯ คนหนึ่ง มี “เบคแฮม” เป็นนักเตะในดวงใจ โพสต์เฟซบุ๊ก วันที่ 5 ตุลาคม เวลา 05.26 น.
และมีบางคนที่ไม่ใช่แฟนบอล แต่รู้จักเดวิด เบคแฮม ลองเข้ามาดู ก่อนจะดูรวดเดียวจบ
“ดีมาก ทั้งในแง่การเล่าเรื่อง ความครบถ้วน เบื้องลึก เบื้องหลัง จังหวะพอดีๆ”
วิชัย มาตกุล - Creative Director, Salmon House โพสต์เฟซบุ๊ก วันที่ 5 ตุลาคม เวลา 12.29 น.
เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นบนนิวส์ฟีด (ของผู้เขียน) เท่าที่เห็นเป็นไปในเชิงบวก สารคดีเรื่องนี้ออนแอร์พร้อมกันทั่วโลก คำถามคือกระแสที่เกิดขึ้นหลังออนแอร์เป็นอย่างไร
SPACEBAR ส่องกระแสสารคดีซีรีส์ BECKHAM ผ่าน Google Trends และนี่คือกระแสและแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก (เก็บข้อมูลถึง 7 ตุลาคม เวลา 6.30 น.)

หลังจากออนแอร์บน Netflix เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ตอน 8 โมงเช้า (อ้างอิง radiotimes) ซีรีส์สารคดี BECKHAM ได้รับความสนใจในดีกรีที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้น โดยสังเกตได้จากชีพจรความสนใจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
จากกราฟจะเห็นยอดพีระมิด 3 ช่วง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชีพจรความสนใจขึ้นสูงสุดที่สุดของวัน ถ้าเทียบเวลาจะพบว่า อยู่ในช่วงเวลาราว 21.00-22.00 น. ของวันนั้นๆ คนส่วนใหญ่ทั่วโลกคงมีพฤติกรรมการดู Netflix เหมือนกัน คือดูในช่วงพักผ่อนตอนกลางคืน

กระแสความสนใจของซีรีส์สารคดี BECKHAM มีวงจรไม่ต่างจากซีรีส์ที่ออกฉายทั่วไป คือเกิดจากการพูดถึงแบบ ‘ปากต่อปาก’ ของชาวเน็ตบนโซเชียลมีเดีย การรีวิว แรงผลักจากการซื้อสื่อโฆษณา-ประชาสัมพันธ์ของนักการตลาด รวมถึงการนำเสนอของบรรดาสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นข่าว บทความ บทวิเคราะห์วิจารณ์ ทั้งตัวซีรีส์ และประเด็นน่าสนใจที่อยู่ในนั้น
แน่นอน ถ้าคุณค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับ David Beckham ในช่วงนี้บน Google จะพบแต่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับซีรีส์สารคดี BECKHAM เต็มไปหมด อย่างน้อยๆ สื่อก็เล่นประเด็นนี้เพราะมันเป็นเรื่องที่คนสนใจ และ “ขายได้” ทั้งในความหมายการที่คนยอมจ่ายเวลา และการเพิ่มยอดวิวและเอ็นเกจ เพื่อที่สื่อจะนำไปจูงใจให้เอเจนซี่และนักการตลาดยอมจ่ายเงินลงโฆษณา


จากข้อมูลจะเห็นว่า ประเด็นที่คนสนใจมากที่สุด คือเรื่อง Working Class หรือ ชนชั้นแรงงาน ที่มาจากซีนหนึ่งตอนวิคตอเรีย เบคแฮม ให้สัมภาษณ์ในสารคดีเกี่ยวกับพื้นเพครอบครัวของเธอว่า มีจุดที่คล้ายกันกับเดวิด และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอชอบเขา
ทว่าจู่ๆ เดวิด เบคแฮม ก็เปิดประตูเข้ามาเบรก ก่อนเธอจะพูดต่อ ซึ่งเป็นซีนน่ารักเล็กๆ ในสารคดี
วิคตอเรีย: “ฉันคิดว่าเรามาจากครอบครัวที่ทำงานหนักมาก พ่อแม่ของเราทั้งคู่ทำงานหนักมาก เราเป็นชนชั้นแรงงาน”
เดวิด: “เอาตามจริงสิ ที่รัก”
วิคตอเรีย: “ฉันก็พูดความจริงอยู่นี่ไง”
เดวิด: “พูดความจริง”
วิคตอเรีย: “ฉันพูดเรื่องจริงอยู่”
เดวิด: “พ่อคุณขับรถอะไรไปส่งที่โรงเรียน”
วิคตอเรีย: “คือพ่อฉัน...”
เดวิด: “ไม่ ตอบมาคำเดียว”
วิคตอเรีย: “พ่อฉัน...”
เดวิด: “รถอะไร”
วิคตอเรีย: “มันไม่ใช่คำตอบง่ายๆ นะ”
เดวิด: “พ่อคุณขับรถอะไรไปส่งที่โรงเรียน”
วิคตอเรีย: “ก็แล้วแต่...”
เดวิด: “ไม่ๆ”
วิคตอเรีย: “ก็ได้ ในยุค 80s พ่อฉันมีรถโรลส์รอยซ์”
เดวิด: (ยิ้ม) “ขอบคุณ”
เรื่อง เกล็น ฮอดเดิล (Glenn Hoddle) เป็นอีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน คนที่ติดตามฟุตบอลจะรู้ว่า เรื่องนี้มาจากการบริหารและท่าทีการให้สัมภาษณ์ของ เกล็น ฮอดเดิล ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ต่อกรณีดราม่าของ เดวิด เบคแฮม ที่เกิดขึ้นในฟุตบอลโลก ปี 1998 (ใครที่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แนะนำให้ดูในซีรีส์สารคดีเรื่องนี้)
การมองผ่าน Google Trends ยังช่วยให้เห็นว่า นอกจากคนไทยที่บ้าบอลแล้ว คนในโลกนี้ยังบ้าบอลไม่ต่างจากเรา เผลอๆ อาจจะเข้มข้นกว่าเมื่อดูจากประเทศและเมืองที่คนให้ความสนใจกับซีรีส์สารคดี BECKHAM

ดีกรีความสนใจต่อการค้นหา BECKHAM อยู่ใน ไอร์แลนด์ (Ireland) มากที่สุด ขณะที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom) อยู่อันดับรองลงมา ซึ่งหากดูตามภูมิศาสตร์ของแฟนบอลและจำนวนประชากรแล้ว รวมถึงงานจัดฉายซีรีส์สารคดีวันแรกจัดขึ้นในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรน่าจะเป็นอันดับหนึ่งมากกว่า
เมื่อดูเจาะจงในสเกลของ ‘เมือง’ พบว่า ดีกรีความสนใจดังกล่าวอาจมาจากใน 5 อันดับแรก มีมากถึง 4 เมืองที่อยู่ในไอร์แลนด์ โดยมีเพียงเมืองเดียว คือ รอมฟอร์ด (Romford) อันดับ 4 ที่อยู่ในสหราชอาณาจักร

พอไล่ลำดับประเทศที่สนใจต่อ BECKHAM พบว่าแฟนคลับเดวิด เบคแฮม มีอยู่ทุกทวีปทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ออสเตรเลีย ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ให้ความสนใจมากที่สุด (อันดับที่ 7) ขณะที่ ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 50

สื่ออังกฤษอย่าง The Guardian รายงานเมื่อ 6 ตุลาคม หลัง BECKHAM เริ่มฉายได้สองวันว่า ตั้งแต่ตัวอย่างหนังสารคดีเรื่องนี้เผยแพร่ (19 กันยายน) ยอดแฟนของเดวิด เบคแฮม บนโซเซียลมีเดียเพิ่มขึ้นราวครึ่งล้านคน
ปัจจุบัน เดวิด เบคแฮม มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมราว 83.4 ล้านบัญชี มากกว่าประชากรในประเทศไทย (71.9 ล้านคน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่ตอนนั้นมีอยู่ 41.15 ล้านบัญชี มากกว่าเท่าตัว
เดวิด เบคแฮม น่าจะเป็นนักเตะคนเดียวที่ชีวิตหลังค้าแข้ง ยังคงเปี่ยมด้วยสีสัน เป็นที่พูดถึง และสื่อไม่เคยละสายตา ในซีรีส์สารคดี เบคแฮมบอกว่า เหตุผลที่เขาทำสิ่งต่างๆ มากมายนอกเหนือจากการเป็นนักฟุตบอลในช่วงค้าแข้ง (ซึ่งแน่นอน เฟอร์กี้ไม่ปลื้ม) เพราะเขารู้ดีว่า อาชีพนักฟุตบอลมีวันหมดอายุ และคิดถึงงานที่จะรองรับชีวิตหลังแขวนสตั๊ด
การมาถึงของซีรีส์สารคดี BECKHAM ยิ่งตอกย้ำว่า เดวิด เบคแฮม เป็นมากกว่านักฟุตบอล และถึงตอนนี้โลกก็คงรู้แล้วว่าเขาเป็นอะไรมากกว่านั้น
ตลอดเวลา 4 ชั่วโมง 42 นาที ใน 4 EP. ของสารคดีเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้แฟนคลับรู้จัก เดวิด เบคแฮม มากขึ้นจากปากคำของเจ้าตัว ครอบครัว และผู้คนในชีวิตแล้ว ยังช่วยย้อนคืนวันอันแสนหวานกลับมาสู่สาวกแมนยูฯ ว่าในยุคสมัยหนึ่ง แมนยูฯ เคยยิ่งใหญ่ขนาดไหน และมีช่วงเวลาตื่นเต้นเร้าใจจนต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกฟุตบอลไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง
สำหรับแฟนแมนยูฯ คงรู้สึกคล้ายกันว่า “จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ”
