เคยสงสัยไหม ทำไมเจดีย์ โบสถ์ พระพุทธรูป หรือสัญลักษณ์ทางศาสนา ต้องมีสีทอง ใช้สีอื่นไม่ได้เหรอ?
ความจริงในสมัยโบราณ เจดีย์ หรือพระพุทธรูปในศาสนสถานสำคัญหลายแห่งไม่ได้มีสีทองทั้งหมด เว้นแต่พระพุทธรูปหรือพระธาตุเจดีย์นั้นมีเจตนาเริ่มแรกหล่อหรือสร้างขึ้นเป็นสีทอง หรือใช้ส่วนผสมสำคัญเป็นทองคำ
ยุคแรกของพระพุทธศาสนามีการใช้ทองสร้างวัดหรือเจดีย์ พระพุทธรูปเกิดขึ้นภายหลังด้วยอิทธิพลของโรมัน แต่ยุคแรกๆ ก็ไม่ได้เป็นทองไปทั้งหมด การใช้ ทองคำ หรือ สีทอง กับพระพุทธรูป พระเจีย์ ถือเป็นการบูชาด้วยของมีค่าสูง ให้เทียบเทียมกับพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สีทอง มีความหมายถึงความเคารพ ความอุดมสมบูรณ์ ความเฉียบแหลม และชัยชนะเหนือกิเลส ด้วยเหตุผลนี้ จึงใช้สีทองกับศรัทธาทางศาสนา
เจดีย์บรมบรรพต คือ เจดีย์ที่อยู่บนสุดของภูเขาทอง เป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้สีทองตอนแรก แต่มาเป็นสีทองตอนซ่อม และเมื่อใช้สีทองแล้วจึงต้องเป็นทองไปตลอด รวมถึงวัสดุที่ใช้ด้วย

ภูเขาทอง อยู่ที่วัดสระเกศ วัดเก่าสมัยอยุธยา ถูกบูรณะเป็นพระอารามสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นสถานที่ทรงสรงมุรธาภิเษก (สระผม) ก่อนจะปราบดาภิเษก
ภูเขาทองเกิดขึ้นภายหลังในรัชกาลที่ 3 ด้วยเจตนาให้เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ (ในตอนนั้น กำลังจะมีพระปรางค์วัดอรุณ) แต่ไอเดียไม่เป็นไปตามหวังเกิดพังลงมา เพราะชั้นดินที่อ่อนตัว ขนาดของภูเขาทองที่อยากให้ใหญ่กว่านี้จึงเหลือเท่าที่เห็น

พอสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 ได้พระบรมสารีริกธาตุมาจากศรีลังกาจึงทำเจดีย์บรรจุไว้ด้านบน ตอนแรกเจดีย์สีขาว ไม่ใช้สีทอง ต่อมามีการบูรณะใน พ.ศ.2509 และใช้โมเสกจากอิตาลีที่เหลือจากพระบรมมหาราชวัง เอามาหุ้มพระเจดีย์จึงกลายเป็นสีทองตั้งแต่นั้น พอใช้โมเสกสีทองไปแล้ว เมื่อถึง พ.ศ.2567 หรือปัจจุบันจะบูรณะอีกหน จึงต้องใช้โมเสกจากอิตาลีที่มาจากเมืองเวนิสอีกครั้ง

400 ตารางเมตร คือ พื้นที่ทั้งหมดที่ต้องเอาโมเสกอิตาลีขนาด 1 X 1 นิ้วมาติดให้เต็มองค์ ที่สำคัญคือต้องบูรณะองค์เจดีย์ให้แข็งแรง ความคืบหน้าของการบูรณะ ณ ตอนนี้ (13 มิถุนายน) คือทำไปแล้วประมาณ 20%
เรื่องการบูรณะเจดีย์ภูเขาทอง ทำให้เราเรียนรู้ใช้วัสดุสีทองกับศาสนสถาน เพราะแต่ละท้องถิ่นใช้ทองไม่เหมือนกัน เจดีย์ชเวดากองใช้ทองคำตีเป็นแผ่นหุ้ม คล้ายๆ ทางภาคเหนือที่รับอิทธิพลมาจากพม่า บางอาณาจักร ไม่ได้ใช้ทองคำทั้งหมด ใช้หุ้มแค่ปลียอดหรือส่วนยอดบนพระเจดีย์ และเจดีย์สีทองในวัดกรุงเทพฯ หลายองค์ มีสีทองแต่ไม่ได้ใช้โมเสก เจดีย์วัดบวรนิเวศ วัดโสมนัสวิหาร ทำด้วยเซรามิกสีทอง

การบูรณะด้วยสีทอง บางทีก็เป็นเรื่องไม่ควรทำ เช่น การใช้วัสดุอื่นแทน หรือทำโดยขาดความรู้ มีพระพุทธรูป และเจดีย์มากมาย ถูกซ่อมแซมโดยขาดความรู้ เอาสีทองทาทับ หารู้ไม่ว่า ได้ทำให้เกิดความชื้นสะสมในองค์พระและเจดีย์จนที่สุดแล้วเนื้อทองที่ทาทับจะหลุดและพังลง เป็นการทำลายไม่ใช่รักษา
มองสิ่งก่อสร้างจากศรัทธารอบตัวเรา เป็นบทเรียนสอนคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม
ความพยายามรักษาของเก่าด้วยความรัก แต่ไม่มีความรู้ ทำความเสียหายมานักต่อนักแล้ว