หลายครั้งที่ผ่านศาลเจ้าข้างท้องถนน ไม่ว่าจะเป็น ศาลตายาย ศาลพระพรหม หรือ ศาลเล็ก ศาลน้อยต่างๆ ในประเทศไทย เรามักจะเห็นของเส้นไหว้ เช่น ตุ๊กตา ช้าง ม้า ไก่ทอง เสือ แต่ที่ดูจะสะดุดตาเป็นพิเศษก็คงหนีไม่พ้น ‘ม้าลาย’ วันนี้มีอยู่สิบตัว ผ่านอีกที เอ๊ะ! ทำไมเพิ่มเป็นร้อยตัว อยู่กันเป็นฝูง มีตัวเล็กตัวใหญ่ประปรายกันไปราวกับทุ่งหญ้าซาวันนา แต่จริงๆแล้วม้าลายอยู่ที่แอฟริกาไม่ใช่หรือ? แล้วมาโผล่ที่ศาลเจ้าประเทศไทยได้ไง? หรือเหล่าทวยเทพเขาจะชื่นชอบม้าลาย? ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย วันนี้เรามาไขปริศนานี้ไปพร้อมกันเลย!


1. ‘เข้าใจไปโน้น...’ เรื่องเล่าสุดคลาสสิคเรื่องแรกคงหนีไม่พ้น ว่าครั้งหนึ่งมีชาวต่างชาติมาบนบานที่ศาลเจ้า โดยชาวต่างชาติคนนั้นถามคนไทยว่าต้องใช้อะไรในการบน และได้คำตอบมาคือ ‘มาลัย’ แต่ชาวต่างชาติกลับได้ยินเป็น ‘ม้าลาย’ จึงนำตุ๊กตาม้าลายหนึ่งฝูงมาเรียงถวาย คนผ่านไปผ่านมาจึงนึกว่าเทพเจ้าชอบม้าลาย สุดท้ายได้มีการนำมาถวายเรื่อยๆ จนกระจายแพร่หลายไปทั่วบ้านทั่วเมือง และหากว่ากันด้วยเรื่องของความเชื่อความศรัทธา หากมีผู้หนึ่งได้ริเริ่มขึ้นมักจะมีอีกหลายๆ คนทำตาม อาจไม่ได้มีเหตุผลอะไรเป็นรูปธรรม แต่เป็นดั่งที่พึ่งพาทางใจ

2. ‘สัญญะแห่งความปลอดภัย’ บ้างว่ากันว่า ม้าลายนั้นมาจากทางม้าลายซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยบนท้องถนน จึงมีคนเอาตุ๊กตาม้าลายไปถวายเทพเจ้าเพื่อเป็นตัวแทนความปลอดภัยแคล้วคลาด หลายครั้งที่เราผ่านศาลเจ้าแล้วเห็นรูปปั้นฝูงม้าลายทำให้รู้สึกชวนขนลุกถึงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ บางครั้งศาลเจ้าและฝูงม้าลายหลายร้อยตัวจึงกลายเป็นเครื่องเตือนใจให้เราใช้ท้องถนนอย่างระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน การวางม้าลายในบางจุดอาจทำให้บังทัศนียภาพได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมขับขี่บนท้องถนนอย่างมีสติ

3. ‘กระตุ้นยอดกันหน่อย’ บ้างก็ว่ารูปปั้นม้าลายเป็นกุศโลบายเพิ่มยอดขายของบริษัท รูปปั้นม้าลายจะขายง่ายและขายดีที่สุดเป็นรูปปั้นสัตว์ยอดนิยมตลอดกาล ลองลงมาเป็นรูปปั้น ช้าง ม้า เพื่อใช้บนศาลหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป ไก่ทอง ไก่เงิน ไก่ชน ใช้แก้บนศาลพระนเรศวร รูปปั้นเสือ ใช้แก้บนศาลเจ้าพ่อเสือ ส่วนยีราฟและนก มักใช้ในการบนบานให้ลูกหลานสอบติด หรือเรียนสูงๆ ดั่งคอของยีราฟและนกที่ชูสูงสง่านั่นเอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าขนาดหรือจำนวนของรูปปั้นที่นำมาบนนั้นมีผลต่อความขลัง ทำให้เราเห็นภาพรูปปั้นม้าลายจำนวนหลายร้อยตัว ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ตามปัจจัยและกำลังศรัทธาของผู้มาบนบาน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยกับความเชื่อแบบไทยไทย ดูมีเสน่ห์และชวนฉงนในเวลาเดียวกัน


ท้ายสุดนี้ไม่ว่าความจริงแล้วต้นกำเนิดรูปปั้นม้าลายจะมาจากไหน ก็แสดงให้เห็นว่าความเชื่อนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาเสมอไม่ว่าจะแห่งหนใด และยังเป็นพลังอันแรงกล้า ผลักดันให้มนุษย์ทำสิ่งต่างๆ หลายครั้งคนเรามักหาเหตุผลให้กับสิ่งที่เราเชื่อ แต่บางครั้งคนเราก็สามารถมีความเชื่อโดยไม่ต้องหาเหตุผล คงไม่ใช่เรื่องผิดที่คนๆ หนึ่งจะมีความเชื่อไว้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว หากไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ดั่งเรื่องม้าลายที่ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม น้องๆ นั้นยังคงตั้งตระหง่านรอให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้ตั้งคำถามปนความสงสัยกันต่อไป เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าฝูงม้ายลายเหล่านี้ ได้กลายเป็นส่วนนึงของสังคมไทยไปแล้ว
