การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่ตอนนี้อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร แรก ๆ เหมือนจะไม่มีอะไรยุ่งยาก ซับซ้อน ให้ปวดหัวใจ เพราะสส.ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องแก้ไขจากเสียงข้างมากสองชั้น ให้เหลือแค่ชั้นครึ่ง
เพื่อไม่ให้ต้องมา ‘ตกม้าตาย’ กันในตอนท้าย หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องมีผู้มาออกเสียงประชามติ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ และเสียงที่ผ่านความเห็นชอบต้องมีมากกว่าผู้ที่มาใช้สิทธิ อันเป็นที่มาของคำว่า
เสียงข้างมากสองชั้น!!
จึงได้นำไปสู่ความพร้อมใจกันของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในการนำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายประชามติต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีทั้งร่างของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ในขณะที่ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.) ก็มีจดหมายเปิดผนึกส่งไปถึงฝ่ายต่างๆ ขอมีส่วนร่วมในการการกำหนดหลักเกณฑ์ด้วย
ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 9 มาตรา ซึ่งได้พิจารณามาถึงมาตราที่ 5 และเหลืออีก 4 มาตรา ทุกอย่างก็จะเสร็จสิ้นนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2-3 ได้ และส่งให้วุฒิสภาไปดำเนินการต่อ เพื่อให้เสร็จทันตามกำหนด จะได้ทำประชามติตามปฏิทินที่วางไว้ในช่วงต้นปีหน้าได้
แต่เรื่องที่ว่าง่าย ๆ ดูเหมือนจะไม่งายอย่างที่คิด เมื่อการประชุมหนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องแขวนมาตรา 5 เอาไว้ก่อน เพราะมีการแตกความเห็นเรื่อง ‘เสียงข้างมาก’ ไปกันคนละทิศละทาง โดยร่างเดิมของรัฐบาล กำหนดเรื่องเสียงข้างมากไว้เพียงแค่ ให้มีมากกว่าเสียงไม่เห็นชอบ แต่ตอนหลังได้มีการถอดออก
จึงทำให้เหลือ 3 แนวทาง ที่จะต้องลงมติกันในสัปดาห์นี้ ได้แก่ แนวทางของพรรคก้าวไกล ที่ให้ยึดจำนวนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชั้นครึ่ง’ ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย ใช้คำว่า ต้องมีเสียงพอสมควรหรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ซึ่งเท่ากับไม่ได้แก้เลย
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้ส่งความเห็นขอแปรญัตติประเด็นเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ โดยขอให้ใช้เกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียง เพิ่มเติมจากเกณฑ์ผ่านประชามติที่ใช้ ‘เสียงข้างมาก’ เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ
เหมือนกับร่างพรรคเพื่อไทย ที่ให้ยึดเสียงข้างมากเหลือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเช่นกัน แต่ของภูมิใจไทย และกระทรวงมหาดไทย มีเรื่อง ‘เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง’ ของผู้ออกมาใช้สิทธิ เป็นเกณฑ์หลักอยู่ด้วย ไม่ได้มีเฉพาะ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้น
ส่วนภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เสนอให้ใช้เสียงอย่างน้อย 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 214 วรรคหก
นอกจากนั้น ในประเด็นกรอบเวลาของการออกเสียงประชามติ เดิมกำหนดไว้ที่ 90-120 วัน ก็มีทั้งการ ‘ขยับเข้า’ และ ‘ขยับออก’ เป็นไม่น้อยกว่า 60 วัน และไม่เกิน 150 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า จะได้ยืดหยุ่นให้ทำประชามติไปพร้อม ๆ กัน
ทีนี้กลับไปที่แนวทางว่าด้วยเสียงข้างมาก ตกลงจะยึดแนวทางไหนใน 3- 4 แนวทางข้างต้น ซึ่งแม้จะลงมติกันในสัปดาห์นี้แล้วก็ตาม แต่หากผลออกมาไม่เป็นไปตามร่างของพรรคภูมิใจไทย และหากภูมิใจไทยยังติดใจ อาจไปปรับแก้ในชั้นของวุฒิสภาอีกครั้ง
เพราะภูมิใจไทย ยังมี ‘สภาสีน้ำเงิน’ เป็นไพ่ใบสำคัญในมือ ที่พร้อมจะทิ้งเป็นไพ่ตายได้อีกครั้ง ใครจะเชื่อไม่เชื่อเรื่องดุลอำนาจใหม่ทางการเมืองที่อยู่ในมือพรรคสีน้ำเงิน ก็คงได้เห็นของจริงกันในคราวนี้แหล่ะ